การมาของยานเเม่ SCBX ปลดล็อกธนาคารร้อยปี Re-imagine เป็น ‘บริษัทเทค’ ยุคใหม่

ยานเเม่ SCBX สร้างเเรงกระเพื่อมให้วงการธุรกิจไทยไม่น้อย เมื่อธนาคารเก่าเเก่นับร้อยปีอย่างไทยพาณิชย์กำลังจะปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ พลิกภาพจำเก่าๆ ไปอย่างสิ้นเชิง

“SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีกเป็นคำประกาศที่ทำให้หลายคนตื่นเต้นว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป เเม้ว่าการเเปลงสภาพมุ่งสู่การเป็นบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่าย เเต่ถ้าไม่ทำตอนนี้ ก็อาจจะสายเกินไป

ขั้นเเรกต้องไม่จำกัดตัวเอง

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่าว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังวิกฤตโควิด รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ (business model) ในแบบ intermediaries หรือการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง

เนื่องจากจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลงตามไปด้วยส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น SCB จะต้องไม่จำกัดตัวเอง อยู่ที่การเป็นธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารในปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เติบโตเเละอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้ เป็นการ Re-imagine จินตนาการใหม่ว่า 

“SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน ที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคล ที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้” 

นี่เป็นจุดสำคัญของการจัดตั้งบริษัทเเม่ขึ้นมาใหม่ในชื่อว่า SCBX (เอสซีบี เอกซ์) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวเเละขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ สร้างเเพลตฟอร์มเทคโลยีขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก

โดยวางเป้าหมายในอีก 5 ปีว่า SCBX จะมีฐานลูกค้ารวมกัน 200 ล้านคน ในระดับภูมิภาค เป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตเเคปเเตะ 1 ล้านล้านบาท (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 3.7 เเสนล้านบาท)

การเเตกย่อยบริษัทไปยังธุรกิจต่างๆ ทั้งฟินเทค สตาร์ทอัพเเละสินทรัพย์ดิจิทัลของ SCB ครั้งนี้ ถือเป็นการปลดล็อก’ ข้อจำกัดและดำเนินกิจการภายใต้โครงสร้างของแบงก์ที่เเต่เดิมจะทำได้ไม่เต็มที่นัก

ทำความรู้จักยานเเม่’ SCBX

การที่ทีมงานได้เรียกว่ายานเเม่นั้น ทำให้คนทั่วไปเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น สื่อให้เห็นถึงการโอนย้ายธุรกิจต่างๆ ในเครือเข้ามาอยู่ภายใต้ SCBX 

ส่วนที่มาที่ชื่อ SCBX นั้น ซีอีโอของไทยพาณิชย์ บอกว่ามาจากเครื่องหมายยกกำลัง (x) ที่สื่อถึงการเติบโตเเบบยกกำลังเเละขยาย (expansion) ออกไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีแค่ธนาคารเหมือนเเต่ก่อน

โดยโครงสร้างใหม่ที่จะขยายจากธุรกิจเเบงก์ เพิ่มขาธุรกิจเทคโนโลยี และการลงทุน เพื่อหารายได้อื่นนั้น แบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ

  • ธุรกิจ Cash Cow กลุ่มที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงเเต่อัตราการเติบโตต่ำอย่างธนาคารธุรกิจประกัน ฯลฯ
  • ธุรกิจ New Growth จับตลาด Blue ocean ของใหม่ที่มีโอกาสเติบโตได้สูงอย่างสินเชื่อดิจิทัลดาต้าสินค้าเเละบริการด้านเทคโนโลยีต่างๆ

สิ่งที่น่าจับตา คือการพัฒนากลุ่ม New Growth ที่ทาง SCB ได้เเตกไลน์เป็นบริษัทย่อยที่มีทีมบริหารเเยกออกจากกัน เเต่ยังประสานงานกันได้ดี เพราะส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกหม้อที่ทำงานกับอยู่เเบงก์มานานหลายปี 

อย่าง ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ มือเก๋าของไทยพาณิชย์ ที่ตอนนี้ดูแล SCB 10X ก็จะเข้าไปดูเเล SCB-CP Group JV เเละสารัชต์ รัตนาภรณ์ ที่ทำงานกับ SCB มานานกว่า 20 ปี ก็จะมาดูแลบริษัทที่ตั้งใหม่อย่าง Card X ด้วย 

SCBX จะยังอยู่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (แต่ในส่วนของใบอนุญาตต่างๆ บริษัทในเครือจะเป็นผู้ขอใบอนุญาตในการดำเนินกิจการ) ซึ่งจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในหลากหลายธุรกิจ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ถึง 15 บริษัท เเละยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังจะเปิดตัว ยกตัวอย่างเช่น

Robinhood – เเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีที่จะขยายไปเป็นซูเปอร์เเอปฯ

Alpha X – ธุรกิจปล่อยสินเชื่อสำหรับรถหรู ที่ร่วมมือกับ Millennium Group

Auto X – ธุรกิจปล่อยสินเชื่อลีซซิ่ง จับกลุ่มคนรายได้น้อยปานกลาง

Card X – ธุรกิจบัตรเครดิตที่จะโอนออกจากแบงก์

Data X – ธุรกิจข้อมูลดิจิทัล

Tech X – ธุรกิจเทคโนโลยี หาพันธมิตรเป็นบริษัทเทคระดับโลก

TokenX – ธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร

AISCB – ธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล ร่วมมือกับโทรคมนาคมรายใหญ่อย่าง AIS

ในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น SCB จะขยายเข้าสู่ digital asset business ผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว

โดยกลุ่มไทยพาณิชย์ เพิ่งจับมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ร่วมกันก่อตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ (18,000-24,000 ล้านบาท) มุ่งเน้นการลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อกเชน สินทรัพย์ดิจิทัล เทคโนโลยีด้านการเงินและเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก ซึ่ง SCB 10X ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เข้าร่วมบริหารจัดการกองทุนดังกล่าวนี้

เหล่านี้ ถือเป็นบ่อทองเเห่งใหม่ที่ SCB จะต้องขุดขึ้นมา เเละปลุกปั้นให้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าบริษัทย่อยต่างๆ จะต้องสามารถเติบโตได้ตามตลาดยุคใหม่ และเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ได้ในที่สุด

ถอนหุ้น SCB ออกจากตลาดฯ เเทนด้วย SCBX

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้เเจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เเห่งประเทศไทย (ตลท.) เตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 .. 2564 เพื่ออนุมัติขอ ‘Share Swap’ โอนย้ายผู้ถือหุ้น SCB ไปบริษัทเเม่อย่าง SCBX เเละนำ SCB ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ

ในกรณีผ่านการอนุมัติเเล้ว SCBX จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารไทยพาณิชย์จากผู้ถือหุ้น โดยการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับหุ้นของ SCB ในอัตรา 1:1 ซึ่งคาดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2565

โดยกระบวนการนี้ จะมีการโอนหุ้นที่ SCB ถือในบริษัทย่อยทั้งหลาย รวมทั้งธุรกิจบัตรเครดิตเเละสินเชื่อส่วนบุคคลไปให้ยานเเม่อย่าง SCBX

พร้อมได้เสนอให้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล เป็นกรณีพิเศษ มูลค่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้กว่า 70% จะถูกนำไปใช้ในเพื่อการถ่ายโอนธุรกิจ ตั้งบริษัทใหม่ และลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีก 30% จะเป็นเงินทุนหมุนเวียนเเละเก็บไว้จ่ายปันผลรอบปี 2565

ทั้งนี้ ธนาคารได้ดำเนินการแต่งตั้ง บล.เกียรตินาคินภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นแก่ผู้ถือหุ้นของธนาคาร โดยได้พิจารณากำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 ในวันที่ 6 ..64

ด้านกระเเสตอบรับในตลาดฯ วันเเรกหลังการเเถลงข่าว พบว่า (23 ..64) ราคาหุ้น SCB ปิดที่ 130.00 บาท เพิ่มขึ้น 20.50 บาท หรือ 18.72% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 20,295.52 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งระหว่างวันราคาปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 137.00 บาท และต่ำสุดที่ 124.50 บาท

“แบงก์ SCB ยังไม่หายไปไหน ยังคงเป็นธนาคารที่ให้บริการลูกค้าเหมือนเดิม โลโก้เดิม บริการต่างๆ ลูกค้าทำก็ยังคงใช้บริการได้ปกติ”

-ไทม์ไลน์การเพิกถอนหุ้น SCB เเละนำ SCBX เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯแทน

ลูกค้า 200 ล้านคน ไม่ไกลเกินเอื้อม 

สรุปเป้าหมายสำคัญของไทยพาณิชย์ในปี 2568 ก็คือ การสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ ที่นอกเหนือจากผลกำไรพื้นฐานและความมั่นคงของธุรกิจธนาคารหลัก 

รวมไปถึงการสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ถึง 200 ล้านคน (ปัจจุบันอยู่ที่ 16 ล้านคน) และการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก

เเน่ชัดว่าถ้าอยากได้ลูกค้าหลายร้อยล้านคน เเค่ในตลาดไทยคงไม่เพียงพอ จะต้องมีการขยายธุรกิจใหม่ออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งช่วง 2-3 ปีนี้ ก็จะมีการขยับรุกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียน ที่มีเเนวโน้มการเติบโตสูง อย่างอินโดนีเซียเวียดนามเเละฟิลิปปินส์

เราจะไม่เน้นขยาย Commercial Bank ในต่างประเทศเเล้ว เเต่จะเน้นไปที่ธุรกิจการเงินดิจิทัล การลงทุนเเละเทคโนโลยีอื่นๆ มองการเติบโตทั้งเเบบกว้างเเละลึก

เป็นอีกภารกิจเชื่อมต่อ ecosystem ทั้งในและต่างประเทศที่ต้องรอดูว่าจะมีอะไรออกมาเซอร์ไพร์สกันอีกบ้าง

ความเคลื่อนไหวใหญ่ที่สร้างปรากฏการณ์ของธนาคารเก่าเเก่อายุ 116 ปีครั้งนี้ จึงไม่ใช่เเค่เป็นการขยายธุรกิจธรรมดาๆ เเต่เป็นการ Re-imagine สถาบันการเงิน พร้อมขึ้นยานรุ่นใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

งานนี้ ฟากเเบงก์คู่เเข่งเจ้าอื่น คงไม่ยอมกันง่ายๆ ต้องเตรียมงัดสารพัดของเด็ด ออกมาสู้กันในสมรภูมิการเงินยุคใหม่เเบบดุเดือดยิ่งกว่าเดิมเเน่ๆ