ข้อมูลวิจัยจาก Kantar พบว่า “ฟังก์ชันนัลดริงก์” ยังเป็นตลาดที่โตแรง 20.5% แม้คนออกจากบ้านน้อยลงระหว่างล็อกดาวน์ โดยกลุ่มผู้ซื้อหลักคือผู้ใหญ่วัย 30-49 ปี และคนส่วนใหญ่ยังซื้อเครื่องดื่มกลุ่มนี้เพียง 1-3 ครั้งต่อ 6 เดือน ทำให้โอกาสเติบโตมีอีกมาก
Kantar Worldpanel วิจัยตลาดเครื่องดื่ม “ฟังก์ชันนัลดริงก์” ในประเทศไทย เก็บข้อมูลช่วงเดือนมิถุนายน 2564 โดยนิยามตลาดเครื่องดื่มกลุ่มนี้หมายถึง เครื่องดื่มวิตามิน, เครื่องดื่มเพื่อความงาม, สารสกัดจากผลไม้, สารสกัดจากพืช, เครื่องดื่มจากเห็ด, น้ำแต่งรส ฯลฯ โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
1.ตลาดโต 20.5% แม้เผชิญการล็อกดาวน์
มูลค่าตลาดฟังก์ชันนัลดริงก์เติบโตขึ้น 20.5% แม้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคถึง 78% จะซื้อเครื่องดื่มกลุ่มนี้เมื่อออกนอกบ้าน (out-of-home consumption) และช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญการล็อกดาวน์หลายครั้งก็ตาม
นอกจากนี้ การเข้าถึงผู้บริโภคของสินค้ากลุ่มนี้ยังทำได้ดีขึ้นกว่าปีก่อน โดย 76.7% ของประชากรไทยวัย 15-49 ปีที่อาศัยในเขตเมืองเคยซื้อเครื่องดื่มกลุ่มนี้บริโภคอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี
2.ตัวท็อปของกลุ่มคือ “เครื่องดื่มวิตามิน”
ในประเภทที่แยกย่อยลงไป “เครื่องดื่มวิตามิน” มีสัดส่วน 36% ในยอดขายรวมของตลาดฟังก์ชันนัลดริงก์ โดยมีแบรนด์ดังคือ C-Vitt และ Woody C Lock
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีตลาดใหญ่ไม่แพ้กันคือ “น้ำแต่งรส” มีแบรนด์ดังในกลุ่มนี้คือ ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ และ วิตอะเดย์ ซึ่งโตถึง 140% เทียบปีต่อปี
3.ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่คือ “ผู้ใหญ่” วัย 30-49 ปี
เป็นเรื่องน่าสนใจที่ สินค้าประเภทนี้เข้าถึงลูกค้ามากที่สุดในกลุ่มวัย 20-24 ปี ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยและกลุ่มเพิ่งเริ่มทำงาน แต่ผู้ซื้อตัวจริงที่สร้างยอดขายให้สูงที่สุดคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของยอดขายคือ “ผู้ใหญ่” วัย 30-49 ปี เป็นไปได้ว่า เนื่องจากคนวัย 30 ปีขึ้นไปมักจะคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น
4.ผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังซื้อไม่บ่อยนัก
ในตลาดที่มาแรง ยังมีที่ทางให้เติบโตหรือไม่? ผลจากการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยการซื้อฟังก์ชันนัลดริงก์อยู่ที่ 15 ครั้งต่อปี แต่คนกลุ่มใหญ่เกือบ 40% จะซื้อเพียง 1-3 ครั้งต่อรอบ 6 เดือนเท่านั้น เมื่อเทียบกับตลาดเครื่องดื่มชนิดอื่นที่อิ่มตัวแล้วอย่างน้ำอัดลม มีผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่ซื้อน้ำอัดลม 5-9 ครั้งต่อรอบ 6 เดือน นั่นหมายความว่า ยังมีพื้นที่ให้สินค้าชนิดนี้ผลักดันตลาดได้อีก
Kantar สรุปว่าตลาดนี้ยังมีศักยภาพในการเติบโต ผู้บริโภคยังถือว่าอยู่ในช่วงทดลองสินค้า ซึ่งแปลว่าแบรนด์ใหม่และสินค้าชนิดใหม่ยังบุกเข้าตลาดได้อยู่ ผู้ชนะในตลาดจะต้องสร้างสรรค์สินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค และทำให้เกิดการซื้อประจำให้ได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- “เนสกาแฟ” ส่งเอสเปรสโซ 3 ช็อตผสมวิตามิน เมื่อตลาดกาแฟซึม ขอไฮบริด “ชูกำลัง”
- เปิดสูตร “แมนซั่ม” ขอร่วมวง “วิตามิน วอเตอร์” มาช้าแต่ขอล้มยักษ์…