ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ร่วมมือกับศูนย์วิจัย Arup Foresight and Innovation ประเทศออสเตรเลีย ทำการศึกษาแนวโน้มเมกะเทรนด์ (Mega Trends) ในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือปี 2050 ที่เป็นตัวกำหนดอนาคตของความเป็นเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองใกล้เคียง หรือเรียกว่า Greater Bangkok ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกไป 150 กม.
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและวิสัยทัศน์อันหลากหลายที่จะเป็นแนวทางเปลี่ยนแปลงให้ Greater Bangkok พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปสู่เมืองที่มีน่าอยู่ ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหารฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) บอกว่า
“ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนจากสังคมชนบท ที่มีอัตราการพัฒนาความเป็นเมืองต่ำกว่า 30% เพิ่มเป็นมากกว่า 50% อย่างในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประชากรของกรุงเทพมหานครเพิ่มเป็น 2 เท่า จนกลายเป็นมหานครที่เต็มไปด้วยผู้คนมากกว่า 10.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองที่ขาดการวางแผนและการเกิดขึ้นของ COVID-19 นับเป็นเครื่องเตือนใจถึงความเป็นเมืองที่เปราะบางและส่งผลกระทบต่อประชาชน วิกฤตนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลต่อความเป็นเมือง
ยังมีปัจจัยบวกต่อการพัฒนา อาทิ เทคโนโลยีที่กำลังเฟื่องฟู ระบบพลังงานที่เปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียนและการขนส่งที่เริ่มใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ กำลังขยายขอบเขตใหม่ของการเชื่อมต่อทางสังคม ซึ่งล้วนเปลี่ยนแปลงและการขยายเมืองไปในทางที่ดีขึ้น”
ดร.ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า Greater Bangkok จะเกิดการพัฒนาไปสู่ 7 เมกะเทรนด์ที่สำคัญ ดังนี้
1. ความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน (Wellbeing for all)
ปัญหาสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมของเมืองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วกำลังถาโถมใส่คนกรุงเทพฯ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนประมาณ 1 ใน 4 และก่อให้เกิดโรคต่อเนื่อง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตคิดเป็น 13 ล้านคนทั่วโลกต่อปี
จากผลสำรวจผู้บริโภคมากกว่า 15,000 คน พบว่า ประเด็นด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จัดเป็นความกังวลอันดับ 1 และอันดับ 2 ตามลำดับ และสอดคล้องกับความเห็นของผู้บริโภค 3 ใน 5 ที่เชื่อว่า สุขภาพของพวกเขาได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว และสะท้อนในผลสำรวจของนักเรียนมัธยมศึกษาไทยมากกว่า 1,000 คน พบว่า 92% ของทั้งหมด เชื่อว่า ทุกชีวิตมีค่าที่จะรักษาและให้ความสำคัญการสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน
2. ประเทศชาญฉลาด (Wise nation)
คนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2025 การคาดการณ์อายุขัยของคน จะยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉลี่ย 72.6 ปี (เพศชาย) และ 78.1 ปี (เพศหญิง) และมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทยจะมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีภายในปี 2050
ส่งผลให้อัตราการเติบโตเฉลี่ยของของ GDP ของประเทศไทยอาจลดลง 0.75% ในช่วง 30 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่ารายจ่ายด้านสวัสดิการสุขภาพของผู้สูงวัยไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าระหว่างปี 2019 – 2022
ขณะเดียวกันยังส่งผลให้เกิดโอกาสแรงงานสูงวัยเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งต่อประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ จากการวิจัยพบว่าคนงานอายุมากกว่ามีผลงานดีกว่าคนงานคนรุ่นใหม่ในงานด้าน Soft Skills (ทักษะการจัดการ ทักษะทางสังคม และความภักดี) ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนนี้เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำไปสู่ประเทศชาญฉลาด
3. การครอบงำด้วยข้อมูล (Data dominance)
Internet of Thing (IoT) ได้ส่งผลให้ระบบของเมืองอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ไม่กี่ราย โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว โดย 7 ใน 10 บริษัทชั้นนำทั่วโลกตามมูลค่าตลาดคือบริษัทด้านเทคโนโลยี
