คาราบาว 30 ปี Branded Content คนไทยทำเอง

การใช้ Branded Content มาช่วยด้านการตลาดให้กับสินค้าและบริการต่างๆ มีเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบในช่วงนี้ ทั้งที่เป็นทั้งรายการ บางส่วนของรายการ และล่าสุดวงดนตรีก็ถูกนำมาพัฒนาในรูปแบบการตลาดลักษณะนี้

วงดนตรีคาราบาว ที่ทำงานมายาวนานถึง 30 ปี ที่น่าจะเรียกได้ว่าถึงวัยโรยลา แต่งานเดิมของคาราบาวยังสามารถใช้งานได้ มีผู้ฟังจำนวนมากยังติดตามฟังอยู่ คาราบาวจึงถูกนำมาพัฒนา ปรับแต่งในรูปแบบของสินค้าทางการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในแง่ของการวางกลยุทธ์ การทำงาน และการหารายได้ Branded Content คาราบาวจึงเกิดขึ้นเป็นอีกกลยุทธ์การตลาดทางดนตรีที่สวนทางกับ Branded Content อื่นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

Refresh Brand คาราบาว

วินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด บอกว่า เริ่มต้นมองตัววงดนตรีคาราบาวก่อนว่าวงนี้สามารถนำมาทำมาร์เก็ตติ้งได้หรือไม่ แบรนด์เก่าเกินไปหรือเปล่า อายุมากเกินไปหรือยัง ซึ่งก็ค้นพบคำตอบว่า เมื่อมาเทียบกับวงดนตรีในต่างประเทศอย่าง The Eagle หรือ U2 จะเห็นว่าวงเหล่านั้น Young at hart ตลอด ยิ่งเก่า ยิ่งเก่ง

เขาจึงตัดสินใจว่า หากนำวงคาราบาวมาทำรูปทรงองค์เอวให้เรียบร้อย จัดระบบ ทั้งภาพลักษณ์ โลโก้ เสื้อผ้า ทำแพ็กเกจใหม่ๆ มาร์เก็ตติ้งน่าจะทำงานได้ แล้วแบรนด์ก็ดูไม่เก่า บวกกับที่เขาทำงานร่วมกับคาราบาวมาหลายครั้ง อีกทั้งเป็นแฟนเพลงคาราบาวเข้มข้นคนหนึ่ง จึงตัดสินใจเดินต่อ

รูปแบบ Branded Content ที่วินิจคิดขึ้นมาคือ โครงการ มหกรรมดนตรีคอนเสิร์ต 30 ปี คาราบาว ที่จะจัดขึ้นทั้งปีจำนวน 100 คอนเสิร์ต 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย การเดินสายแสดงในต่างประเทศ 3 ทวีป 6 ประเทศ งานเอ็กซ์โป ซึ่งจะมีจุดเริ่มต้นจากคอนเสิร์ตที่เวลโลโดมหัวหมาก แล้วเดินสายไปทั่วประเทศ และปิดท้ายที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมงานคาราบาวเอ็กซ์โป

การเปิดประเดิมคอนเสิร์ตที่เวลโลโดม หัวหมากถือเป็น Gimmic อย่างหนึ่งของงานนี้ เพราะเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คาราบาวขึ้นคอนเสิร์ตที่เวลโลโดม แต่ไม่สามารถจบการแสดงได้ ต้องยุติลงก่อนเวลา เพราะผู้ชมตีกันในสนาม และการจัดครั้งนี้คือ วินิจ และทีมงานบอกว่าคือ การชำระประวัติให้คลี่คลาย โดยคาราบาวจะกลับมาเล่นคอนเสิร์ตให้จบต่อจาก 15 ปีที่แล้ว

วินิจ อธิบายด้วยว่า เมื่อมองการทำคอนเสิร์ตคาราบาวลักษณะนี้แล้วก็ต้องมีต้นทุนการจัดงานเข้ามาเกี่ยวข้องทันที จึงเริ่มพัฒนาแนวคิดพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องของวงคาราบาวกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอด 1 ปี ผู้สนับสนุนที่เข้ามาจะเป็นอย่างไร

