มาแล้ว! Robinhood Travel เริ่มรับโรงแรมขึ้นแพลตฟอร์ม ชูจุดแข็งเดิม ‘ไม่เก็บค่าคอมฯ’

  • กุมภา’65 เจอกัน! “Robinhood Travel” บุกภาคท่องเที่ยว จองโรงแรม เครื่องบิน ทัวร์/กิจกรรม รถเช่า ชูจุดแข็งเดิม “ไม่เก็บค่าคอมมิชชั่น” และโอนเงินให้พาร์ตเนอร์ไวเป็นรายชั่วโมง ช่วยหมุนกระแสเงินสด
  • อนาคตต่อยอดนักท่องเที่ยวไทยฝั่ง outbound จองโรงแรม 5 ประเทศยอดฮิตผ่านแอปฯ ได้
  • ปีหน้าเตรียมเพิ่มฟังก์ชัน Mart Express, ภาษาอังกฤษ, เชื่อมต่อ mobile payment ธนาคารอื่น เพื่อขึ้นเป็น “ซูเปอร์แอปฯ”
  • กลางปีคาดได้เห็นการระดมทุน Series A ของ Robinhood เล็งเป้าพาร์ตเนอร์เชิงกลยุทธ์ที่ต้องการลงทุนกับกิจการเพื่อสังคม (SE)

หลังจากปล่อยทีเซอร์แย้มๆ มาสักพักว่ากำลังปั้นธุรกิจ Online Travel Agency (OTA) วันนี้ Robinhood ประกาศเปิด “Robinhood Travel” อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเริ่มรับสมัคร “โรงแรม” มาเป็นพาร์ตเนอร์บนแพลตฟอร์ม พร้อมให้บริการลูกค้าจองจริงเดือนกุมภาพันธ์ 2565

รวมถึงจะมีการขยายต่อไปยังการขายตั๋วเครื่องบิน ทัวร์และกิจกรรม และรถเช่าผ่านแอปฯ ได้ด้วย โดยสามส่วนหลังนี้จะเริ่มเปิดให้จองได้เดือนเมษายน 2565

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า จุดแข็งของ Robinhood Travel จะเหมือนกับจุดเริ่มต้นจากฟู้ดเดลิเวอรี่ คือการ “ไม่เก็บค่าคอมมิชชั่น” ธุรกิจโรงแรม เนื่องจากมีปัญหาเดียวกับธุรกิจร้านอาหารที่ถูกเก็บค่าคอมมิชชั่นจาก OTA ต่างประเทศสูงมาก

และเช่นเดียวกันคือโรงแรมขนาดเล็กหรือขนาดกลางจะยิ่งถูกเก็บในอัตราสูงกว่าโรงแรมเชนใหญ่ เพราะมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ทำให้ Robinhood ต้องการเข้ามา ‘ดิสรัปต์’ ตลาดนี้เหมือนกับที่เคยทำมาแล้วในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่

(ซ้าย) “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด และ (ขวา) “สีหนาท ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

“ทางรอดของเราคือเราพบโมเดลของเราเองที่เป็นความไทยมาก นั่นคือ ‘Kindness’ เราเข้าไปด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ไม่เก็บ GP ร้านอาหาร ซึ่งตอนแรกคนก็ไม่เชื่อว่าเราจะอยู่รอดได้อย่างไร แต่เราก็รอดมาได้เพราะร้านค้าพอไม่ถูกเก็บค่า GP เขาก็ไม่ขึ้นราคาจากหน้าร้านหรือไม่ลดปริมาณอาหาร วงจรก็จะเกื้อหนุนกัน เพราะกำไรของร้านค้าไม่ได้ลดลง เขาก็เชียร์ลูกค้าให้ซื้อผ่านเรามากขึ้น” ธนากล่าว

 

ไม่เก็บค่าคอมฯ – โอนไวเป็นรายชั่วโมง

“สีหนาท ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมก่อนเกิด COVID-19 โรงแรมในไทยมี 50,000 แห่ง จำนวนห้องพักรวม 788,000 ห้อง และ 50% ของลูกค้าจะจองผ่าน OTA

