Hologram ฝาแฝดดิจิทัล

การใช้ Hologram ในแวดวงบันเทิงและโทรทัศน์ สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อยทีเดียว โดยสถานีโทรทัศน์ CNN ได้นำโฮโลแกรมมาใช้ในการรายงานข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดที่บารัก โอบามา ชนะการเลือกตั้ง

ส่วนในวงการบันเทิงญี่ปุ่นได้นำโฮโลแกรมมาใช้กับคอนเสิร์ตของ X-Japan โดนนำ Hide นักร้องนำที่ล่วงลับไปแล้วมาร่วมร้องเพลงบนเวทีคอนเสิร์ตกับเพื่อนๆ ซึ่งที่ญี่ปุ่นเองมีการพัฒนาสร้างนักร้องดิจิทัลจากโฮโลแกรมขึ้นมาแสดงบนเวที ท่ามกลางเสียงกรี๊ดต้อนรับของแฟนเพลง

ผู้ที่คิดค้นโฮโลแกรมคือ Dennis Gabor วิศวกรไฟฟ้า ชาวฮังการี เป็นผู้ค้นพบหลักการของโฮโลกราฟีโดยบังเอิญ ในวันอีสเตอร์ ปี 1947 ระหว่างที่เขากำลังพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน จากการค้นพบนี้ Dennis Gabor ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ในปี 1971

โฮโลแกรมมาจากเทคนิค “โฮโลกราฟี” (Holography) หมายถึง กระบวนการสร้างภาพโฮโลแกรม ซึ่งเป็นภาพ 3 มิติ โดยเป็นภาพที่บันทึกลงบนฟิล์ม หรือแผ่นเคลือบด้วยสารสำหรับบันทึกแสง ซึ่งผ่านเทคนิคการบันทึกด้วยการใช้แสงที่มีหน้าคลื่นสอดคล้องกัน (Coherence) เช่น แสงเลเซอร์ และเมื่อถูกส่องสว่างอย่างเหมาะสม จะแสดงให้เห็นภาพที่มีลักษณะ 3 มิติ

โฮโลแกรมแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  • White-light Hologram ซึ่งภาพโฮโล-แกรมที่บันทึกนั้นสามารถมองเห็นได้ด้วยการส่องสว่าง ด้วยแสงสว่างจากธรรมชาติ
  • ภาพโฮโลแกรมที่ต้องถูกส่องสว่างด้วยแสงเลเซอร์ หรือแสงที่มีสภาพหน้าคลื่นสอดคล้องกันในระดับหนึ่ง ถึงจะมองเห็นภาพ 3 มิติได้