หมดยุควัฒนธรรม 996! บริษัทแม่ ‘TikTok’ ประกาศห้ามทำงานเกิน 9 ชม. และหยุดทุกเสาร์-อาทิตย์

(Photo by Emmanuel Wong/Getty Images)
หากพูดถึงวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 หรือการทำงานตั้งแต่ 09.00-21.00 น. เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ที่ ‘แจ็ก หม่า’ เคยให้ค่าและกลายเป็นแนวทางของเหล่า Tech Company ของจีนถ้าอยากจะประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่หลายคนที่จะมีความสุขกับวัฒนธรรมดังกล่าว และเมื่อปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ศาลสูงจีนชี้ว่า วัฒนธรรมดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อกฎหมายแรงงานจีน และสมควรยกเลิก

ล่าสุด ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ได้ออกกฎใหม่ให้พนักงานเลิกงานภายในเวลา 19.00 น. โดยห้ามทำงานเกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้ ByteDance กลายเป็น หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีแห่งแรกในจีนที่กำหนดให้ชั่วโมงทำงานสั้นลงอย่างเป็นทางการ

“พนักงานในจีนควรทำงานตั้งแต่ 10.00 – 19.00 น. ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์เท่านั้น และจะต้องขออนุญาตหากต้องอยู่เกินเวลาดังกล่าว โดยต้องขอล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งวัน”

โดยภายใต้นโยบายใหม่ พนักงานสามารถทำงานล่วงเวลาได้ ไม่เกินสามชั่วโมงในวันธรรมดา หรือ 8 ชั่วโมงในวันหยุดสุดสัปดาห์ ตามเอกสาร พวกเขาจะได้รับค่าชดเชยพิเศษสูงสุด 3 เท่าของค่าจ้างปกติ สำหรับการทำงานล่วงเวลา มาตรการดังกล่าวถือเป็นความพยายามล่าสุดของ ByteDance ในการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการทำงานและการปรับปรุงสวัสดิการของพนักงาน

วัฒนธรรมการทำงานที่ทรหดของประเทศจีนที่เรียกว่า ‘996’ เนื่องจากพนักงานมักทำงานตั้งแต่ 9.00 – 21.00 น. 6 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งได้รับการชื่นชมถึงความทุ่มเทมาอย่างยาวนานจากมหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่ Jack Ma ของ Alibaba Group Holding ไปจนถึง Richard Liu ผู้ก่อตั้ง JD.com จนทำให้บริษัทไฮเทค ธุรกิจสตาร์ทอัพ และธุรกิจเอกชนอื่น ๆ นำไปใช้เพื่อประสบความสำเร็จในยุคการแข่งขันสูง

แต่ปีนี้หลังจากมีรายงานการเสียชีวิตของ 2 พนักงานบริษัท Pinduoduo โดย 1 ในนั้นได้ฆ่าตัวตายเนื่องจากทำงานหนัก รวมถึงการร้องทุกข์ทางโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด ศาลสูงสุดประชาชนจีนยืนยันว่า การสั่งให้พนักงานทำงานระยะเวลาเกินสัญญาว่าจ้าง ถือเป็นการละเมิดขั้นร้ายแรงต่อกฎหมายแรงงานจีนที่สมควรต้องยกเลิก ทางการได้เพิ่มคำเตือนให้นายจ้างละเว้นจากการทำงานล่วงเวลาที่ไม่สมเหตุผลและการละเมิดอื่น ๆ

ทั้งนี้ ในเดือนที่ผ่านมามีคนงานภาคเอกชนบางคน รวมทั้งคนงานจาก ByteDance มารวมตัวกันเพื่อประท้วงต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานที่มากเกินไปของประเทศ

Source