สิ่งแรกที่เขาทำก็คือ ต้องถามคาราบาวก่อนว่าสนใจหรือไม่ อย่างน้อยก็บอกกล่าวถึงรูปแบบการตลาดที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เพราะนั่นคือ การเหมาการเดินสายคอนเสิร์ตของวงทั้งปี ซึ่งก็คือรายได้ของทางวงที่ต้องขาดหายไป ซึ่งในแต่ละปีวงคาราบาวรับงานแสดงไม่น้อยกว่า 300 งาน หากจะทำรูปแบบนี้ก็ต้องมีการหารายได้ที่ชดเชยกันได้คำตอบที่วินิจได้ก็คือ คาราบาวร่วมด้วย จากที่คุ้นเคยกันมาก่อนทำงานด้วยกันก็หลายงาน

“งานนี้เป็นเรื่องของการทำมาร์เก็ตติ้งนำ เป็นมิวสิกมาร์เก็ตติ้งอย่างแท้จริงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ที่เข้ามา ปัจจัยหลักคืองบประมาณการผลิต การบริหารจัดการทั้งหมดใน 100 โชว์ หากเราจะทำโชว์แล้วขายบัตรต่อใบ ราคาตั๋วต้องอยู่ที่ 3,000 บาท – 5,000 บาทต่อใบ ในแต่ละรอบ เพราะสเกลโปรดักชั่นอื่นๆ หรือทั้งหมดนี้ ลงทุนสูงมาก ตรงนี้เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องใช้กลยุทธ์การตลาดมาเป็นตัวนำ” วินิจให้รายละอียดเพิ่ม

หากมองในมุมกลับอีกด้านหนึ่ง หากวินิจเลือกทำคอนเสิร์ตแบบเดิมตามแนวอนุรักษนิยม คือ หาสปอนเซอร์มา แล้วขายบัตรคอนเสิร์ต 100 คอนเสิร์ต จำนวน 500,000 ใบใน 1 ปี เขาบอกอย่างแน่ใจเลยว่า เจ๊งตั้งแต่คิดแล้ว เพราะจะหาทางจำหน่ายบัตรจำนวนมากมายเหล่านี้ได้อย่างไร และใครจะมาซื้อได้ทั้งหมด

การปรับวิธีคิดด้วยการให้บัตรคอนเสิร์ตเป็นสินค้าของสปอนเซอร์ ดูน่าสนใจขึ้น เพราะฐานลูกค้าในดาต้าเบส CRM ของแต่ละบริษัทแข็งแรงอยู่แล้ว เช่นไทยเบฟฯ ก็แข็งแรง บริษัทไทยประกันชีวิต ตั้งแต่เซลส์ พนักงานขายประกัน ครอบคลุมไปหมด เขาใช้เครื่องมือ อาวุธของแต่ละบริษัทเป็นเครื่องมือสำคัญในการจำหน่ายบัตรออกไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่างจากอดีต

เดินตลาด ถามหาสปอนเซอร์

เมื่อคุยกับวงคาราบาวเรียบร้อย ก็มาถึงงานใหญ่ที่รอวินิจอยู่นั่นคือ การหาผู้สนับสนุนงานนี้ เพราะหลังจากที่ได้วงคาราบาวมาแล้ว การคิดโปรดักชั่นในคอนเสิร์ตตามแผนที่วางไว้ เมื่อลงในรายละเอียดต้นทุนการทำงานสูงมาก เขาเชื่อว่าไม่เคยมีใครเคยลงทุนในอีเวนต์คอนเสิร์ตไทยปีหนึ่งกว่า 300 ล้านบาท

ความตั้งใจของวินิจและบริษัทเฟรชแอร์คือ จะได้สปอนเซอร์กี่รายครบหรือไม่ครบ งานคอนเสิร์ตนี้ก็จะเดินหน้าต่อไป พร้อมที่จะแบกหนี้ แล้วก็หางานทำใช้หนี้ในปีต่อไป

