จับตาโค้งสุดท้าย ‘อุตสาหกรรมสื่อ’ หลังเปิดประเทศ พร้อมคาดการณ์ปี 65 สื่อไหนรุ่ง-ร่วง

เพิ่งเปิดประเทศไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ทาง ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด (MI Group) ได้ออกมาคาดการณ์ถึงภาพรวมตลาดโฆษณาช่วง ‘โค้งสุดท้าย’ และประเมินถึง ‘ปีหน้า’ ว่าจะเป็นอย่างไร

เปิดประเทศทำตลาดลบน้อยลง

แม้ว่าแบรนด์จะมีความกังวลที่เปิดประเทศ แต่เนื่องจากผลกระทบจากในช่วงไตรมาส 2-3 ที่ผ่านมา ทำให้ภาพเอกชนและหลายอุตสาหกรรมขานรับเปิดประเทศ รวมถึงการยกเลิกเคอร์ฟิวเมื่อ 1 พ.ย. ก็เห็นถึงบรรยากาศคึกคัก กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น คาดว่าเม็ดเงินอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาจะกระเตื้องในโค้งสุดท้ายของปี เหลือติดลบตลอดทั้งปี 2021 เพียง -2.3% ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ของสมาคมมีเดียฯ ที่ติดลบ 2.7% จากที่คาดการณ์เดิม -3% ถึง -5%

“ในช่วง 3 ไตรมาสปีนี้ยังเติบโต 2.1% แต่ที่เห็นเติบโตก็เพราะปีที่แล้วติดลบเยอะ โดยคาดว่าทั้งปีเม็ดเงินอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาจะปิดที่ 73,417 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาปิดที่ 75,000 ล้านบาท ยังไงก็คงไม่มีทางแตะแสนล้านบาทเร็ว ๆ นี้”

ปีหน้าโต 15%

เบื้องต้น MI Group คาดการณ์เม็ดเงินอุตสาหกรรมโฆษณา ปี 2022 +15% หรือมูลค่าเกือบ 85,000 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนเม็ดเงิน โฆษณาออนไลน์ เติบโตแตะ 1 ใน 3 ของเม็ดเงินโดยรวมคือ 32% หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท ในขณะที่สัดส่วน สื่อโทรทัศน์ จะต่ำกว่า 50% เป็นปีแรก โดยคาดว่ามีสัดส่วนที่ 47.4% หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท

ในส่วนของ สื่อนอกบ้านและสื่อโรงภาพยนตร์ จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญหากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 15% หรือ 13,000 ล้านบาท และเม็ดเงินอีกประมาณ 5% หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท จะยังหล่อเลี้ยงอยู่ที่สื่อดั้งเดิมคือ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ

“ช่วงปี 2019 เราเคยคิดว่าอาจใช้เวลา 3-5 ปีในการที่สัดส่วนสื่อทีวีจะต่ำกว่า 50% แต่พอมีโควิดเข้ามา พฤติกรรมคนไปเร็วมาก และภายในปี 2025 สัดส่วนทีวีออนไลน์อาจจะมีสัดส่วนเท่า ๆ กัน ส่วนสื่อโรงภาพยนตร์ต้องรอดูว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจะส่งผลระยะยาวไหม ด้านสื่อ Out Of Home มีแนวโน้มดีขึ้นจากสังคมเมือง แต่เพราะโควิดเลยทำให้ดร็อปไป ซึ่งถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็น่าจะกลับมาเติบโต”

5 อันดับดาวรุ่ง

ในส่วนของสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสดใสเป็นพิเศษในปีหน้า ได้แก่

  1. รถยนต์ โดยเฉพาะ EV หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และมอเตอร์ไซค์
  2. ธุรกิจที่สอดคล้องกับวิถีใหม่ อาทิ E- Market Place, Delivery Service, Streaming Platforms
  3. สินเชื่อส่วนบุคคล
  4. หมวดสุขภาพ ความงาม และสุขอนามัย
  5. ท่องเที่ยวและการพักผ่อนในประเทศ
ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด (MI Group)

จับตาเงินเฟ้อในโฆษณาออนไลน์

ขณะที่สื่อออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ราคาที่ ‘เฟ้อ’ มากขึ้น แต่อาจจะประเมินได้อยาก คาดว่าอาจจะอยู่ที่ 5-15% และที่น่าจะเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญคือ อินฟลูเอนเซอร์ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 30% ในตลาดออนไลน์ โดยเริ่มเห็นความเฟ้อในปีนี้ และปีหน้าจะยิ่งเฟ้อเพราะกลายเป็นหนึ่งในส่วนหลักของมาร์เก็ตเตอร์ที่จะใช้งานและไม่ได้มีระบบ Bidding

ขณะที่แพลตฟอร์มแรงของปีหน้าเชื่อว่ายังคงเป็น TikTok ส่วนแพลตฟอร์มที่อาจจะดร็อปคือ Instagram ที่ถูก TikTok แย่งเวลา ส่วน Twitter ถ้าสถานการณ์ไม่มีอะไรให้พูดคุยก็อาจจะดร็อปลง โดยปีที่ผ่านมามันเติบโตเพราะมีเหตุการณ์พิเศษ อาทิ เหตุการณ์ทางการเมืองให้พูดคุย

ผลิตภัณฑ์บิวตี้เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการแรงกระตุ้นทั้งราคาและรีวิว และรีวิวมีอิทธิพลมากกว่าเล็กน้อย

เตือนภาครัฐเร่งสร้างความมั่นใจ

ภาครัฐยังต้อง เร่งสร้างความมั่นใจต่อคนไทยและชาวต่างชาติ หลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 และยังต้องเร่งการกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามแผนที่ประกาศไว้ คือ คนไทยมากกว่า 70% เข้าถึงวัคซีนครบ 2 เข็มภายในสิ้นปี และเร่งฉีดเข็ม 3 ให้ได้มากที่สุด เน้นลดจำนวนผู้ป่วยวิกฤตและผู้เสียชีวิต และโจทย์ใหญ่ของภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมุมของ MI คือ

  1. สร้างบรรยากาศคึกคัก ความเชื่อมั่น และกระตุ้นการจับจ่าย ของคนในประเทศเป็นหลักหลังอัดอั้นมานาน ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกในการป้องกันและดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด ไม่ให้เกิดการแตะเบรกเอี๊ยดอีกครั้งจาก Mega Cluster ดังเช่น Wave 2 และ Wave 3 ที่ผ่านมา
  2. เน้นกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ มุ่งหารายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก อย่าเพิ่งคาดหวังรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะข้อมูลคาดการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินว่าหลังเปิดจนถึงสิ้นไตรมาสแรกปีหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับมาได้เพียง 15-20%
  3. นโยบายช่วยเหลือ SMEs ไทยอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ที่ไม่ใช่แค่การอนุมัติวงเงินสินเชื่อ หรือโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ผู้ประกอบการยังต้องการความมั่นใจของรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่สถานะการเงินไม่ผ่านเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ จากการบอบช้ำมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย