คาดว่าจะไม่ใช่ยกสุดท้ายที่ทรูมูฟจะแจกซิมกระตุ้นยอดแรง ๆ โดยทำ Convergence ส่งท้ายกับโปรโมชั่นแสตปม์วิเศษโดราเอมอนของเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งรอบล่าสุดเพิ่งจบไปเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ทรูมูฟกับเซเว่นฯทำคอนเวอร์เจนซ์โปรโมชั่นด้วยกันครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้เมื่อปี 2552 ครั้งนั้นกำหนดให้แสตมป์มูลค่า 1 บาท แลกซิมพร้อมค่าโทรได้ 10 บาท แต่จัดใหญ่ด้วยการใช้นักร้องแชมป์เอเอฟ (Academy Fantasia) อย่างซานิ และเพื่อน ๆ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และทำ TVC ออนแอร์อย่างต่อเนื่อง
จะว่าไปแล้วกลยุทธ์การแลกซิมทรูมูฟที่ทำขึ้น แทบไม่ต่างอะไรกับการแจกซิมฟรี เพียงแต่ดูดีขึ้นมาอีกนิด เพราะอย่างน้อยลูกค้าก็เป็นฝ่ายเดินเข้ามาเซเว่นฯเพื่อแลกรับซิมรับด้วยตัวเองอย่างเต็มใจ ไม่ใช่ถูกยัดเหยียดแจกตามป้ายรถโดยสารสาธารณะอย่างที่แล้ว ๆ มา
หลายคนไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าจะได้โทรศัพท์เลขหมายอะไร โปรโมชั่นแบบไหน คิดแค่ว่าถ้ามีค่าโทรฟรีพอสมควรก็พอ ส่วนซิมไม่คิดจะเก็บไว้ใช้ต่อด้วยซ้ำ
กลุ่มที่สนใจโปรโมชั่นนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงนักเรียนมัธยมที่ต้องการค่าโทรฟรี ๆ สำหรับโทรหาเพื่อนครั้งสองครั้งแล้วก็เปลี่ยนซิมทิ้งเมื่อค่าโทรหมด
ดังนั้นเมื่อแสตมป์หนึ่งบาทแลกได้ 20 บาทของโปรโมชั่นล่าสุด จึงทำให้ซิมทรูมูฟมีอัตราการเปิดใช้เพิ่มสูง แต่ก็อาจจะเป็นซิมที่มีสถิติของจำนวนเลขหมายที่ยกเลิกการใช้งานเร็วที่สุดในโลกเพิ่มขึ้น
“ส่วนใหญ่ก็เด็ก ๆ ครับที่มาแลกซิม วันหนึ่งหลายสิบซิม ก็อย่างนั้นแหละครับเอาค่าโทร ใช้หมดก็ทิ้ง” พนักงานร้านเซเว่นฯแห่งหนึ่งพูดถึงความนิยมของโปรโมชั่นแสตมป์แลกซิมทรูมูฟ เขาบอกว่าในแต่ละวันมีเด็ก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับมัธยมเข้ามาแลกซิมวันละหลายสิบซิมเลยทีเดียว
ทรูมูฟเองก็มองออกว่า กลุ่มเป้าหมายที่จะแลกซิมฟรี ก็คือกลุ่มเด็ก ๆ วัยรุ่น และจำนวนเงิน 20 บาทสำหรับค่าโทรดึงดูดใจพวกเขาได้มากพอ ทรูมูฟยังคิดแคมเปญที่คิดว่าจะดึงดูดเด็กกลุ่มนี้มากขึ้นด้วยอัตราการคิดค่าบริการ SMS และค่าโทรต่อนาทีในโปรโมชั่นที่ให้ไปกับซิมเพียง 88 สตางค์ แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้ลูกค้าเก็บซิมนั้นไว้ใช้ต่อไป หรือแม้แต่จะเติมเงินเพื่อใช้อีกสักครั้งสองครั้ง
งานนี้จึงสรุปได้ว่า สำหรับโปรโมชั่นจ่าย 1 ได้ถึง 20 แบบนี้ แค่มองเป้าหมายได้ตรงกลุ่มแต่ไม่เข้าใจพฤติกรรมที่แท้จริง ก็ไม่ได้ช่วยให้ยอดผู้ใช้ทรูมูฟเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาวเลย