‘ออสเตรเลีย’ ยัน! จะผลิต ‘ถ่านหิน’ ในช่วง 10 ปีนี้ แม้ UN เตือนเรื่องสภาพอากาศและเศรษฐกิจ

จากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพอากาศที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ไม่ว่าจะภัยแล้ง คลื่นความร้อน และไฟป่า และน้ำท่วม ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามเตือนให้แหล่งเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ต้องลดการปล่อยคาร์บอนลง 45% ในทศวรรษนี้ หากโลกต้องควบคุมอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้สูงขึ้นถึง 1.5˚C เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

ถ่านหินเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียงแหล่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสหประชาชาติ (United Nations : UN) ได้เรียกร้องให้ประเทศที่อยู่ในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) รวมถึงออสเตรเลีย เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2030

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลออสเตรเลียกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ประเทศจะยังคงผลิตและส่งออกถ่านหินเกินปี 2030 แม้จะมีคำเตือนจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ ว่าหากไม่ชะลอการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และสภาพอากาศ

ประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศกำลังดำเนินการเพื่อยุติการใช้ถ่านหินภายในสิ้นทศวรรษนี้ อย่างไรก็ตาม Keith Pitt รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและน้ำของออสเตรเลียมองว่า อนาคตของอุตสาหกรรมที่สำคัญนี้จะถูกตัดสินโดยรัฐบาลออสเตรเลีย ไม่ใช่หน่วยงานต่างประเทศ

โดยรัฐมนตรีระบุถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายประการที่ถ่านหินได้นำมาสู่เศรษฐกิจของออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็นค่าค่าลิขสิทธิ์และภาษีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้แก่รัฐบาลและรัฐบาลกลาง และว่าจ้างชาวออสเตรเลียโดยตรงมากกว่า 50,000 คน แต่ไม่ได้กล่าวถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

“การยุติอุตสาหกรรมถ่านหิน ทำให้ต้องเสียงานหลายพันงาน และการส่งออกมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ โดยจากการคาดการณ์ของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศคาดว่า การใช้ถ่านหินทั่วทั้งเอเชียจะเติบโตในอีก 10 ข้างหน้า โดยเฉพาะความต้องการของประเทศต่าง ๆ เช่น จีน อินเดีย และเกาหลีใต้” Keith Pitt  กล่าวในแถลงการณ์

เหมืองถ่านหินในออสเตรเลีย

ทั้งนี้ ประเทศออสเตรเลียมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมถ่านหินของประเทศ โดยออสเตรเลียเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่เป็น อันดับสองของโลกรองจากจีน ซึ่งโครงการถ่านหินใหม่ 176 โครงการของโลก มีจำนวนถึง 79 โครงการ อยู่ในออสเตรเลีย ปัจจุบัน ชาวออสเตรเลียปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 17 เมตริกตัน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลก น้อยกว่า 5 ตันต่อคน

เซลวิน ฮาร์ท ที่ปรึกษาพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกของยูเอ็น กล่าวว่า “เราเข้าใจดีถึงบทบาทของถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลีย แต่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ครองส่วนแบ่งเพียงประมาณ 2% ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ แต่หากโลกไม่เลิกใช้ถ่านหินอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างความหายนะให้กับเศรษฐกิจของออสเตรเลียตั้งแต่ เกษตรกรรมเพื่อการท่องเที่ยวและทั่วทั้งภาคบริการ”

ทั้งนี้ เซลวิน ฮาร์ท กล่าวชักชวนให้องค์กรธุรกิจและนักลงทุนเลิกใช้ถ่านหินและหันมาสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนซึ่งขณะนี้มีราคาถูกลง โดยประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ในขณะที่โครงข่ายไฟฟ้าของออสเตรเลียยังคงพึ่งพาถ่านหินอย่างมาก

“เป็นที่ชัดเจนว่าการลดปล่อยคาร์บอนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นโอกาสทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา โดยโลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

เหมืองถ่านหินในประเทศจีน

ที่ผ่านมา ออสเตรเลียให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 26-28% จากระดับปี 2005 ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าข้อสัญญาที่ปรับปรุงใหม่จากทางสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ อาทิ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นว่าของประเทศของเขาจะลดการปล่อยมลพิษลง 50-52% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ขณะที่ประเทศจีนเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของการผลิตของโลก ปัจจุบัน กำลังเพิ่มแรงกดดันภายในประเทศที่จะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเร็วกว่าที่วางแผนไว้

อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียยังไม่ได้ให้คำมั่นที่จะ ปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ หรือคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ไม่เกินปริมาณที่ขัยออกจากชั้นบรรยากาศภายในปี 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศอื่น ๆ ได้ทำไว้ โดย นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ประธานาธิบดีออสเตรเลีย กล่าวว่า ออสเตรเลียตั้งเป้าที่จะไปให้ถึงศูนย์ให้ เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ถ่านหินยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกสำหรับอุตสาหกรรมหนัก เช่น การผลิตเหล็ก ซึ่งพลังงานจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ลมและพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานได้ แต่อาจจะยังมีทางเลือกอื่น เช่น ไฮโดรเจนสีเขียว ที่เป็นไฮโดรเจนที่ปราศจากคาร์บอน กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและค่อย ๆ นำไปใช้ในวงกว้างขึ้น