ประชาวิวัฒน์ ‘A Me Too’ Political Campaig

ประชาวิวัฒน์ กับของขวัญ 9 ชิ้นที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศเป็นวาระเร่งด่วนมอบให้กับประชาชนคนไทยไปเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา กำลังเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ถือเป็นกรณีศึกษาของ Political Marketing ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังเดินตามรอยนโยบายประชานิยมของทักษิณ ชินวัตร อย่างปฏิเสธได้ยาก เบื้องหลังการออก Me Too Political Campaign ครั้งนี้ มีฐานเสียงประชาชนระดับฐานราก 4 กลุ่ม ใหญ่ เป็นเดิมพัน ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ ใช้กลไกของรัฐ ยอมแลกกับภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นในอนาคต หวังจะช่วงชิงฐานคะแนนเสียงจากคู่แข่งทางการเมือง เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า

การเมืองที่ใช้การตลาดนำหน้า เหมือนกับภาคธุรกิจที่นำกลไกลการตลาดมาใช้ เพื่อให้สินค้าออกขาย ได้รับกำไรสูงสุดจากการขายสินค้า แต่เป้าหมายทางการเมือง คือ การออกแคมเปญโปรโมตสินค้าทางการเมืองมีเป้าหมายอยู่ที่คะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง

โดยอาศัยกลไกต่างๆ การจัดสรรงบประมาณ การหาแหล่งเงินทุนผ่านสถาบันการเงินของรัฐ และการดึงหน่วยงานต่างๆ มาเป็นแนวร่วมเพื่อเป็นช่องทางขายสินค้าทางการเมืองไปยังลูกค้า หรือประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

กลยุทธ์การตลาดของ Political Marketing นั้น จึงไม่แตกต่างจากการวางกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจตลาดหาความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย การกำหนดตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) และการวางยุทธศาสตร์การตลาด ( Marketing Strategies) การกำหนดกลยุทธ์การสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ (Communication Strategies) เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคมาซื้อสินค้า ถ้าเป็นการเมือง ก็เพื่อประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมาลงคะแนนเสียง นั่นคือเป้าหมายสูงสุด

การที่รัฐบาลประชาธิปัตย์กล้านำนโยบายเดียวกับประชานิยมของคู่แข่ง ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ก็โจมตีมาตลอดว่าทำเพื่อหาเสียง เพราะประเมินแล้วว่ามีภาษีดีกว่าพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างเพื่อไทย ตัวของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สะสมต้นทุนทางสังคมไว้มากมาย ทั้งบุคลิกรูปร่างหน้าตา มีดีกรีนักเรียนนอก จบจากมหาวิทยาลัยชั้นดีของอังกฤษ มีแม่ยกคอยเชียร์ตามเชียร์อยู่มากมาย

แต่ความสุ่มเสี่ยงที่ถูกมองว่า เดินตามรอยประชานิยม พรรคประชาธิปัตย์ โดยกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โต้โผใหญ่ของนโยบายนี้ ได้ว่าจ้างบริษัทแมคคินซี่ย์ มาเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายในการจัดทำโครงการนี้ จากนั้นก็มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ 30 แห่ง ร่วมระดมความคิดใน “ค่าย” ใช้เวลา 5 สัปดาห์ โดยมีแมคคินซี่ย์เป็นพี่เลี้ยง จนคลอดออกมาเป็นแผนประชาวิวัฒน์ ถ้าเป็นภาษาการตลาดถือเป็นการสร้าง Story Telling เพื่อให้มีที่มาที่ไป บอกเล่าได้ว่าเป็นนโยบายที่คิดมาจากการระดมสมองของหน่วยงานรัฐ

เหมือนอย่างที่ กรณ์ พยายามบอกกับสื่อมวลชนมาตลอดว่า ประชาวิวัฒน์แตกต่างจากประชานิยม ในขณะที่ประชานิยมเป็นนโยบายมาจากรัฐ แต่ประชาวิวัฒน์เป็นกระบวนการวิธีการบริหารแบบใหม่เพื่อตอบโจทย์ของประชาชน ที่นักการเมืองเป็นคนตั้งโจทย์ และให้ฝ่ายข้าราชการ ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาคิดค้นวิธีการตอบโจทย์ มาตรการหรือนโยบายที่ออกมาจึงมิได้เป็นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองเป็นคนคิดค้นแต่อย่างใด ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างหากเป็นผู้กระทำ

ประชาวิวัฒน์ในความหมายของกรณ์จึงเป็นวิวัฒนาการของประชาชน มิได้เป็นนโยบายจากฝ่ายการเมืองเพื่อเป้าหมายคะแนนเสียงที่ไม่มีความยั่งยืน และขาดความรับผิดชอบในด้านการเงินของประเทศโดยงบประมาณดังเช่นประชานิยมแต่อย่างใด