แต่ในความเป็นจริง วินิจก็ได้มีการทดสอบทิศทางตลาด และอารมณ์ของสปอนเซอร์ก่อนเช่นกัน โดยเริ่มจากการโยนหินถามทางกับทัศพล แบเลเว็ลด์ ผู้บริหารไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและแฟนเพลงคาราบาวว่าหากมีคอนเสิร์ตคาราบาว 100 คอนเสิร์ต ใช้เงินประมาณ 30 ล้านบาทในการสนับสนุน สนใจ หรือพอเป็นไปได้หรือไม่ซึ่งทางแอร์เอเชียก็ให้คำตอบว่าสมเหตุสมผล พอช่วยได้

เคสนี้คือการจุดประกายความหวังให้กับวินิจและทีมงานที่ประเมินว่าสปอนเซอร์น่าจะให้การตอบรับเหมือนแอร์เอเชีย แต่นั่นก็คือความหวัง ยังไม่เกิดขึ้นจริงจนกว่าเขาจะเดินเข้าไปคุยและได้สัญญาเป็นสปอนเซอร์กลับมาจากเจ้าของสินค้าที่เขาตั้งเป้าไว้

จำนวนสปอนเซอร์ที่ตั้งไว้คือ 9 ราย แบ่งเป็นรายใหญ่ Title Sponsor จำนวน 1 ราย และ Co-sponsor อีก 8 ราย และต้องได้ผู้สนับสนุนในโมเดลนี้โครงการถึงจะสมบูรณ์ตามที่วางแผนไว้

วิธีการวางตัวสปอนเซอร์ คือ การมองเจ้าของสินค้าที่เชื่อมโยงกับแบรนด์คาราบาวได้อย่างลงตัว พร้อมๆ กับสปอนเซอร์แต่ละรายสามารถต่อยอดธุรกิจหรือสินค้าต่อไปได้ ทั้งในช่วงที่ร่วมคอนเสิร์ตกัน และหลังจากที่โครงการคอนเสิร์ตนี้จบลงแล้ว

“เราคิดถึงว่าสินค้าแต่ละตัวที่เป็นสปอนเซอร์เหมาะกับคาราบาวขนาดไหน เช่น มอเตอร์ไซค์ฮอนด้า เครื่องดื่มคาราบาวแดงก็รู้อยู่ว่าคงปฏิเสธไม่ออก ขนมยูโร บริษัท ปตท. แอร์เอเชีย ไทยประกันชีวิต รถยนต์ฮอนด้า และไทยเบฟฯ”

วินิจกำหนดกลุ่มเป้าหมายสปอนเซอร์ไว้ชัดเจนว่าจะไปหาใคร และสปอนเซอร์ทุกรายต้องสามารถต่อกิจกรรม ร่วมโปรโมชั่นกันได้ ซึ่งแนวคิดนี้ เขาให้นิยามว่า “Crossover Marketing 4.0” ที่มาจากการนั่งระดมความคิดของคน 4 คือ วินิจ ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์ นัดดา บูรณะศิริ และยรรยง อัครจินดานนท์ ที่นั่งถกเถียงกันว่า จะทำอย่างไรที่ทำให้ทุกฝ่าย Win-Win แล้วก็ Win

จากนั้นการเดินชนสปอนเซอร์ก็เริ่มขึ้น ด้วยวิธีการอธิบายตรงๆ ตามแบบที่บอกกับแอร์เอเชีย ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และรายแรกที่ตอบรับกลับมาคือ บริษัทไทยประกันชีวิต ที่วินิจเข้าไปคุยกับ ไชย ไชยวรรณ เอง ตามมาด้วยแอร์เอเชีย และทยอยตามกันมาตามแผนที่วางไว้

