เดินทางมาได้ครบ 1 ปีเเล้วกับ Robinhood (โรบินฮู้ด) ฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย ที่มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการช่วยเหลือ ‘คนตัวเล็ก’ ให้อยู่รอดผ่านวิกฤตโควิด สั่นสะเทือนวงการด้วยการประกาศ ‘ไม่เก็บค่า GP’ ร้านอาหารเเม้เเต่บาทเดียว
เเละต่อจากนี้ไปคือการขยายบริการไปยังธุรกิจท่องเที่ยว จองโรงแรม–ตั๋วเครื่องบิน-ทัวร์ ซื้อของเเละส่งของ ตามเป้าหมายการเป็น ’ซูเปอร์แอป’ เตรียมตัวระดมทุนใหญ่ ในปี 2565 เเละจะเพิ่มการลงทุน 4-5 พันล้านในปี 2566
หากคิดว่า Robinhood เป็นเด็กคนหนึ่ง ก็นับเป็นเด็กที่ ‘โตเร็วมาก’ เพราะปัจจุบัน หลังทำมาเพียงปีเดียว ก็มีลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้งานเเพลตฟอร์มไปเเล้วถึง 2.3 ล้านคน มีร้านอาหารเข้าร่วมกว่า 164,000 ร้าน และมีไรเดอร์ 26,000 คน ออเดอร์ต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 150,000 ออเดอร์ โดยยอดสั่งออเดอร์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 750% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.ปีที่ผ่านมา
ยิ่งในช่วงกลางปีที่มีการ ‘ล็อกดาวน์รอบสอง’ Robinhood ได้ออกมาตรการพิเศษ ‘ส่งฟรีทุกออเดอร์ช่วงล็อกดาวน์’ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คนในสังคม ซึ่งแคมเปญนี้ได้กลายเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ ที่ทำให้เเพลตฟอร์มเติบโตได้แบบก้าวกระโดด
โดย 5 อันดับเมนูอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว (ขายดีถึง 3.7 ล้านชาม) ชานมไข่มุก อาหารจานเดียว แซลมอน และกาแฟ ส่วนพื้นที่ที่มีการจัดส่งมากที่สุด ได้แก่ จตุจักร ห้วยขวาง บางกะปิ ลาดพร้าว สายไหม บางเขน สวนหลวง ดินแดง ประเวศ และวังทองหลาง
“กลุ่มลูกค้าหลักของ Robinhood ขยายจากคนตัวเล็กสู่วงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การให้บริการอื่นๆ ได้ เช่น ชวนไปเที่ยว ชวนไปช้อป”
วิถีมวยรองของ Platform of kindness
ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทลูกในเครือ SCBX ผู้พัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์ม Robinhood เล่าให้ฟังถึง เส้นทางการเรียนรู้เเละลองผิดลองถูก ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สรุปได้เป็น 5 บทเรียนสำคัญคือ
1.ฐานลูกค้า ที่ใช้บริการแพลตฟอร์มจะเป็นพลังสำคัญที่จะนำ Robinhood ก้าวสู่ความเป็นซูเปอร์แอป (super app) ในอนาคต
2. Platform of kindness จุดเด่นของการแพลตฟอร์มที่ชูความ “ช่วยเหลือและมีน้ำใจ” ต่อกัน มีแรงดึงดูดผู้คนไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์ ช่วยเหลือกัน นับเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้แพลตฟอร์มสามารถเติบโตต่อไปได้
3.ความสนุกของการได้ลงมือทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นได้ มีความอยากที่จะเรียนรู้พัฒนาไปเรื่อยๆ เเละมีโจทย์ใหม่ๆ มาให้ทดลองอยู่เสมอ
4.มาตรฐานโอลิมปิก คือ การที่เมื่อคิดจะลงมือทำอะไรให้คิดไปถึงมาตรฐานโอลิมปิก เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากลสู้กับคู่เเข่งยักษ์ใหญ่ที่มาจากต่างประเทศได้
