เพลงผสมดราม่า แนวรุกใหม่ “อาร์เอส”

น่าจะเป็นทิศทาง และมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นสำหรับกลุ่มบริษัท อาร์เอส หลังจากที่ถูกตั้งคำถาม ข้อสังเกตมากมายว่าจะทิ้งธุรกิจเพลงไปแล้วหรืออย่างไร เพราะก่อนหน้านี้แนวทางต่างๆ ชวนให้คิดว่า อาร์เอสจะปรับเปลี่ยนโมเดลของธุรกิจใหม่ แต่สุดท้าย “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอาร์เอส จำกัด ก็ชี้แจงจุดยืนที่ชัดเจนขึ้น

“เป็นเรื่องที่คาใจมานานมาก ในส่วนของการทำธุรกิจมีเดีย คือหลายๆ คนเข้าใจธุรกิจนี้ในบางไม่ดีพอในบางแง่มุม และตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย เราต้องมองให้ตรงกับความจริง ยุคนี้ธุรกิจดิจิตอลคือโอกาสทองที่รออยู่”

เขาบอกถึงความใปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของธุรกิจเพลงของบ้านเรา หลังจากที่เริ่มต้นธุรกิจเพลงเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาจนถึงวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปีหลังนี้ชัดเจนที่สุดว่า ค่ายเพลงจะบริหารและปรับตัวอย่างไร ซึ่งในส่วนของอาร์เอสเองก็ปรับตัวอย่างรุนแรงเช่นกัน

มาถึงจุดนี้อาร์เอสก็เริ่มโฟกัส สิ่งที่ใช่ และสิ่งที่ต้องทำได้แล้ว

สุรชัย บอกว่า ปีนี้ 2 ธุรกิจหลักที่เป็นทัพหลักของกลุ่มอาร์เอส คือ ธุรกิจเพลงและธุรกิจสื่อ โดยมีแนวทางว่า ผนวกรวมคอนเทนต์บันเทิงกับสื่อทุกประเภทที่มีอยู่ในมือเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพื่อส่งต่อนโยบายให้กับธุรกิจย่อยในเครืออาร์เอส แต่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทแม่อย่างเคร่งครัด

เขาอธิบายถึงธุรกิจเพลงว่า จากนี้ไปจะเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัว (Fully Digital Music) โดยอาร์เอสจะควบรวมฐานลูกค้าในส่วนของ Mobil และ Online เข้าไว้ด้วยกันเพราะว่าเป็นฐานลูกค้าเดียวกัน

“เพลงส่วนที่เป็นดิจิตอลอยู่ในสัดส่วน 80% ปีที่ผ่านมามีคนใช้บริการดาวน์โหลดถึง 5 ล้านคน มียอดดาวน์โหลดประมาณ 60 ล้านดาวน์โหลด สร้างรายได้กว่า 600ล้านบาท ส่วนเพลงที่เป็นแผ่นซีดีจะเหลือประมาณ 20% ”

ต่อไปเพลงในค่ายอาร์เอส ก็ถูกนำเสนอไปในแพลตฟอร์มของการดาวน์โหลดทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่เพลงลูกทุ่งตลาดหลักของวงการเพลงในช่วงนี้ เห็นมั้ยว่าเพลงลุกทุ่งตอนนี้เขาพัฒนาไปไกลแล้วโดยเฉพาะคนฟังเพลง

การขายเพลงออนไลน์แบบนี้ สุรรชัยไม่ได้หมายความว่าจะออกมาให้ดาวน์โหลดแบบไร้การควบคุม หรือหว่านไปทั่ว เพราะข้อจำกัดของเรื่องสื่อที่ไม่ได้มีมากเหมือนเช่นเดิม จึงต้องเลือกช่องทางที่ถูกต้อง และเหมาะสม สิ่งที่อาร์เอสหยิบมาใช้ก็คือ โปรแกรมประเมินเพลงฮิตหรือ TDA เพื่อจะได้รูว่าเพลงฮิตที่ว่านี้ ฮิตมาจากช่องทางไหน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือออนไลน์ จะได้เร่งทำตลาดได้ถูกทาง

ส่วนอีกธุรกิจหนึ่งที่อาร์เอสหมายมั่นปั้นมือก็คือ ธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียม เพราะขณะนี้อาร์เอสมีโทรทัศน์ดาวเทียมแล้ว 2 ช่องคือ ช่องสบายดี และ YOU Channel ซึ่งเฮียฮ้อประกาศชัดว่าเป็นสถานีอันหนึ่งของวงการเพลงในเวลานี้

ช่องใหม่ที่อาร์เอสวางเป้าหมายไว้คือ ช่อง 8 อินฟินิตี้ มีสโลแกนของว่า ความสุขไม่รู้จบ

“ช่อง 8 เป็นช่องละคร แต่ไม่ใช่การนำละครเก่ามีฉายใหม่ เราจะผลิตขึ้นมาให้ทั้งละคร ซีรี่ส์ ทุกประเภทโดยอาร์เอส และผู้จัดละครค่ายต่างๆ ที่เสนอเข้ามา แต่ทั้งหมดจะกำหนดไว้ว่า ลงมือทำละครเมื่อมีผู้สนับสนุน หรือคุยกับสปอนเซอร์เรียบร้อยแล้ว ไม่เช่นนั้นก็ไม่ทำ”

ช่องดราม่าของอาร์เอสนี้ใช้เงินลงทุนปีแรก 50 ล้านบาท ขณะนี้เริ่มทดลองออกอากาศแล้ว และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนอีก 2 ช่องจะเปิดตัวได้ประมาณกลางปี ใช้เงินลงทุนทั้ง 2 ช่อง 50 ล้านบาท

การเข้าสู่โทรทัศน์ดาวเทียมอย่างเต็มรูปแบบเพราะว่า ผู้ชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมขยายตัวขึ้นทุกวัน จนเลยข่ามเส้นแบ่งระหว่างฟรีทีวีกับโทรทัศน์ดาวเทียมไปหมดแล้ว เพราะทีวีดาวเทียมก็คือฟรีทีวีในที่สุด

หลังจากนี้ไปเขาเชื่อว่า การทำโทรทัศน์ดาวเทียมนั้น รายใหญ่จะค่อยๆ เบียดรายเล็กที่ไม่มีทุน หรือไม่สามารถหาผู้สนับสนุนรายการได้ และสุดท้ายก็จะเหลือแต่ผู้ผลิตที่มีเนื้อหาอยู่ในมือเท่านั้น

ดราม่าก็คือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเสพอยู่ตลอดเวลา

อะไรคือ FIRST
กลยุทธ์ใหม่ปี 2554 ของอาร์เอส มีความหมายว่า
F – FIT คือกระชับ เหมาะสม พอดี คุ้มค่า
I – INNOVATION คือความคิดในเชิงนวตกรรม การสร้างสรรค์
R – R&D คือ การใช้ข้อมูลข่าวสารวิเคราะห์การทำงาน
S – SPEED คือ ความรวดเร็ว ความยึดหยุ่น
T – TEAM การทำงานเป็นทีม ประสานความสัมพันธ์ของพนักงาน