การจองผ่าน OTA ที่เป็นลูกค้าคนไทย มูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านบาท แต่โรงแรมไม่ได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะ OTA มีการหักค่าคอมมิชชั่น กรณีเชนโรงแรมใหญ่จะอยู่ที่ 10-15% แต่โรงแรมเล็กจะอยู่ที่ 10-25% แถมถ้าหากโรงแรมต้องการให้ตนเองขึ้นเป็น Top Search บนแอปฯ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 3-5% ทำให้โรงแรมเล็กอยู่ได้ยากมาก

ที่มา: Robinhood

ดังนั้น Robinhood Travel จะมาแก้ปัญหาสำหรับโรงแรม 5 ข้อหลัก คือ

  1. “ไม่คิดค่าคอมมิชชั่น” ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย
  2. “โอนเงินคืนทุกชั่วโมง” จากปกติ OTA มักจะโอนคืนใช้เวลา 3-7 วัน ซึ่งเป็นปัญหามากในกรณีโรงแรมเล็กที่ต้องหมุนกระแสเงินสด
  3. “ระบบ add-on ปรับแต่งเองได้” เช่น ต้องการทำโปรโมชัน flash deal สามารถปรับแต่งเองเลยก็ได้ หรือจะทำแพ็กเกจห้องพัก+ดินเนอร์ก็ได้
  4. “สนับสนุนสื่อโฆษณา” ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อขึ้น Top Search แต่แพลตฟอร์มจะสนับสนุนด้วย Robinhood Stories ฟังก์ชันรีวิวการท่องเที่ยว ช่วยให้ลูกค้าสนใจจอง และทำการตลาดดิจิทัลให้ด้วย
  5. “เก็บดาต้า” เพื่อนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ตรงใจ

ส่วนฟังก์ชันท่องเที่ยวที่จะตามเข้ามาคือตั๋วเครื่องบิน ทัวร์/กิจกรรม รถเช่า ส่วนนี้ธนาระบุว่าจะมีการเก็บค่าคอมมิชชั่น 5-10% แล้วแต่การเจรจา

Robinhood Travel
หน้าอินเตอร์เฟซของ Robinhood Travel

ขณะนี้ธุรกิจสายการบินจบดีลแล้ว 2 ราย คือ ไทยสมายล์ และ นกแอร์ ส่วนอีก 1 รายอยู่ระหว่างพูดคุยคือ แอร์เอเชีย

ทัวร์ กิจกรรม และรถเช่า ส่วนนี้ไม่ได้เน้นเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ แต่ต้องการให้ธุรกิจรายเล็กเข้ามาสมัครด้วยเพื่อช่วยท้องถิ่น เช่น ไกด์ ชุมชนที่เปิดทำกิจกรรม กลุ่มรถเช่าในจังหวัดต่างๆ

 

ตั้งเป้าปีแรกจอง 3 แสนครั้ง

ปัจจุบันแอปฯ Robinhood มีฐานลูกค้าเกือบ 2.4 ล้านราย ซึ่งจะต่อยอดมาใช้ OTA ได้ และมีฐานลูกค้าของไทยพาณิชย์อีก 16 ล้านรายที่เป็นเป้าหมาย รวมถึงชื่อเสียงของ Robinhood ที่เป็นที่รู้จักแล้ว ทำให้ฟังก์ชันนี้น่าจะโตได้เร็ว

ผู้ใช้แอปฯ Robinhood ขณะนี้ส่วนใหญ่ต่อยอดมาจากฐานลูกค้าแบงก์ เป็นคนเมืองวัย 20-39 ปี และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
เป้าหมายปีแรกของ Robinhood Travel
  • โรงแรมเข้าระบบ 30,000 แห่ง
  • นักท่องเที่ยวจองผ่านแอปฯ 200,000 คน
  • จำนวนการจองต่อปี 300,000 ครั้ง
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายให้โรงแรม 200 ล้านบาท
  • ช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน 1,000 ล้านบาท
  • รายได้จากค่าคอมมิชชั่นสูงสุด 50 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธนากล่าวว่า รายได้รวมของ Robinhood ปี 2565 น่าจะอยู่ที่ราว 700-800 ล้านบาท ทำให้รายได้ส่วนท่องเที่ยวจะยังเป็นสัดส่วนน้อยในธุรกิจ แต่การขาดทุนจะน้อยกว่ามากเพราะบริษัทไม่ต้องออกเงินชดเชยค่าส่งให้กับไรเดอร์เหมือนกับฟู้ดเดลิเวอรี่

 

เจาะตลาดคนไทย outbound ไปต่างประเทศ

สเต็ปต่อไปของ Robinhood Travel ธนาเปิดเผยว่ากำลังศึกษาการจับตลาด outbound คนไทยออกเที่ยวต่างประเทศ โดยกำลังเจรจาพาร์ตเนอร์ 5-10 รายเพื่อลิสต์โรงแรมขึ้นแพลตฟอร์ม สำหรับคนไทยจองผ่านแอปฯ Robinhood (กรณีโรงแรมต่างประเทศ บริษัทจะคิดค่าคอมมิชชันตามราคาตลาด)

สำหรับประเทศที่กำลังเจรจาคือ กลุ่มประเทศยอดฮิตของคนไทย 5-6 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐฯ คาดว่ากลางปี 2565 น่าจะเริ่มเห็นการทดลองตลาด

ญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศท่องเที่ยวยอดฮิตของคนไทย (Photo by Tomohiro Ohsumi/Getty Images)

ในอีกมุมหนึ่ง บริษัทสนใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ inbound ด้วย แต่กรณีนี้จะดำเนินการยากกว่า เนื่องจาก Robinhood ไม่ได้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ดังนั้น อาจต้องเลือกจับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อเข้าไปเปิดหน้าร้านในซูเปอร์แอปฯ ของประเทศอื่น โดยต้องหามุมที่น่าสนใจให้ชาวต่างชาติจองผ่าน Robinhood

ขณะนี้ประเทศที่กำลังพูดคุยคือ “จีน” เพราะเป็นตลาดใหญ่ของท่องเที่ยวไทยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คาดว่าจีนจะไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกมาจนถึงปี 2566 ดังนั้น ยังมีเวลาในการเจรจา

 

ปีหน้าเดินหน้า “ซูเปอร์แอปฯ” เปิดระดมทุน Series A

แผนการปีหน้าของ Robinhood ไม่ได้มีเฉพาะการเปิด Travel แต่จะมี Mart Express มาในช่วงไตรมาส 2 โดยจะเน้นการขายและเดลิเวอรีสินค้ากลุ่มพรีเมียมที่เหมาะกับลักษณะฐานลูกค้าของแพลตฟอร์ม เพื่อให้แตกต่างจากเจ้าอื่นที่ทำอยู่

นอกจากนี้ ไตรมาส 3 จะเริ่มมีเวอร์ชันภาษาอังกฤษเพื่อเจาะ expat ในไทย และมีการเชื่อมให้ชำระเงินผ่าน mobile payment ธนาคารอื่นได้แล้ว

ภาพรวมปีหน้า Robinhood จะกลายเป็น ‘ซูเปอร์แอปฯ’ คาดหวังฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านราย และจะทำให้แอปฯ มีหลายธุรกิจสำหรับจัดแพ็กเกจร่วมกันได้ เช่น จองโรงแรมผ่าน Travel พ่วงแพ็กเกจอาหารระหว่างท่องเที่ยว เป็นต้น

เมื่อเป็นซูเปอร์แอปฯ ที่มีฐานลูกค้าและมี Gross Merchandise Value (GMV) มากพอ จะทำให้แอปฯ เปิดระดมทุนรอบ Series A ได้เป็นก้าวถัดไป ซึ่งอาจจะได้เห็นช่วงกลางปี 2565 และทำให้บริษัทยืนด้วยตนเองหลังจากที่ผ่านมารับเงินลงทุนตั้งต้นจาก ‘ยานแม่’

ส่วนตั้งเป้าระดมทุนเท่าไหร่และจากใคร ยังเปิดเผยไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ Robinhood ต้องการพาร์ตเนอร์เชิงกลยุทธ์ที่จะมาช่วยต่อยอดด้านอื่นนอกจากเรื่องเงินทุน และเป็นคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันในการทำกิจการเพื่อสังคม (SE) อย่างที่เคยเป็นมา!