ส่วนไทยเบฟฯ ที่มีทั้งเบียร์ช้างและโซดามาเข้าร่วมนั้น คือ การซื้อสปอนเซอร์ทั้ง 2 แพ็กเกจ คือ Title Sponsor และ Co-sponsor

“ไทยเบฟฯ เป็นรายที่ผมเข้าไปติดต่อหลังๆ แล้ว เพราะอยากทดลองกำลังของตัวเองก่อน ทุกคนคิดว่ามีคาราบาวแล้วก็ไปหาเบียร์ช้างสิ แต่ผมเก็บไว้ไปเป็นรายหลังๆ”

แต่ไม่ใช่ว่าการหาสปอนเซอร์จะง่ายดายขนาดนั้น มีรายที่ตอบรับ ก็ย่อมจะต้องมีรายที่ปฏิเสธ รายที่ปฏิเสธก็คือสถาบันการเงินแห่งหนึ่งที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาตามขั้นตอน และทางวินิจไม่สามารถรอได้ กับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือจากต่างประเทศชื่อดัง ที่ให้เหตุผลว่าไม่มีนโยบายทำตลาดในต่างประเทศรูปแบบนี้

ไม่ว่าอย่างไร สุดท้ายวินิจกับบริษัทเฟรชแอร์ ก็ได้ผู้สนับสนุนมาทั้งสิ้น 9 ราย จาก 8 บริษัทใหญ่ มีไทยเบฟฯ ที่ซื้อแพ็กเกจคู่ รวมเงินจากผู้สนับสนุนอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท

Art of Sponsor Management

การได้มาของสปอนเซอร์ทั้ง 9 รายก็ถือเป็นการบริหารสปอนเซอร์ที่ยากลำบากแบบหนึ่ง ช่วงแรกยากในการเดินหาและชักชวน ความยากอันดับที่สองก็คือ การบริหารสปอนเซอร์แต่ละรายให้เกิดความเท่าเทียม และยุติธรรมสำหรับทุกราย

อย่าลืมว่าสินค้าของโครงการนี้คือวงดนตรีคาราบาวเพียงวงเดียวแต่สปอนเซอร์ 9 ราย ทุกคนไม่สามารถนำคาราบาว 1 วงไปใช้งานพร้อมๆ กันได้ ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และลงตัวด้วยกันทุกฝ่ายที่สำคัญแต่ละรายต้องรู้สึกดี และไม่แข่งขันกันเอง

“Title Sponsor และ Co-sponsor ทุกคนเท่ากันหมด เวลาจัดที่นั่งแถลงข่าวในแต่ละจังหวัด จะมีการจับสลากว่าใครนั่งตำแหน่งไหน สลับหมุนเวียนกันไป ไม่ซ้ำกันทุกครั้งที่มีการแถลงข่าว”

การจับสลากถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของการบริหารสปอนเซอร์ เริ่มตั้งแต่การจัดสรรที่นั่งแถลงข่าว การจัดอันดับป้ายโฆษณาในสื่อต่างๆและที่สำคัญการแจกบัตรคอนเสิร์ตให้กับสปอนเซอร์ เพราะในผังที่นั่งจะมีที่นั่งด้านหน้าและด้านหลัง สปอนเซอร์แต่ละรายจะได้การหมุนที่นั่งชมคอนเสิร์ตแบบติดเวทีจากการจับสลากเช่นกัน

แต่ละจังหวัดที่จัดคอนเสิร์ต ที่นั่งหน้าเวทีจะหมุนเวียนให้กับสปอนเซอร์แต่ละราย ตามลำดับที่กำหนดไว้ ซึ่งวิธีการนี้ทำให้สปอนเซอร์พอใจ และบริหารงานได้ง่ายขึ้น

