รับมือตลาดการเงินโลกผันผวน ลงทุนเมกะเทรนด์อย่างไรให้พอร์ตปัง

เริ่มเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 กันแล้ว บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกตลอด 9 เดือน ตกอยู่ในความผันผวนสูง ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด COVID-19 ที่ไม่คลี่คลาย และประเด็นข้อถกเถียงจาก 2 ขั้วมหาอำนาจโลก สหรัฐฯ กับจีน ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำเอาทั้งนักลงทุนทั่วโลกต่างหวาดหวั่นไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว กลัวจะเกิด Big Shock จนอยากร้องขอตัวช่วย จะทำอย่างไรให้พอร์ตลงทุนที่มีอยู่แข็งแกร่งและรอดได้

ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกเผชิญกับประเด็นร้อนที่ถาโถมเข้ามา ผมขอกล่าวถึงฝั่งโลกตะวันตกก่อนครับ

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ล่าสุดมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ 0-0.25% และวงเงินซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) คงไว้ระดับเดิม 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

แต่ Fed มีแนวโน้มจะเริ่มลดวงเงินซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการ QE หรือ QE Tapering ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะสิ้นสุดในกลางปี 2565

Photo : Shutterstock

สิ่งที่อยู่เหนือคาดการณ์ของตลาด คือ ถ้อยแถลงหลังประชุม FOMC สะท้อนมุมมองเจ้าหน้าที่ Fed บางส่วนใน 18 รายว่า มีความเป็นไปได้ที่ Fed จะเริ่มขยับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 เร็วกว่าครั้งก่อนที่ประเมินว่า จะเริ่มปี 2566 ภายใต้ตัวแปรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐฯ จะมีความต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางที่ดี

Fed ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.2% ในปี 2564 และ 2.2% ในปี 2565 ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน) ขยับขึ้นมาที่ 3.7% และ 2.3% ตามลำดับ จากตัวเลขประมาณการใหม่ จะเห็นว่า ปี 2565 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับสูงไล่ตามอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เป็นสัญญาณบ่งชี้ Fed จำเป็นต้องดูแลโจทย์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ผ่านการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั่นเอง

ฝั่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่สัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จึงเตรียมถอนนโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยจะลดวงเงินซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Pandemic Emergency Purchase Programe (PEPP) จากวงเงิน 80,000 ล้านยูโร ในอีก 3 เดือนข้างหน้าหรือช่วงปลายปีนี้ และยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0%

เพราะฉะนั้น ในช่วงปลายปี 2564 สภาพคล่องทางการเงินของโลกจะเริ่มตึงตัวขึ้น จากการทำ QE Tapering ของฝั่งสหรัฐฯ และฝั่งยุโรป จะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก และการบริหารพอร์ตลงทุนอย่างแน่นอน

Photo : Sutterstock

มากันที่โลกตะวันออก ข่าวช็อกโลกมากสุดในรอบปี 2564 ต้องยกให้จีน มหาอำนาจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประเดิมต้นปี ทางการจีนเข้ามาคุมเข้มการผูกขาดตลาดของธุรกิจเทคโนโลยี ของบิ๊กเทคอย่าง Alibaba, Tencent และ Meituan

ตามมาด้วยธุรกิจ Tech Education การออกกฎหมายความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security Law) และกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Information Protection Law – PIPL) และยังคุมธุรกิจอื่นๆ อีก เช่น เสริมความงาม และกาสิโน

ล่าสุด ก็มีประเด็นข่าวที่ทำเอานักลงทุนทั่วโลกอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆ กัน สะเทือนตลาดหุ้นตลาดเงินดิจิทัล

เมื่อปลายเดือนกันยายน ธนาคารกลางจีนได้ทลายเหมือง Bitcoin ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยประกาศเป็นทางการว่า การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นสกุลใดที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการถือว่า ผิดกฎหมาย

ด้วยเหตุผลว่า สกุลเงินดิจิทัลจะรบกวนต่อระบบการเงินของจีน และเป็นช่องทางฟอกเงินที่นำไปสู่อาชญากรรมทางการเงิน หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียด

เหตุการณ์ทลายเหมือง Bitcoin เกิดขึ้น ไล่หลังกรณีบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เบอร์ 2 ของจีน อย่าง China Evergrande ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง กำลังเผชิญหนี้สินมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหนี้ของสถาบันการเงินและหนี้หุ้นกู้ของนักลงทุน และแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้ และเป็น NPL ในภาคการเงินของจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 2% ของ GDP ประเทศเลยทีเดียว

ทั้ง 2 วิกฤตกดดันทั้งตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ดัชนี CSI300 และ HSI ปรับตัวลดลง 3% ผลกระทบส่งถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดแรงเทขายกดดันดัชนี DJIA ลดลง 2.4%

ราคาหุ้นของ China Evergrande นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ปรับตัวลดลงมาเกือบเท่าตัวแล้ว หลังจากบริษัทประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักและขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ China Evergrande เหลือ CCC คือ มึความเสี่ยงสูงในการผิดนัดชำระหนี้