เช่นเดียวกับ 7 ใน 10 อันดับแรกของผู้ลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนามากที่สุดก็คือบริษัทด้านเทคโนโลยีเช่นกัน สะท้อนว่า ภาคเทคโนโลยีใช้จ่ายด้านการวิจัย และพัฒนามากกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองอัจฉริยะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้
โดย McKinsey and Co ประมาณการแอปพลิเคชันที่นำมาใช้พัฒนาเมืองอัจฉริยะในอาเซียนว่า สามารถลดการแพร่มลพิษได้ 260-270 กิโลตัน หลีกเลี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 5,000 คน สร้างงานใหม่ 1.2-1.5 ล้านตำแหน่ง และประหยัดค่าครองชีพได้ 9-16 พันล้านดอลลาร์
4. ความโปร่งใสในทุกแพลตฟอร์ม (Platform transparency)
การลุกขึ้นมาเรียกร้องของประชาชนไทย และทั่วโลกเพิ่มขึ้น 11.5% ระหว่างปี 2009-2019 ทำให้เกิดสาธารณูปโภคพื้นฐานระบบดิจิทัลที่สามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วม และการศึกษาภาครัฐมากขึ้น อันดับดัชนีความพร้อมทางด้านเครือข่ายของไทยเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนอยู่ที่อันดับ 56 ในปี 2019 จากอันดับ 67 ในปี 2015
การเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เป็นจุดแข็งที่สำคัญของคนที่อยู่อาศัยใน Greater Bangkok ซึ่งจะช่วยผลักดันให้นโยบายและการวางแผน จัดทำขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของประชนชนมากขึ้น
5. จากขยะสู่อาชีพ (Waste to jobs)
ภายในปี 2025 คาดการณ์กันว่า ประเทศไทยจะมีขยะพลาสติกที่ขาดการจัดการกว่า 3.16% ของพลาสติกทั่วโลก ถือเป็นประเทศที่่ก่อมลภาวะพลาสติกมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ในทางตรงกันข้ามเทคโนโลยีที่เข้ามาในหลากหลายอุตสาหกรรมนี้ จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและงานใหม่ๆ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียน และเอเชียตะวันออกพบว่า การนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ อาจส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากถึง 324 พันล้านดอลลาร์ และสร้างงานในเมืองใหญ่ต่างๆ ของเอเชียได้มากกว่า 1.5 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2042 รวมทั้งการแปรรูปพลาสติกให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำ พลิกสถานการณ์ของไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ได้
6. วันหยุดเพื่อสุขภาพ (Health holidays)
โดยในช่วงผ่านมา ประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างหนักหน่วง ได้ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลายเป็นภาคที่มีส่วนต่อการสร้างการเติบโตของ GDP ให้กับประเทศ เห็นได้จากเฉพาะการท่องเที่ยวภาคเดียวมีส่วนต่อการเติบโตของ GDP คิดเป็น 21.6% ของ GDP ทั้งประเทศในปี 2018
และได้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำของโลกสำหรับคนวัยเกษียณ และนักท่องเที่ยวที่แสวงหาการดูแลสุขภาพ ผ่านอุตสาหกรรมความเป็นอยู่ที่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Wellbeing Industry) จนเป็นจุดหมายวันหยุดเพื่อสุขภาพ
7. ความกลมกลืนของชุมชนเมือง (Village harmony)
คนไทยสูงวัยกำลังต่อสู้กับค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น และเริ่มกังวลกับปัญหา “เมืองใหญ่” โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นจากความหนาแน่นของประชากร จากการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ พบความสัมพันธ์ของการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มว่า ความเป็นอยู่ที่ดีระหว่างประชากรในชนบทและในเมืองจะแตกต่างกันมาก ดังนั้น
จึงมีคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แสวงหาการใช้ชีวิตในหมู่บ้านที่สงบสุข โดยให้คุณค่ากับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของพวกเขามากขึ้น การนำความก้าวหน้าในเมืองไปสู่ชนบท ด้วยการขนส่งทางไกลราคาถูก จะช่วยเปิดทางให้การพัฒนาเศรษฐกิจกระจายออกไป จนสามารถให้ความน่าอยู่ที่มากขึ้น โดยมีปัญหาความแออัดน้อยกว่า ผ่านการขนส่งสาธารณะที่ราคาถูกและการใช้ยานพาหนะร่วมกัน (Shared Mobility) ที่จะเติบโตควบคู่ค่านิยมในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพส่วนบุคคล
ข้อมูลอ้างอิง : งานวิจัย Megatrends for Urbanisation of Greater Bangkok