ควบรวม ‘NT’ ทำ ‘เอไอเอส’ ชวดเบอร์ 3 เน็ตบ้าน ไม่ขอทำสงครามราคา เน้น ‘บริการ’ มัดใจลูกค้า

ยังเดินหน้าลุยตลาด ‘เน็ตบ้าน’ หรือ ‘ฟิกซ์บรอดแบนด์’ อย่างต่อเนื่องสำหรับ ‘เอไอเอส’ โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ที่ระบาดในไทยมา 3 ระลอกก็ยิ่งมีส่วนกระตุ้นตลาดเพราะผู้บริโภคอยู่บ้านมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้สิ้นปีนี้เอไอเอสจะไม่สามารถไปถึงเป้าที่จะขึ้นเป็น ‘เบอร์ 3’ เพราะการควบรวมของ ‘NT’ แต่เอไอเอสยังมั่นใจว่าต้นปีหน้าจะไปถึงเป้า โดยใช้ ‘บริการ’ และ ‘เทคโนโลยี’ โกยลูกค้าเข้าค่าย

โควิด 3 ระลอกดันคนใช้เน็ตบ้านกระฉูด

การแพร่ระบาด COVID-19 ทั้ง 3 ระลอกในไทย ส่งผลให้ให้ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบ้านของเอไอเอสเพิ่มขึ้นกว่า 40% โดยปริมาณการใช้เน็ตบ้านในต่างจังหวัดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคนกลับบ้านมากขึ้น โดยพบว่า 3 พื้นที่ที่คนใช้อินเทอร์เน็ตบ้านสูงสุด คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง, ภาคเหนือ, ภาคตะวันออก และภาคใต้

จากที่การใช้อินเทอร์เน็ตบ้านจะแน่นช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้นทำให้ใช้งานหนาแน่นทุกวัน ขณะที่จำนวนการเชื่อมต่อจากเดิมเฉี่ย 5 เครื่อง/ครัวเรือน ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 10 เครื่อง/ครัวเรือน ด้านพฤติกรรมการใช้งาน พบเทรนด์หลัก ๆ พบว่าใช้เพื่อรับชมความบันเทิง ประชุมออนไลน์ เล่นเกมออนไลน์และซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซ

Top 5 แอปด้านความบันเทิง ได้แก่ Facebook, YouTube, Instagram, TikTok และ Netflix

Top 5 ด้านการประชุมและเรียนออนไลน์ ได้แก่ Google Meet, Zoom, Microsoft Teams, Web Ex และ Skyp

Top 5 เกมยอดนิยม ได้แก่ ROV, Freefire, Roblox, Cookierun และ PUBG Mobile

เติบโตต่อเนื่องแต่ยังอยู่เบอร์ 4

ด้านภาพรวมการใช้งานอินเตอร์เน็ตบ้านของไทยนับตั้งแต่ปี 2015 มีจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด 6.23 ล้านราย คิดเป็น 29.2% ของจำนวนครัวเรือนในไทย โดยตลาดมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องราว 4% ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม จากการมาของ COVID-19 ทำให้ตลาดเติบโตได้ 5% โดยปี 2020 ภาพรวมตลาดมีผู้ใช้ 11.48 ล้านราย

ณ สิ้นปี 2020 เอไอเอส ไฟเบอร์ มีผู้ใช้งาน 1.34 ล้านราย คิดเป็น 13.6% ของตลาด รั้งอันดับ 4 โดยในช่วงครึ่งปีแรกปี 2021 เอไอเอส ไฟเบอร์มีลูกค้า 1.53 ล้านราย เติบโต 7.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และเติบโต 27.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 13.5% ของตลาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นปี 2021 เอไอเอสได้ปักเป้าขึ้นเบอร์ 3 ในตลาด ซึ่งหากนับจากจำนวนผู้ใช้ในปัจจุบัน เอไอเอสก็สามารถขึ้นเป็นเบอร์ 3 ได้ แต่เพราะมีการรวมกันของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT สู่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที (NT) ทำให้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นมารวมเป็น 1.64 ล้านราย (ณ สิ้นไตรมาส 1/2021)