นักวิเคราะห์ตีความกันไปว่า หากทางการจีนปล่อยให้ China Evergrande ล้มละลาย จะเกิดวิกฤต Subprime ในฝั่งเอเชีย เทียบกับกรณีสหรัฐฯ เคยปล่อยให้ Lehman Brothers ล้มและตามมาด้วยวิกฤต Subprime เมื่อปี 2551

Photo : Shutterstock

สถานการณ์ล่าสุด ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้อัดฉีดสภาพคล่อง 90,000 ล้านหยวนเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินผ่านสัญญากู้ยืมระยะสั้น (Repo) อายุ 7-14 วัน นับเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องที่มีมูลค่าสูงสุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง แรงงานและลูกค้าที่วางเงินดาวน์จองซื้อกว่า 1.5 ล้านราย

พร้อมกับออกมาตรการมาดูแลและสั่งทำแผนจัดการปัญหาหนี้ของบริษัท การประสานงานกับผู้ซื้อทรัพย์สินที่มีศักยภาพภายในเดือนกันยายน และข้อเสนอการเจรจากำหนดเวลาการชำระเงินกับธนาคารและเจ้าหนี้ต่างๆ ทั้งนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าสูงถึง 29% ของ GDP จีน

แพลตฟอร์มของ Jitta ได้วิเคราะห์หุ้น China Evergrande บริษัทนี้มีงบการเงินที่อ่อนแอหลายด้าน เช่น กำไรลดลง มูลหนี้สูง กระแสเงินสดใช้เวลาหมุนเวียนมากกว่า 1 ปี ธุรกิจขาดการเติบโต และการจ่ายปันผลน้อย

แม้ว่าราคาหุ้นปัจจุบัน จะอยู่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แต่ก็ไม่ได้แปลว่างบการเงินจะดีเสมอไป และนี่เองที่ทำให้อัลกอริทึมของ Jitta ไม่จัด China Evergrande ติดอันดับสูงของ Jitta Ranking ฮ่องกง

หากถามผมว่า จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยังลงทุนในหุ้นได้หรือไม่ แน่นอนครับว่า ปัจจัยความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเป็น Big Surprise ที่พร้อมจะปะทุในทุกมุมโลก แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสลงทุน เพียงแต่ควรตั้งหลักก่อน ถึงจะมองให้เห็น

Photo : Shutterstock

ผมมองว่า ตลาดหุ้นในบางประเทศอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่หากดูเป็นธีมธุรกิจ จะพบว่าหลายธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ มีโอกาสเติบโตในระยะยาว ซึ่งธีมเมกะเทรนด์ที่ยังคงมาแรงทำรายได้และกำไรเติบโตได้ดีมาก เช่น คลาวด์ ฟินเทค เทคโนโลยี หรือ AI และหุ่นยนต์ เป็นต้น

ปัจจุบัน Thematic Investment หรือธีมการลงทุน โดยลงทุนผ่านสินทรัพย์อย่าง ETF (Exchange Traded Fund) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากเน้นไปที่ธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ และมองข้ามช็อตที่การเติบโตในอีก 5-10 ปีข้างหน้า หรือนานกว่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น ธีมการลงทุนใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีเป็น 10 เป็น 100 ธีมให้คุณได้ลงทุน พร้อมกระจายความเสี่ยงใน ETF ไม่ต้องอิงไปกับหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

Photo : Shutterstock

อย่าง Jitta Wealth มีทางเลือกเป็นกองทุนส่วนบุคคล Thematic เช่นเดียวกัน โดยแบ่งเป็น Thematic DIY ที่ให้นักลงทุนเลือกธีมจัดพอร์ตเอง และ Thematic Optimize ที่ให้ AI ของทีมงานพัฒนาขึ้นมา เลือกธีมที่น่าลงทุนที่สุดให้ในช่วงเวลานั้น

หลักการลงทุนที่ดีและยั่งยืน คือ เมื่อคุณเชื่อมั่นในสินทรัพย์ที่เลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ETF ที่ตอบโจทย์ หรือหุ้นที่มีพื้นฐานดี คุณควรหมั่นเพิ่มทุน หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฉลี่ยต้นทุน และทำให้พอร์ตโดยรวมไม่ผันผวนมาก จากการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา

นอกจากนี้ การรีวิวพอร์ตลงทุน เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น รายไตรมาส ถือเป็นการสร้างวินัยการลงทุนที่ดี เพราะงบการเงินของแต่ละบริษัทจะอัปเดตทุกไตรมาส มีทั้งผลกระทบเชิงบวกและลบ เมื่องบการเงินออก ทั้งนี้ Jitta Wealth ได้พัฒนาระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติ เพื่อรักษาสัดส่วนพอร์ตลงทุนให้เหมาะสม

เมื่อเราเลือกสินทรัพย์ที่ดี และหมั่นลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ให้ระบบได้ปรับพอร์ตลงทุน ให้เงินได้ทำงานสร้างผลตอบแทนที่ดี อย่างน้อยก็หมดห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนได้แล้วครับ