ในส่วนของผลประโยชน์ที่สปอนเซอร์ทุกรายได้รับ วินิจบอกว่า เรามีตั๋วจำกัด รอบละ 5,000 คนเท่านั้น 100 คอนเสิร์ต ก็มีทั้งหมด 500,000 ใบ Title sponsor ได้ไป 30% ต่อรอบ Co-sponsor หรือรอบละ 1,500 ใบ รวมแล้วได้ไป 150,000 ใบ Co-sponsor ได้ไปรายละ 8% หรือรอบละ 400 ใบ รวมทั้งงานคือ 40,000 ใบ ทุกคนได้เท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ยังมีการจัด Meeting สปอนเซอร์ ที่ให้ส่งผู้บริหารด้านการตลาดมานั่งคุยกัน พร้อมหน้า พร้อมตากัน มาแลกเปลี่ยนกัน ได้เห็นตัวคอนเสิร์ตก่อนที่จะเล่นจริง และได้มานั่งคิดกันว่าจะทำอะไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันสูงสุด

การจัดกำหนดไว้ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดที่โรงแรมเอราวัณ ครั้งที่สองจัดที่เฮ้าส์ RCA ซึ่งทั้ง 2 ครั้งได้รับผลตอบรับที่ดี สปอนเซอร์ทุกรายกลายเป็นเพื่อนกัน และครั้งที่ 3 เป็นครั้งสุดท้ายจัดที่เฮ้าส์ RCA ในก่อนวันเริ่มงาน 1 สัปดาห์ ทำให้สปอนเซอร์ได้กลายเป็น Partnership ไปแล้ว

ในส่วนของสิทธิประโยชน์หรือช่องทางในการใช้คอนเสิร์ตนี้สร้างประโยชน์สูงสุดของสปอนเซอร์แต่ละราย วินิจกำหนดคู่มือในการใช้ประโยชน์ให้กับสปอนเซอร์ทุกราย เพื่อให้เข้าใจตรงกัน

“เรากำหนดกติกา หารือกันตั้งแต่ต้นแล้วว่า ขนาดของป้าย ซุ้มโฆษณาจะมีขนาดเป็นเท่าไหร่ ทำได้อะไรบ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง แบบไหนดี หรือไม่ดี บางรายก็จะไปทัวร์คอนเสิร์ต 100 ครั้งเขาคงสละพนักงานไปด้วยไม่ได้ เราก็บริการจัดหาเอาต์ซอร์สมาให้”

ความน่าสนใจของการบริหารสปอนเซอร์กลุ่มนี้ คือ การต่อยอดธุรกิจของแต่ละราย ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่วินิจและทีมงานคิดกัน และเริ่มมีรูปธรรมที่จับต้องได้ให้เห็นกันบ้างแล้ว เขาหวังว่าหลังจากจบโครงการนี้แล้ว สปอนเซอร์ทั้งหมดจะสามารถ Co-promotion ต่อเนื่องกันได้

สิ่งที่เขาคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นก็คือ อาจมีการจับมือร่วมกันของกลุ่มสปอนเซอร์ เช่น เครื่องดื่มคาราบาวแดงปีนี้ มีแผนการตลาดจัดโปรโมชั่นแจกมอเตอร์ไซค์ 500 คันทั่วประเทศ ก็จะซื้อมอเตอร์ไซค์ฮอนด้ามาแจกลูกค้า แอร์เอเชียกำลังมีการเฉลิมฉลองต่างๆ มากมายก็นำรถยนต์ฮอนด้ามาเป็นพันธมิตรอีก ไทยประกันจะเข้าไปทำการตลาดกับลูกค้าของแอร์เอเชียได้อย่างไร หลังจากจบคอนเสิร์ตนี้ก็เริ่มมีการมองหาช่องทางกันแล้ว

ใส่ Event ทั้งก่อนและหลังคอนเสิร์ต

ถ้าคอนเสิร์ต 30 ปีคาราบาวเป็นตัวตั้งต้นของกิจกรรมหลัก สิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนและหลังคอนเสิร์ตทั้ง 100 คอนเสิร์ตก็คือ การจัดกิจกรรม Below the line ของสปอนเซอร์ต่างๆ ที่เข้าร่วม นั่นคือสิ่งที่ผู้จัดทำให้เป็นผลประโยชน์ตอบแทนของผู้สนับสนุน