5 เรื่องน่ารู้ บิ๊กดีลควบรวม TOT-CAT สู่ NT พร้อมจับตาการขึ้นเป็น ‘Top 3’ ตลาดโทรคมนาคม

แม้ภายในสิ้นปีนี้ เอไอเอสยังคงเป็นที่ 4 แต่มั่นใจว่าภายในต้นปีหน้าจะสามารถขึ้นเป็นเบอร์ 3 ในตลาดได้แน่นอน โดยปัจจุบันอันดับ 1 ยังเป็น ทรูออนไลน์ ในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตามด้วย 3BB ในเครือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

“จากสถานการณ์การแข่งขันและปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ปีนี้เราต้องปรับเป้าขึ้น แต่มั่นใจว่าการเติบโตในปี 64 นี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย และมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่าปีที่แล้วแน่นอน” กิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าว

กิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)

เปลี่ยนอุตสาหกรรมเลิกแข่ง ‘ราคา’

การแข่งขันที่ผ่านมามีความรุนแรงทั้งในแง่ราคาและความเร็ว แต่เอไอเอสไม่อยากจะลงเล่นในเกมเดียวกัน แต่ต้องการสร้างความแตกต่างโดยจะเน้นที่ ‘บริการ’ และ ‘นวัตกรรม’ เพื่อให้บริการลูกค้า โดยไตรมาส 4 ยึดหลักการทำตลาด เร็วกว่า ดีกว่า โดยจะนำเสนอสินค้าและบริการ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าเป็น ‘รายแรก’

อย่างที่ผ่านมามีนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยี ‘MESH WiFi Solution’ และ ‘WiFi6’ ที่นำมาใช้เป็นรายแรก และในส่วนของการบริการก็มีแพ็กเกจ 24 ชั่วโมง โดยเป็นแพ็กเกจที่มีราคาเดียวตลอด 24 เดือน สามารถติดตั้งให้ลูกค้าได้ภายใน 24 ชั่วโมง ลูกค้าติดต่อได้ 24 ชั่วโมง และแก้ให้ปัญหาภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้จะขยายพื้นที่ให้บริการลงลึกในระดับอำเภอ จากปัจจุบันให้บริการครบ 77 จังหวัดแล้ว

“เรายังยึดแนวคิด คิดนำทำก่อน ที่ทำให้เราสามารถเติบโตได้มากกว่าตลาด และเรามองว่าการบริการถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม และเราต้องการจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมให้ไปแข่งกันในด้านนี้มากกว่าทำสงครามราคา เพราะถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไรก็จะแข่งแค่สปีดและราคาซึ่งมันไม่ได้ตอบสนองความต้องการลูกค้า 100%”

ตลาดยังโตแม้หมดโควิด

ปัจจุบัน Penetration อินเทอร์เน็ตบ้านของไทยคิดเป็น 57.9% หรือ 12.98 ล้านครัวเรือน จาก 20 ล้านครัวเรือน ซึ่งตลาดยังมีโอกาสเติบโต เพราะการมาของโควิดทำให้การเติบโตกลับมาเร็วกว่าที่ประมาณการ และจากนี้การเติบโตจะยิ่งสูงขึ้นเพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปแล้ว แม้การระบาดจะอยู่ในจุดที่ควบคุมได้แล้วก็ตาม แต่แน่นอนว่าการเติบโตของเน็ตบ้านอาจส่งผลกระทบกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือบ้างแต่คงไม่ถึงขั้นเลิกใช้

ก็ต้องมาจับตาดูว่าเอไอเอสจะสามารถขึ้นแท่นที่ 3 ภายในปีหน้าได้ตามที่หวังไหม เพราะปีนี้พลาดเป้าไปเพราะการควบรวมของ NT ไปอย่างน่าเสียดาย แต่จำนวนผู้ใช้ก็ถือว่าหายใจรดต้นคอแล้วทีเดียว