กรุงศรีฯ ยุคนี้ต้องหนุ่มขึ้น

“คุณชอบหรือเปล่า” มาร์ค อาร์โนลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถามพร้อมกับชี้ชวนให้ดูจอแอลซีดีที่มีโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางการเงินของกรุงศรีฯ อยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์พนักงานในสาขากรุงศรีฯ รูปโฉมใหม่ ที่ถือโอกาสมาโชว์ระหว่างแถลงข่าวเรื่องผลประกอบการของปี 2553 ที่เคาน์เตอร์สามารถขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินของกรุงศรีฯที่มีอยู่ประมาณ 50 ผลิตภัณฑ์ได้

“มาร์ค” ยังนำชมดีไซน์ใหม่ของ”ออโต้แบงก์กิ้ง” ซึ่งเป็นจุดบริการอัตโนมัติ ตั้งแต่ตู้เอทีเอ็ม อัพเดตสมุดบัญชี ฝากถอนเงินสด จากปกติจะเป็นสีเหลืองจ้า ไฟสว่างจนแสบตาในเวลากลางคืน เป็นสีเหลืองที่เข้มกว่าเดิม และมีสีเทามาเบรกเพื่อทำให้เหลืองเด่น ที่ปรับแล้ว 51 สาขาและกำลังดำเนินการอีก 66 สาขา ซึ่ง ”มาร์ค” บอกว่าคอนเซ็ปต์นี้จะทำให้กรุงศรีฯดูหนุ่มขึ้น

หนุ่มขึ้น แบรนด์แข็งแรงขึ้น ภายใต้แนวคิด ”One Krungsri” หลังจากที่เคยสื่อสารด้วย “One Bay” เมื่อปี 2553 (Bay ชื่อย่อที่เป็นรหัสในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่พร้อมสำหรับลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ หลังจากปี 2552-2553 จีอีในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของกรุงศรีฯ เร่งเกมเติบโตด้วยการเทกโอเวอร์หลายธุรกิจตั้งแต่บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เงินด่วนสี่ล้อ สองล้อ และประกันชีวิต คือองค์ประกอบที่ ”มาร์ค” มั่นใจว่าจะทำให้กรุงศรีฯเติบโตในปี 2554 อย่างแน่นอน

“ซูดาร์โก ฮาร์โซโน่” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการตลาด กรุงศรีฯ หวังดึงความสนในของลูกค้าให้ซื้อผลิตภัณฑ์เพิ่ม ไม่ใช่มาแบงก์เพื่อเปิดบัญชี ฝาก ถอน เท่านั้น ด้วยเป้าหมายทำให้ลูกค้าใช้บริการเพิ่มจากแค่ 2 ผลิตภัณฑ์ ในปัจจุบันเป็นอย่างน้อย 3-4 ผลิตภัณฑ์ในปี 2013

นอกจากนี้ยังบริการเร็วขึ้นด้วยเทคโนโลยี ที่ ”ซูดาร์โก” บอกว่า เพียงยื่นบัตรประชาชนไม่ต้องกรอกเอกสาร และใช้เวลาสั้นลงเฉลี่ยไม่เกิน 5 นาทีในการเปิดบัญชีใหม่ จากเดิมใช้เวลาประมาณ 10-15นาทีแม้จะไม่ใช่ธนาคารแรกที่ทำได้ แต่ก็เป็นขยับที่สำคัญของกรุงศรีฯ เพราะเมื่อบริการหลักทำได้เร็ว ก็มีเวลา Cross sell ได้เพิ่ม

”ซูดาร์โก” บอกว่ากรุงศรีฯสร้างแบรนด์จนลูกค้าจดจำได้อย่างดี และนับจากนี้จะสังเกตได้ว่าทีวีซี และสื่อโฆษณาในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทุกชิ้นนับจากนี้จะมีโลโก้ของกรุงศรีฯ ปิดท้ายเพื่อทำให้ลูกค้ารับรู้ว่าสามารถใช้บริการผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในเครือที่สาขาของกรุงศรีฯได้

ความพร้อมนี้มาจากการลงทุนสร้างแบรนด์ และเทคโนโลยีในปี 2553 ประมาณ 1,000 ล้านบาท และในปี 2554 จะใช้งบเพิ่มขึ้นอีก 25-30% เพื่อนำไปสู่เป้าหมายธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบหลังจากที่ TNS สำรวจแล้วพบว่าลูกค้ารู้จัก(Brand Awareness) แล้ว 100%

หลังจากเติบโตก้าวกระโดดด้วยกำไรที่เพิ่มขึ้นถึง 32% เพราะผลจากการเทกโอเวอร์หลายธุรกิจในปีที่ผ่านมา ในปี 2554 สำหรับกรุงศรีฯ จึงกำลังรอว่าพลังของแบรนด์จะส่งไปถึงการขายได้ตามเป้าหมายที่หวังหรือไม่

มูลค่าสินเชื่อและสัดส่วนสินเชื่อในกลุ่มรีเทลของกรุงศรีฯ ปี 2553
สินเชื่อรถยนต์ 1.26 แสนล้านบาท 45%
สินเชื่อบ้าน 8 หมื่นล้านบาท 30%
สินเชื่อส่วนบุคคล เครดิตการ์ด 7 หมื่นล้านบาท 25%
ที่มา : กรุงศรีฯ