คู่มือขายไข่ไก่เป็นกิโลฯ

หนึ่งในนโยบาย 9 ข้อตามแนวทางประชาวิวัฒน์ คือการขายไข่ไก่เป็นกิโลกรัม ที่ได่รับการกล่าวถึง พูดถึง และถกเถียงกันมากที่สุด และเป็นนโยบายร้อนแห่งปีทีเดียว เพราะเป็นการแก้ปัญหาอีกแนวทางหนึ่งที่ต่างไปจากเดิม

รัฐบาลก็ชี้แตจงแล้วว่า เป็นเพียงทางเลือกให้กับประชาชน หากต้องการซื้อเป็นใบแบบเดิมก็มีอยู่ หรือจะซื้อเป็นกิโลกรัมก็ตามใจ แล้วค่อยมาตัดสินใจว่าชอบแบบไหน ไม่ต้องรีบร้อนค่อยๆ ซื้อเปรียบเทียบไป

ทำให้ราคาขายไข่ไก่ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ราคากิโลกรัมละ 52 บาท ในวันที่เริ่มขายไข่ไก่เป็นกิโลกรัม วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

การอธิบายความของการไข่ไก่เป็นกิโลกรัมจากกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความสับสนกับผู้ซื้ออย่างมาก ไม่มีใครให้ข้อมูลได้ว่า การขายระบบนี้ดีอย่างไร

อธิบายแต่เรื่อง ดีมานด์ ซัพพลาย จนมีคนสงสัยว่าดีมานด์ กับซัพพลาย ขายใบละเท่าไหร่ไปแล้ว

เคยฟังนักการการตลาดอธิบายเรื่องกลยุทธ์ด้านการตลาดมาหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องแบรนด์ ตัวสินค้า ผู้บริโภค การแข่งขัน แบบเชิงวิชาการมามาก

หากนักการตลาดต้องอธิบายการขายไข่ไก่เป็นกิโลกรัม จะต้องพูดอะไร และฟังเข้าใจหรือไม่ ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ นักกลยุทธ์การตลาด อธิบายเรื่องขายไข่ไก่เป็นกิโลกรัมในภาษานักการตลาดให้ได้รู้กัน

เขาบอกว่า ในการเลี้ยงไก่ไข่ เราไม่สามารถบังคับให้ไก่ ไข่ออกมาเท่ากันได้ทุกใบ ขนาดของไข่ไก่เลยต้องคละกัน คนขายไข่ไก่ก็หาวิธีการขายด้วยการคัดแยกขนาดไข่ไก่ ใบใหญ่ก็ขายแพง ใบเล็กก็ขายถูก

แต่ทุกวันนี้ ราคาไข่ไก่สูงกว่าราคาขายที่แท้จริง เพราะว่าแม่ค้าขายไข่ไก่ตามความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะไข่ไก่เล็ก ที่ราคาสูงเกินมูลค่าของไข่

“แม่ค้าขายอาหารที่ซื้อไข่ไก่ไปทำไข่ดาว ไข่เจียว เพราะทำออกมาแล้ว ไม่รู้หรอกว่าใช้ไข่ไก่ขนาดไหน เพราะราคาขายเท่ากันใบละ 5 บาท เขาก็ต้องการไข่ที่มีต้นทุนต่ำที่สุดนั่นก็คือไข่เล็ก ทำให้แม่ค้าไข่สามารถตั้งราคาขายได้ แถมยังฉุดให้ราคาไข่ไก่ใหญ่ขยับขึ้นไปอีก”

เมื่อขายไข่ไก่แบบแยกขนาดนี้ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นชัดเจนที่สุดคือ การคัดแยกขนาดไข่ไก่ ต้องใช้แรงงานคนเข้ามาช่วย เพราะไข่ไก่มีปัญหาเรื่องการแตก เครื่องจักรที่แยกได้ก็ต้องลงทุนสูง การใช้แรงงานคนจึงจำเป็น แน่นอนว่าต้นทุนตรงนี้จะบวกเข้าไปในราคาไข่

การขายไข่แบบชั่งกิโลกรัม มาตัดขั้นตอนต้นทุนการแยกไข่ออกไป โดยขายไข่คละขนาด หยิบใส่ถุงชั่งกิโล

สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดก็คือ การซื้อไข่ไก่แบบเป็นเบอร์นั้น ขนาดที่ใหญ่คือเปลือกภายนอกเท่านั้น ไข่ที่อยู่ในเปลือกอาจไมได้ใหญ่ตามก็ได้ แต่น้ำหนักเป็นการตัดสินที่มาตรฐานกว่า

เขาให้นิยาม ไข่ไก่เปลือกใหญ่ แต่เนื้อในเล็กว่า “ปิติขนาด” คือ เห็นขนาดของไข่ไก่ภายนอก แล้วอนุมานว่าไข่ที่อยู่ข้างในจะใหญ่ตามไปด้วย

ธีรพันธ์ บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการขายไข่ไก่ชั่งกิโลก็คือ การต่อสู้กับความเคยชินของแม่ค้าและผู้ซื้อ แต่ถ้าทำได้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในระยะยาว แต่รัฐบาลไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน

คู่มือการอธิบายขายไข่ไก่เป็นกิโลกรัมแบบนี้ รัฐบาลไม่เคยบอกให้ชัดเจน หรือมีวิธีการสร้างความรับรู้ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ปล่อยให้คนซื้อ คนขายว่ากันไปตามความเข้าใจ