การกำหนดผู้ชมในแต่ละรอบที่ 5,000 คนทุกคอนเสิร์ต โดยไม่มีการขายบัตรแม้แต่ใบเดียว ผู้ที่อยากชมต้องไปหาบัตรจากสปอนเซอร์ทั้ง 8 ราย

นั่นคือการจัดกิจกรรมก่อนมีคอนเสิร์ต ที่ผู้สนับสนุนจะสามารถทำ Event ให้ลูกค้าของตัวเองเพื่อเป็นทั้งการทำฐานข้อมูล สำรวจความพึงพอใจ การให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยตัวแทนจำหน่าย ผ่านงานคอนเสิร์ตที่เล่น เพราะเป็นการเดินสายทั่วประเทศ

วินิจให้ความเห็นว่า เป็นการให้สปอนเซอร์ได้พบปะลูกค้าโดยตรงและใช้ประโยชน์จากงานนี้อย่างคุ้มค่า ซึ่งกติกาการได้บัตรมาไม่ใช่เรื่องยาก หรือต้องลงทุนมากมาย เนื่องจากสปอนเซอร์ต้องการแจกอยู่ เพียงเข้าร่วมกิจกรรม หรือเล่นเกมง่ายๆ เล็กน้อยเท่านั้น

“สปอนเซอร์แต่ละรายก็คิดวิธีการแจกบัตรง่ายๆ ขึ้นมา แล้วทางเราเป็นแค่ผู้นำไปเผยแพร่ให้ ว่าหากคุณต้องการบัตร สามารถเลือกไปร่วมกิจกรรมของสปอนเซอร์แต่ละรายได้ ชอบรายไหน ก็ไปหารายนั้น”

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นก็คือ บริษัทฮอนด้ามอเตอร์ประเทศไทย ใช้คอนเสิร์ตนี้ในการเปิดตัวรถยนต์อีโค่คาร์ ในรุ่นบรีโอ ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าระดับแมส ราคาถูก ดีลเลอร์แต่ละจังหวัดจะส่งกุญแจสำรองไปให้ลูกค้าเป้าหมาย หรือลูกค้าเก่าเพื่อนำมาไขรถยนต์ฮอนด้าบรีโอ หากไขได้ก็ได้บัตรชมคอนเสิร์ตไป หากไม่ได้ก็ได้ของที่ระลึก แต่ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมของฮอนด้าจะได้รับรู้ข้อมูล ข่าวสารของฮอนด้าบรีโอติดตัวไปด้วย

คาราบาวแดงก็ใช้โอกาสนี้ในการเยี่ยมบรรดาเอเย่นต์ ตัวแทนจำหน่ายในแต่ละจังหวัด เป็นการพบหน้ากันและคุยกัน ผ่านกิจกรรมคอนเสิร์ต

หรือแม้แต่ไทยเบฟฯ ที่มีโซดาตราช้างเป็น Co-sponsor ก็มีสินค้าโซดาสูตรใหม่ “Blue Magic” ออกมาเพื่องานคอนเสิร์ตโดยเฉพาะมีระยะเวลาในการขายเท่ากับอายุงานนี้คือ 1 ปี โดยใช้แนวคิดเครื่องดื่มโซดาที่เหมาะกับงานคอนเสิร์ตในร่ม

ส่วนหลังคอนเสิร์ตก็มี Event พบปะกับวงคาราบาว ก็คือเป็นงานเลี้ยงเอเย่นต์ ตัวแทนจำหน่ายของสปอนเซอร์ไปในตัว

เรียกได้ว่างานคอนเสิร์ตแต่ละครั้งสิ่งที่สปอนเซอร์และแบรนด์จะได้รับก็คือ Brand Experience ที่จัดขึ้นทั้งก่อนและหลังคอนเสิร์ต รวมทั้ง Event ที่จะจัดขึ้นในสถานที่จัดคอนเสิร์ตด้วย

