เมื่อ ‘T-Pop’ ถูกชุบชีวิตโดยเทรนด์ ‘วิดีโอสั้น’ สู่โอกาสของแบรนด์ที่จะโกย ‘Fandom’ มาเป็นลูกค้า

ในยุคที่ศิลปิน T-Pop ไทยกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง สังเกตได้จาก ด้อม (Fandom) หรือ แฟนคลับ ศิลปินต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นเต็มไปหมด และนี่ได้กลายเป็น โอกาสสำคัญ ของ แบรนด์ ที่จะเปลี่ยนให้แฟนด้อมที่ขึ้นชื่อว่า พร้อมเปย์ เปลี่ยนให้มาเป็นลูกค้าของแบรนด์

เพลงกิจกรรมพักผ่อนที่นิยมมากกว่าการดูหนังหรือซีรีส์

มายด์แชร์ เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาด และการสื่อสาร ในเครือ กรุ๊ปเอ็ม เปิดเผยว่า จากข้อมูลโดยนีลเส็นพบว่า เมื่อเทียบกันกับกิจกรรมพักผ่อนต่าง ๆ คนไทยนิยมการ ฟังเพลง มากกว่าการดูภาพยนต์หรือซีรีส์ 3.4 เท่า และมากกว่าการเล่นเกม 2.8 เท่า

นอกจากนี้ หากประเมินถึงมูลค่าตลาดเพลงในไทย โดยอ้างอิงจาก 2 ค่ายใหญ่อย่าง RS และ GMM แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปีที่ผ่านมา GMM Music มีรายได้จากเพลง 3,043 ล้านบาท และปีนี้คาดว่ารายได้จากเพลงเติบโต +25% เฉพาะครึ่งปีแรกมีรายได้จากเพลง 1,713 ล้านบาท เติบโต +54% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

ส่วน RS ที่ประกาศว่าจะกลับมาโฟกัสธุรกิจเพลงอีกครั้งในปีนี้ บริษัทก็ประเมินว่าจะมีรายได้จากเพลงที่ 720 ล้านบาท และคาดการณ์เติบโตเฉลี่ย +30% สร้างรายได้ 1,200 ล้านบาทใน 3 ปีจากนี้

วิดีโอสั้น ปัจจัยสำคัญคืนชีพ T-Pop

ปัจจุบัน กลุ่มผู้บริโภคที่ใช้ #T-Pop มีทั้งศิลปิน และคนฟังเพลงไทย แต่เจาะลึกช่วงอายุ กลุ่มที่อายุระหว่าง 18-24 ปี สัดส่วนมากสุด 56% ตามด้วยอายุ 25-34 ปี สัดส่วน 31% และอายุ 35 ปีขึ้นไป สัดส่วน 13% ปัจจุบัน T-Pop ไทยอยู่ใน ยุค The Expression เป็นยุคที่มีลักษณะเฉพาะที่ต่างออกไป แสดงตัวตนได้ชัดเจนผ่านผลงานแต่ละด้านไม่ว่าจะเป็น เพลง งานแสดง และมีการร่วมมือกับศิลปินระดับนานาชาติ ในยุคนี้ศิลปินอิสระแจ้งเกิดและได้รับการยอมรับมากขึ้น และความหลากหลายทางเพศมากขึ้นอย่างกลุ่ม LGBTQ+

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการกระจายข่าวสารและการสร้างความสนใจในยุคนี้ โดยเฉพาะ วิดีโอสั้น โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาในแพลตฟอร์ม TikTok มี #T-Pop เติบโตขึ้น 3 เท่าโดยที่มีการใช้งานใน global 2 พันล้านครั้ง นับเป็นของไทย 1 พันล้านครั้ง รวมไปถึงการที่ความนิยมของแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น อย่างเช่น Facebook Watch, Instagram Reels, และ TikTok ได้ช่วยให้เกิด emotional connection และเพิ่มการเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างมากขึ้น

นอกจากนี้ การมีเวทีการแข่งขัน ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีความรู้สึกร่วมไปกับศิลปิน การมีพื้นที่สาธารณะที่ให้เยาวชนได้แสดงออก ถึงความสนใจในดนตรี เช่น พื้นที่ตรงสยามสแควร์ เป็นต้น การใช้เพลงในซีรีส์ ที่นับว่าเป็นสื่อในการเชื่อมแฟนซีรีส์ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ และ การเกิดขึ้นของค่ายเพลงใหม่ ๆ ที่ทำให้ผู้ฟังมีตัวเลือกในการฟังมากขึ้น

TikTok ช่วยสร้างให้เป็นกระแส และทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วม ผ่านการเต้นชาเลนจ์ และแพลตฟอร์มสามารถใช้เพลงในการมาทำคอนเทนต์ได้ฟรี ให้เกิดเป็น User Generated Content” อริสรา รัตนโชติวิวัฒน์ ผู้จัดการการวางแผนกลยุทธ์บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากสังคมไทยที่จะยังทำให้กระแสของเพลงไทยยังเติบโตไปได้ เช่น ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของ K-Pop และ J-Pop ในระดับโลก ได้สร้างความสนใจที่มากขึ้นในด้านเพลงเอเชียรวมถึงส่งผลให้ T-Pop ได้โอกาสและได้รับการยอมรับ

การสร้าง Cultural Appeal กับผู้ฟังผ่านประสบการณ์ที่ใกล้ชิดและความรู้สึกที่เข้าใจได้ เช่นการแต่งและปล่อยเพลงที่เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงนั้น ๆ และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลง เช่น Apple Music, Spotify, และ Joox ได้ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและหลากหลายในการเข้าถึงเพลง T–Pop ให้ได้ราคาที่เหมาะสมและความหลากหลาย

แบรนด์จะเปลี่ยนแฟนด้อมให้มาเป็นลูกค้าอย่างไร

การใช้ T-Pop ในการทำการสื่อสารการตลาด เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และผลลัพธ์ในวงกว้าง รวมไปถึงการใช้เพลงไทยเป็นสื่อกลางในการขับเคลื่อนเทรนด์ในยุคปัจจุบัน ที่ออกมาในรูปแบบของ

  • สปอนเซอร์ชิป (sponsorship) : เป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ ที่ เชื่อมต่อกับผู้บริโภคผ่านทางการมาเป็นผู้สนับสนุน ให้กับคอนเสิร์ตต่าง ๆ หรือรายการเพลง เป็นต้น
  • โปรดักต์เพลสเมนต์ (product placement) : เป็นโอกาสให้กับแบรนด์ด้านความคิดสร้างสรรค์ลงไปในการสร้างการรับรู้บนพื้นที่ที่คนดูมีสามารถมีอารมณ์ร่วม หรือบนพื้นที่ ๆ ที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะได้เห็นโฆษณา

  • มิวสิคมาร์เก็ตติ้ง (music marketing) : สามารถใช้มิวสิคมาร์เก็ตติ้งเข้ามาช่วย แสดงให้เห็นถึงคาแรกเตอร์ของแบรนด์ หรือเป็นการปรับแบรนด์ดิ้งใหม่ให้ดูเด็กขึ้น ทันสมัยขึ้น
  • สินค้า/ผลิตภัณฑ์ (merchandise) : เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดในรูปแบบหนึ่งให้กับแบรนด์
  • Fan-Driven Marketing : ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ แคมเปญ Lotus’s Anniversary 2023 “The Golden Moment” PARK SEO JUN Meet & Greet in Bangkok ฟินไม่พักกับพัคซอจุน ที่ให้ Top spender ได้ Meet & Greet กับ พัคซอจุน (Park Seo Joon) ซึ่งยอดเปย์ของอันดับ 1 ก็ทะลุ 71 ล้านบาทไปแล้ว

ความท้าทายเดียวจะใช้ศิลปินอย่างไรให้คนจดจำ

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าศิลปินที่ได้รับความนิยมย่อมมีหลายแบรนด์ต้องการคว้าตัวมาร่วมงาน ดังนั้น ความท้าทายของแบรนด์ที่จะใช้งานศิลปิน T-Pop ก็คือ สร้างความแตกต่างและโดดเด่น เพราะศิลปินหลายคนเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับหลายแบรนด์ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถจดจำแบรนด์ได้

“แม้ศิลปินไทยจะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ถ้าเทียบกับ K-Pop ที่ถือเป็น Next Level โดยเฉพาะความครีเอต นอกจากนี้ K-Pop ยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มีพื้นที่ช่วยโปรโมต ซึ่งหากมีนโยบายจากภาครัฐในการผลักดันไทยได้เป็นศูนย์กลางทางดนตรีและคอนเสิร์ตจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล”  อริสรา ทิ้งท้าย