เมื่อสวนสนุกพาเหรดออกมาสู่โรงหนังในรูปแบบโรงหนัง 6 มิติ ขยายฐานกลุ่มนักท่องเที่ยวและครอบครัวให้กับโรงหนังปกติ เพิ่มจุดขาย เพิ่มทราฟฟิก และทำให้โรงหนังกลายเป็นหนึ่งใน Tourist Attraction
เออเนส ยาล ประธานกรรมการและซีอีโอ บริษัท ทรีโอเท็ค อะมูสเม้นท์ จำกัด (Triotech Amusement) ผู้ผลิตเครื่องเล่นและความบันเทิงโรงหนัง 6 มิติ บอกว่า “XD Thearter นำทุกสัมผัสเข้ามาเพื่อให้เกิด Realistic Experience นอกเหนือจากจอแล้วที่เร้าประสาทสัมผัสอย่างภาพและเสียงแล้ว ยังรวมถึงเอฟเฟกต์ของลม แสง และความเคลื่อนไหวของเก้าอี้ที่โยกไปมารอบทิศทาง เหมือนตัวเราเคลื่อนไหวไปพร้อมกับเรื่องราวในจอ รวมถึงระบบสั่นสะเทือนที่พนักพิง เป็นประสบการณ์ที่ไม่ว่าเด็กอายุ 3 ขวบ หรือผู้ใหญ่อายุ 60 ปี ก็ได้รับเหมือนกัน”
XD Thearter จึงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของเครื่องเล่นเสมือนจริง ให้ความรู้สึกตื่นเต้น และกรีดร้องเสมือนเล่น Roller Coaster ในสวนสนุก คนดูต้องสวมแว่นตา ขณะเดียวกันก็ดึงดูดความสนใจจากคนที่ Box Office ด้วยการนำกล้องไปจับภาพขณะที่มีคนกำลังดูอยู่และมาฉายออกจอแอลซีดี เพื่อให้เห็นถึงความตื่นเต้น
โรงหนัง 6D ไม่ได้นำเสนอหนังดังหรือเน้นธีมเรื่อง แต่ทุ่มให้กับเทคโนโลยีของเก้าอี้และระบบฉาย หนังเก่าอาจฉายวนไปทั้งปี ปีหนังใหม่แทรกเข้ามาบ้าง แต่มีทีมสร้างหนังของตัวเอง อย่างต่ำปีละ 3 เรื่อง และมีหนังจากพันธมิตรอีก 4-6 เรื่องต่อปี กลุ่มเป้าหมายจึงแตกต่างจากโรงภาพยนตร์ปกติที่เราคุ้นเคยกัน โดยมุ่งจับกลุ่มนักท่องเที่ยว และ Family with Kids ที่มองหากิจกรรมตื่นเต้นทำร่วมกัน ชื่นชอบสวนสนุก โดยเฉพาะเครื่องเล่น Roller Coasterและไม่ต้องเดินทางไปสวนสนุกซึ่งส่วนใหญ่ในแทบทุกประเทศมักจะตั้งอยู่นอกเมือง
สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด บอกว่า “ทางเอสเอฟได้รายได้จากค่าเช่าพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายให้กับเอสเอฟ เพื่อครอบคลุมผู้บริโภคที่ไม่ใช่คอหนังมากขึ้น เพราะเอสเอฟต้องการเป็นมากกว่าโรงหนัง เป็นการเพิ่มช่วงเวลาแห่งความสนุก และกลายเป็น Tourist Attraction”
“กลุ่มเป้าหมายจะกว้างขึ้น 70-80% เป็นนักท่องเที่ยวและ Expat ที่มากันเป็นครอบครัว โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ขณะที่โรงหนังปกติกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่น วัยทำงาน”
ดังนั้น โรงหนัง 6D จึงทำหน้าที่แตกต่างจากหนัง 3D อย่างสิ้นเชิง ที่ส่วนใหญ่เป็นหนังฟอร์มใหญ่ะระดับฮอลลีวู้ด
XD Thearter ที่เซ็นทรัลเวิลด์ใช้เงินลงทุน 14 ล้านบาท 12 ที่นั่ง บนพื้นที่ 60 ตารางเมตร บริเวณชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ ฉายภาพยนตร์แอนิเมชั่น 7 เรื่อง ความยาวเพียงเรื่องละ 10 นาที ราคาตั๋วใบละ 200 บาท
แม้ที่นั่งจะน้อยกว่าโรงภาพยนตร์ปกตินับ 10 เท่า แต่เน้นความถี่ของรอบฉายและราคาตั๋วที่สูง โดยมีรอบฉายมากสุด 50 รอบต่อวัน ทำให้สามารถคืนทุนได้เร็วภายใน 1 ปี
โดยเน้นเปิดในโลเกชั่นที่มีนักท่องเที่ยว ปี 2552 จึงเลือกเปิดที่พัทยา (8 ที่นั่ง) เป็นแห่งแรก ต่อด้วยภูเก็ต (10 ที่นั่ง) ในปี 2553 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมาเปิดที่เอสเอฟ เวิลด์ ซีนีม่า เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ในกุมภาพันธ์ 2554 นี้
ปัจจุบันมีใน 75 แห่งทั่วโลก ในเอเชียมีที่ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ และตุรกี ซึ่งหลายแห่งเป็นโรงที่มีขนาดใหญ่กว่าในไทย เช่น จีนมีโรงขนาด 36 ที่นั่ง ฝรั่งเศส 40 ที่นั่ง เป็นต้น จึงมีโอกาสอีกมากที่ในไทยจะเติบโตได้
“เป็นเทรนด์ที่เห็นได้ตามศูนย์การค้า โรงหนังทั่วโลก ไม่ได้เป็นเครื่องเล่นเฉพาะในสวนสนุกเท่านั้น แต่กลับไปได้ดีกับไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง มอลล์” สุวิทย์บอกทิ้งท้าย