5. วิถีมวยรอง เล่นเกมธุรกิจที่มีความเเตกต่าง ใช้เงินทุนน้อยกว่า จำนวนคนน้อยกว่า เเละไม่ได้มุ่งหวังจะไปแข่งชิงเบอร์ 1 กับเจ้าตลาดที่แข็งแกร่ง แต่ต้องพยายามหาตำแหน่งทางการตลาดของตัวเองให้ได้ เป็น “มวยรอง” ที่มีจุดยืนชัดเจน
ปรับไซซ์ใหญ่ สู่ ‘ซูเปอร์เเอป’
ก้าวต่อไปของ Robinhood จึงถึงเวลาที่จะขยายไปให้กว้างเเละใหญ่ขึ้น หลากหลายมิติมากขึ้น นอกจากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ เเต่ก็ยังจะต้องคงคอนเซ็ปต์การช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ช่วยคนไทย
สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บอกว่า Robinhood กำลังจะเดินเข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ที่เป็น Non-Food ได้แก่
บริการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน กิจกรรมท่องเที่ยว รถเช่า ประกันภัย (Online Travel Agent) สร้างทางเลือกและช่วยผู้ประกอบการ SME ไทย ให้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ตัวแทนในการขายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์
บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า (Mart Service) เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขายและเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้ประกอบการได้เจอกับลูกค้าโรบินฮู้ดซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและพร้อมซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ
บริการรับ–ส่งของ (Express Service) แบบ on-demand เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัวแบบก้าวกระโดด
ชำระเงินข้ามแพลตฟอร์ม เพิ่มฟีเจอร์เเชท-ให้ทิป
สำหรับธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เป็นธุรกิจเริ่มต้นของ Robinhood นั้นจะมีเเผนการให้บริการสู่ต่างจังหวัด หลังตีตลาดในกรุงเทพฯ เเละปริมณฑลได้สำเร็จเเล้ว
ในปี 2565 เตรียมปักหมุดนำร่องที่ 3 จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี ก่อนขยายไปหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศต่อไป ซึ่งบริษัทจะมีการ ‘เพิ่มฟีเจอร์ใหม่’ เข้าไปเรื่อยๆ อย่างเช่น
–การให้คะเเนนรีววกับร้านค้าและไรเดอร์
–รีพอร์ตสำหรับร้านค้าที่จะได้เห็นข้อมูลสถิติการซื้อขายของตัวเอง
–ให้ร้านค้าสามารถสร้างโปรโมชันได้เองในหน้า Landing Page ปรับเลือกหน้าเพจได้เอง
–โปรเเกรม subscription ฟีเจอร์แชทกับไรเดอร์
–ให้ทิปกับไรเดอร์
สำหรับการชำระเงินนั้น ผู้บริหาร Robinhood ยืนยันว่าจะเน้นการเป็น Cashless 100% เพื่อสนับสนุนสังคมไร้เงินสด เเละมีความปลอดภัยเนื่องจากผู้ซื้อเเละไรเดอร์ไม่ต้องจับเงินสดเลย อีกทั้งเงินยังโอนเข้าร้านค้าได้เร็วนำไปหมุนเวียนธุรกิจได้เร็วกว่า
“เพื่อให้ผู้บริโภคชำระเงินอย่างสะดวก Robinhood จะจับมือกับผู้ให้บริการ Mobile Banking อีก 2 – 3 ราย รวมถึงกลุ่ม Non-Bank ให้ลูกค้าสามารถชำระเงินข้ามแพลตฟอร์มได้ โดยไม่ต้องใช้บัญชี SCB อย่างเดียว ซึ่งกำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้”
นอกจากนี้ การมาของยานเเม่ SCBX ที่ปลดล็อกธนาคารร้อยปี เเละ Re-imagine ไทยพาณิชย์ให้เป็น ‘บริษัทเทค’ ยุคใหม่นั้น
Robinhood ก็จะมีผสานพลังความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ในกลุ่ม SCBX เช่น Auto X, Card X, Data X, SCB Tech X เป็นต้น เพื่อหาลูกค้า (customer acquisition) พร้อมการนำเอาข้อมูลดาต้ามาต่อยอดด้านสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่น ๆ รวมไปถึง การทำโฆษณา ทำโปรโมชันกับลูกค้า เพื่อประโยชน์สูงสุดของร้านค้า และลูกค้า
“เราวางแผนเตรียมระดมทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแพลตฟอร์มและมุ่งพัฒนาบริการ ปูทางสู่การเป็นซูเปอร์แอปสัญชาติไทยอย่างเต็มตัว ที่พร้อมรองรับบทบาทการเป็นผู้ให้บริการในระดับภูมิภาค (regional player)”
ระดมทุนเพื่อการเติบโต
จากเงินทุนตั้งต้น 150 ล้านบาทในช่วงเเรกของการเปิดตัว วันนี้ Robinhood เตรียมการระดมทุนกว่า 1,000 – 3,000 ล้านบาท ในช่วงกลางปี 2565 จากนั้นตั้งเป้าจะสู่ 4,000-5,000 ล้านบาท ภายในปี 2566 เพื่อเป้าหมายการเป็น ’ซูเปอร์แอป’ ให้ได้ในเร็ววัน พร้อมขยายไปในตลาดอาเซียน
ธนาบอกว่า ในช่วงกลางปี 2565 Robinhood จะเริ่มโรดโชว์กับเหล่านักลงทุนเพื่อระดมทุนต่อยอดแผนธุรกิจขยายจากธุรกิจอาหารไปยังบริการอื่นๆ เน้นการบริการที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
Robinhood ตั้งเป้าว่าปีหน้าธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทจะมีการเติบโตต่อเนื่อง เเบ่งเป็นธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ หลังขยายไปยังต่างจังหวัดจะต้องมีผู้ใช้งาน 4 ล้านบัญชี เพิ่มร้านค้าเป็น 3 แสนร้าน
ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว ต้องมีโรงแรม ที่พัก และผู้ให้บริการทัวร์ต่าง ๆ ลงทะเบียนกับระบบ 45,000 ราย มีการจองมากกว่า 4.8 แสนครั้งโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น
บริการ Mart Service ต้องมีผู้ใช้งาน 1.5 ล้านราย และมี 8,000-10,000 ร้านค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มใด ๆ อยากมาจำหน่ายสินค้ากับ Robinhood
ส่วนธุรกิจ Express เจากลุ่มอีคอมเมิร์ซ ต้องมีลูกค้าองค์กรมากกว่า 5,000 ราย และมีการใช้บริการอย่างน้อย 4,000 ครั้งต่อเดือน
สำหรับการบุกตลาด Online Travel Agent นั้น ผู้บริหาร Robinhood มองว่าเป็นธุรกิจที่มีความท้าทายสูง การเเข่งขันสูง เเละก็มีศักยภาพสูงเช่นกัน ยิ่งในประเทศไทยที่พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลัก
“การผสานระหว่าง Food และ Travel น่าจะไปด้วยกันได้ดี เช่นอาจจะมีการจองโรงเเรมเเล้วเเถมโปรโมชันส่งอาหารจาก Robinhood ฟรี”
ด้านรูปเเบบการการหารายด้ ยังยืนยันว่า จะมีไมีการเก็บค่า GP จากร้านอาหาร – โรงแรมที่เข้าร่วมบนแพลตฟอร์ม เเต่จะไปหารายได้ผ่านช่องทางอื่น อย่างการ รายได้จากค่าโฆษณา , รายได้จากการเก็บ GP ในธุรกิจ Mart Service, Express และ Non-Travel Services เเละการต่อยอดทำธุรกิจสินเชื่อ (Lending)
“ยอมรับว่าปีหน้า เราก็ยังจะขาดทุนเหมือนเดิม เพราะเราไม่เก็บ GP ร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยว เเต่จะมีรายได้เข้ามาจากธุรกิจ Mart – Express ซึ่งเราจะเก็บให้น้อยที่สุดในตลาด คิดว่าจะขาดทุนไปอีกสัก 1-2 ปี เเต่สิ่งสำคัญคือการขาดทุนจะลดน้อยลงเรื่อยๆ นักลงทุนจึงจะพิจารณาจากศักยภาพในการเติบโตในอนาคตมากกว่า”