การปล่อยสินเชื่อให้กับแท็กซี่ในโครงการประชาวิวัฒน์ มีความยั่งยืนกว่า ไม่เหมือนกับแท็กซี่เอื้ออาทรก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าประชาวิวัฒน์ ที่ทีมงานสู้อุตส่าห์นำสโลแกน “คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ” มาใช้ในวันแถลงข่าว ดูเหมือนว่าไม่ได้ช่วยให้นักวิชาการด้านการเมือง เศรษฐกิจ ต่างก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า เนื้อในประชาวิวัฒน์ไม่ได้แตกต่างประชานิยมเลย เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเท่านั้น

“ประชาวิวัฒน์ ก็คือประชานิยม เพียงแต่รัฐบาลไม่กล้าใช้คำว่านโยบายประชานิยมตรงๆ เพราะเคยโจมตีประชานิยมของ ดร.ทักษิณ อย่างรุนแรงมาตลอดว่าประชานิยมเป็นการซื้อเสียง รัฐบาลจึงต้องการเลี่ยงคำเหล่านี้ และคิดคำว่าประชาวิวัฒน์ขึ้นมาแทน แต่จริงๆ แล้วเนื้อหา ไส้ใน วัตถุประสงค์ก็คือแนวทางประชานิยม เพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น” บุญส่ง ชเลธร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัฐสวัสดิการ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในสวีเดน 30 ปี ให้ความเห็นกับ POSITIONING

เขาตั้งข้อสังเกตว่า นายกฯ อภิสิทธิ์เคยประกาศโยบายรัฐสวัสดิการมาตลอด ตั้งแต่สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลใหม่ๆ แต่แล้วก็เปลี่ยนมาใช้คำว่าสวัสดิการสังคม และในที่สุดก็หันมาประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์ แม้ว่าทุกนโยบายต้องการทำเพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่แตกต่างกันที่วิธีการและเป้าหมาย

อาจารย์บุญส่งมองว่า รัฐสวัสดิการ เป็นแนวนโยบายที่สามารถช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต เป็นการวางรากฐานการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นในระยะยาว แต่ไม่เห็นผลทันที ต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี เพราะต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ มีการปรับโครงสร้างภาษีรายได้

“ผมไม่ได้บอกว่า รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องสำเร็จรูป บางประเทศใช้เวลา 50 ปี ถึง 100 ปี แต่เขาก็ทำได้เหมือนกับสร้างบ้าน เริ่มจากปักดิน ก่อเสา ทำหลังคา ทำฝ้า ซึ่งต้องใช้เวลา”

ในขณะประชาวิวัฒน์นั้น เป็นนโยบายที่หวังผลทางการเมืองอย่างชัดเจน เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาความเหลือมล้ำทางสังคม แต่ทำไมรัฐบาลอภิสิทธิ์ถึงเฉพาะเจาะจงช่วยเหลือประชนชนฐานราก 4 กลุ่มแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หาบเร่แผงลอย คนประกอบอาชีพทำงานกลางคืน ทำไมถึงไม่ช่วยเหลือกลุ่มคนอื่นๆ เช่น กลุ่มเกษตรกร ครู ตำรวจ ข้าราชการชั้นผู้น้อย

หากไม่เป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์รู้ดีว่ากลุ่มคนดังกล่าว เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่อาจมีขึ้นในอีกไม่ช้า เพราะอาจมีการยุบสภาเกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด และฐานเสียงส่วนใหญ่ของประชาธิปัตย์เป็นกลุ่มคนชั้นกลาง ยังเข้าไม่ถึงกลุ่มคนในระดับฐานราก ซึ่งเป็นจุดอ่อนพรรคประชาธิปัตย์ เคยรู้พิษสงดี จากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ ที่กลุ่มกลุ่มแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญ หากพรรคประชาธิปัตย์ซื้อใจคนกลุ่มนี้ได้ เท่ากับว่า โอกาสชนะการเลือกตั้งครั้งหน้าย่อมมีสูง เหมือนอย่างที่คู่แข่งคืออดีตนายกฯทักษิณใช้นโยบายประชานิยมกวาดฐานเสียงคนกลุ่มนี้อย่างสัมฤทธิ์ผลมาแล้ว

“สมัยก่อนคนก็ไม่รู้จักทักษิณ ไม่รู้จักพรรคไทยรักไทย แต่เพราะนโยบายประชานิยม ทำให้ทักษิณชนะการเลือกตั้งได้ถึง 2 ครั้ง” อาจารย์บุญส่งให้ความเห็น

สินค้าทางการเมืองผ่านนโยบายประชาวิวัฒน์ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงมุ่งไปที่การตอบโจทย์ Demand หรือความต้องการกลุ่มเป้าหมายในระดับฐานราก และการจะได้ใจคนเหล่านี้ ก็ต้องทำให้เขามีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าหายจน นโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยราคาถูก โดยอาศัยสถาบันการเงินของรัฐเป็นกลไกในการปล่อยสินเชื่อ จึงเป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการได้ทันทีทันใด ไม่ต้องอาศัยเวลา ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของนโยบายประชานิยม ที่มุ่งหวังเรื่องของการสร้างคะแนนเสียง

“รัฐบาลคิดจากโจทย์ว่า ทำยังไงให้คนรู้สึกว่าหายจน ก็ต้องการให้คนกลุ่มนี้มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ปกติแท็กซี่เคยต้องจ่ายค่าเช่ารถ 800 บาทต่อวัน ก็ต้องให้แท็กซี่กู้เงินซื้อรถเอง คิดดอกเบี้ยต่ำๆ โดยให้สถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน มาเป็นกลไกปล่อยกู้ เก็บดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 1% ยืดเวลาผ่อนส่งจาก 30 ปี เป็น 60 ปี ซึ่งก็คำนวณมาแล้ว ผ่อนวันละ 400 บาท เท่ากับว่า แท็กซี่มีเงินเหลือในกระเป๋า 400 บาท”

ประชาวิวัฒน์ จึงเป็นสินค้าการเมือง ที่มีเป้าหมายไม่ต่างจากจากแท็กซี่เอื้ออาทร หนึ่งประชานิยมของทักษิณ ซึ่งเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ โดยอาศัยกลไกภาครัฐในการปล่อยกู้ เพื่อหวังผลทางการเมือง หาใช่การแก้ปัญหาให้คนปลอดหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหารากฐานอย่างแท้จริง และยังมีผลเสียตามมาจากการนำสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย ออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปแทรกแซงกลไกดังกล่าว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียจากนโยบายของรัฐบาล

เหมือนอย่างที่บทความของ ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย ในหนังสือพิมพ์ เอสเอสทีวีผู้จัดการรายวัน ระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์พยายามจะตีตนออกห่างจากนโยบายประชานิยมด้วยประชาวิวัฒน์ จึงเป็นการ “สวมตอ” ประชานิยมเพื่อเอาชนะสิ่งที่ทักษิณได้เคยเสนอต่อสังคมไทยเพื่อเป้าหมายคะแนนเสียง แต่ขาดความยั่งยืน และขาดความรับผิดชอบในด้านการเงินของประเทศ เพราะการที่รัฐบาลเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจด้วยการเข้ามาแทรกแซงโดยไม่มีเหตุจำเป็นเป็นเครื่องชี้ที่ดี มิใช่เรื่องใช้เงินงบประมาณมากหรือน้อยหากแต่เป็นเรื่องรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำหน้าที่เกินความจำเป็น

ไม่ว่าจะเป็นประชานิยม หรือประชาวิวัฒน์ ต่างก็เป็นการแทรกแซงกลไกตลาดของรัฐบาลโดยให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อเสียเอง หากเป็นโครงการที่ดีไม่เสี่ยงและมีกำไรพอควร สถาบันการเงินของเอกชนก็คงทำไปแล้ว แต่ที่ไม่ทำก็มีเหตุผลในตัวของมันเองว่าเสี่ยงไม่คุ้ม เช่นเดียวกับโครงการปล่อยสินเชื่อให้รายย่อยทั้งหลายหรือ Micro Finance เช่น กองทุนหมู่บ้าน ที่สถาบันการเงินเอกชนไม่ทำเพราะต้นทุนการดำเนินงานสูง มิใช่เป็นการคิดใหม่ทำใหม่ของประชานิยมหรือประชาชนคิด-รัฐสนองของประชาวิวัฒน์แต่อย่างใด หากแต่เป็นการคิดนอกคอกต่างหาก

ประสบการณ์ที่ผ่านมาของอาร์เจนตินาและประเทศในละตินอเมริกา หรือประเทศในกลุ่มยูโร เช่น กรีซ หรือไอร์แลนด์ ก็เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ดีมิใช่หรือว่า การไม่จำกัดบทบาทด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในการเอาใจประชาชนจะก่อให้เกิดผลร้ายกับประเทศขนาดไหน มันมิได้เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันทีทันใด หากแต่จะเป็นเช่นก้อนหิมะหรือ Snow Ball ที่เมื่อเวลาผ่านไปปัญหาจะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนหยุดยั้งได้ยาก