เมื่อเทียบสัดส่วนของลูกค้าสปอนเซอร์ทั้ง 8 รายแล้ว จำนวนบัตร 5,000 ใบ ถือว่าน้อย และบางส่วนอาจไม่ได้บัตร ซึ่งวินิจให้เหตุผลที่เลือกตัวเลขผู้ชมที่ 5,000 คนในแต่ละรอบว่า หากจำนวนผู้ชมขึ้นเป็น 10,000 คน การบริหารจัดการลำบากขึ้น เพราะสเกลที่จัด จะอยู่ในโดมที่จุได้ 5,000 คนแบบสบายๆ ไม่แออัด หากเพิ่มโดมต้องใหญ่กว่านี้เท่าตัว และจากการดูรายละเอียด Ecomomy of scale จำนวนนี้คุ้มค่าที่สุด มากก็นี้ก็ไม่ได้ น้อยกว่านี้ก็ไม่ได้

อีก 2 วงติดต่อขอเดินตามรอยคาราบาว 30 ปี

ถ้าประเมินถึงความสำเร็จในโครงการนี้ จากจำนวนสปอนเซอร์ ก็ถือว่าผ่าน แน่นอนว่าเมื่อโมเดลแบบนี้มีการตอบรับจากผู้สนับสนุนการเดินตามก็ย่อมเกิดขึ้น วินิจยอมรับว่ามีวงดนตรีติดต่อเข้ามาเพื่อให้เขาทำในลักษณะเดียวกับคาราบาว

“ตอนนี้มีวงดนตรีติดต่อมา 2 วง ผมตอบไปว่าอยากโฟกัสโครงการนี้ก่อนผมไม่รีบ น้ำขึ้นค่อยๆ ตักก็ได้ เรียนรู้ไป รักษามาตรฐานไป ไม่อยากเสียชื่อในเรื่องนี้”

ส่วนโมเดลนี้ สามารถใช้กับสินค้าอื่นได้หรือไม่ เขามั่นใจว่าทำยากความเป็นไปได้น้อย หากเป็นวงดนตรีด้วยกันเองแล้ว เขาเชื่อว่า อัสนี-วสันต์ พอที่จะทำได้ แต่ไม่ได้เต็มรูปแบบเหมือนคาราบาว อาจได้ประมาณ 50% ส่วนเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ก็ทำได้ยากเพราะเป็นคนละแนวทางกัน

เมื่อวงดนตรีวงอื่นไม่สามารถทำได้เต็มรูปแบบแล้ว ก็หมายความว่ามหกรรมคอนเสิร์ตคาราบาวอาจกลับมาเฉลิมฉลองครบ 35 ปี หรือ 40 ปีคาราบาว หรือไม่เขาตอบหนักแน่นว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเขาไม่ชอบทำซ้ำของเก่า มหกรรมคอนเสิร์ตคาราบาวจบละแค่ 30 ปีไม่มีภาคต่อ

“แต่การร่วมงานกับคาราบาวยังจะเกิดขึ้นต่อหลังจากที่จบโครงการในปีนี้ และเป็นเรื่องราวใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ได้ตกลงกับทางคาราบาวเรียบร้อยแล้วว่า จะทำด้วยกัน”

มหกรรมดนตรีคอนเสิร์ต 30 ปี คาราบาว ที่เริ่มต้นในเดือนมีนาคมนี้ถือเป็นอีกบทเรียนหนึ่งของการวางกลยุทธ์การตลาดในยุคที่การโฆษณาแบบเดิมไม่อาจสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับเจ้าของสินค้าหรือบริการได้ การคิดหารูปแบบ วิธีการใหม่ๆ จึงต้องเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

วินิจและเพื่อนๆ ของเขากำลังเขียนบทเพลงใหม่ให้คาราบาวเป็นเพลงทีมี่ส่วนผสมของศิลปะและพาณิชย์รวมอยู่ด้วยกัน