“แรงงานสูงวัยในญี่ปุ่น” เติบโต 17 ปีซ้อน สะท้อนภาพ “สังคมไร้วันเกษียณ”

อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ทำให้มีแรงงานที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเติบโตมากขึ้นต่อเนื่องตลอด 17 ปี

จำนวนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในญี่ปุ่นพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยปีนี้เพิ่มขึ้น 220,000 คน รวมเป็น 36.4 ล้านคน แบ่งเป็น ชาย 15.83 ล้านคน ผู้หญิง 20.57 ล้านคน ขณะที่ประเทศที่มีอัตราส่วนผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 คือ อิตาลี คิดเป็น 23.6% ตามด้วยโปรตุเกส 23.1%

ผู้สูงวัยของญี่ปุ่นคิดเป็น 29.1% ของประชากรทั้งหมด ณ เดือนนี้ และ 13.6% ยังคงเป็นแรงงานในปี 2020 ซึ่งทั้งสองตัวเลขนั้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ผู้สูงอายุของญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนเป็น 30% ของประชากรในปี 2025 และ 35.3% ในปี 2040

ปัจจุบัน จำนวนผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปมีจำนวนทั้งสิ้น 12.06 ล้านคน เพิ่มขึ้น 460,000 คนจากปีก่อนหน้า และในจำนวนผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึง 25.9 ล้านคน รวมทั้งผู้มีอายุครบร้อยปี 80,000 คน

ทั้งนี้ จำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 17 ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2547 จากจำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำ 9.06 ล้านคน มี 3.67 ล้านคนเป็นผู้หญิง โดยอุตสาหกรรมที่เป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของผู้สูงอายุคือ อุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีก โดยมีผู้สูงอายุ 1.28 ล้านคน รองลงมาคือเกษตรกรรมและป่าไม้ 1.06 ล้านคน แต่ผู้สูงอายุเหล่านี้กว่า 70% ได้รับการจ้างงานแบบชั่วคราว และมีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

โดยอัตราส่วนของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีงานทำสูงถึง 25.1% ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก โดยอัตราส่วนในเกาหลีใต้สูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักที่ 34.1% ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาอยู่ที่ 18% และ 12.8% ตามลำดับ

Source