บทเรียนก้าวเเรกของ ‘Robinhood’ ได้ใจร้านเล็ก กับเส้นทางอนาคต เมื่อจะไม่เก็บค่า GP ‘ตลอดไป’

เป็นเวลาร่วม 3 เดือนกว่าเเล้วที่ ‘Robinhood’ น้องใหม่ฟู้ดเดลิเวอรี่ฝีมือคนไทยจากค่ายเเบงก์ SCB เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ท่ามกลางความลุ้นระทึกว่าจะ ‘รอด’ หรือจะ ‘ร่วง’ 

จากเป้าหมายเล็กๆ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส หวังจะช่วยร้านอาหารไทยที่กำลังประสบปัญหาอ่วมค่า GP’ ให้เหลือรายได้เพิ่มขึ้น จนมาถึงวันนี้ที่ Robinhood ‘สอบผ่าน’ มีกระเเสตอบรับอย่างดี เเละพร้อมประกาศจะไม่เก็บค่า GP ตลอดไป

อะไรคือสิ่งที่ ‘Robinhood’ ได้เรียนรู้ เป้าหมายที่เเท้จริงเเละเส้นทางธุรกิจต่อไปจะเป็นเช่นไร จะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ เเบบไหนที่กำลังจะปล่อยออกมาลองของในตลาดอีกบ้าง Positioning จะพามาหาคำตอบกัน

อินไซต์น่าสนใจของ Robinhood

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการอัปเดตตัวเลขสถิติผู้ใช้เเอปพลิเคชัน Robinhood ออกมาให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยรวมถือว่าเกินคาดจากเป้าหมายที่ทีมงานวางไว้

  • มีลูกค้าทะเบียนในระบบกว่า 580,000 ราย
  • ร้านอาหารในระบบกว่า 55,000 ร้านค้า
  • ไรเดอร์ที่พร้อมให้บริการกว่า 11,500 ราย
  • ยอดสั่งอาหารออเดอร์เดียวสูงสุด 3,528 บาท
  • ลูกค้าสั่งอาหารไกลที่สุด 45 กิโลเมตร
  • มีลูกค้าคนเดิมสั่งอาหารสูงสุดถึง 18 ออเดอร์ใน 1 สัปดาห์
  • รายการอาหารทั้งหมดในระบบ 1.6 ล้านรายการ
  • มีร้านอาหารกว่า 8,200 ร้าน เข้าร่วม LS ที่ให้ส่วนลดกับลูกค้า
  • มีปลาแซลมอนรวมกว่า 5 ตันถูกสั่งจากเเอป Robinhood
  • ไรเดอร์คนหนึ่งเคยรับงานสูงสุดถึง 44 งานต่อวัน
  • 74% ของไรเดอร์ เลือกทำ Robinhood เป็นงานเสริม
10 ร้านอาหารยอดนิยมบน Robinhood 
  • มนต์นมสด (สาขา เสาชิงช้า)
  • รุ่งเรืองตั๋ง ก๋วยเตี๋ยวหมูสุขุมวิท 26 (เจ้าเก่า) ห้องหัวมุม
  • Oba San 168
  • หน่องริมคลอง
  • ไก่ทอดเจ๊กี (โปโล)
  • โจ๊กสามย่าน บรรทัดทอง
  • ข้าวหมูแดงสีมรกต
  • ประจักษ์เป็ดย่าง
  • ซ้งเป็ดพะโล้
  • ไข่หวานบ้านซูชิ จามจุรีแสควร์

คำค้นหายอดนิยมสูงสุด ได้เเก่ แซลมอน, โจ๊ก, ก๋วยเตี๋ยว, ข้าวมันไก่เเละส้มตำ

พื้นที่ที่มีการสั่งออเดอร์เยอะที่สุด ได้เเก่ จตุจักร, ห้วยขวาง คลองเตย

โดยไรเดอร์มีช่วงเวลาในการรับงานเฉลี่ย 12 วินาทีต่อการสั่ง เเละมีรายได้จากการให้บริการรับส่งอาหารเฉลี่ยรอบละ 40-50 บาท 

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

‘ไม่มีคนชมว่าเราถูก เเต่ก็ไม่มีใครด่าว่าเราแพง’ 

คำกล่าวของ โจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทลูกของ SCB ที่พัฒนา Robinhood ขึ้นมาเป็นหนึ่ง CSR Project ของธนาคาร ที่ได้รับเงินทุนเพื่อช่วยสังคมราว 150 ล้านบาทต่อปี

การฉีกเเนวธุรกิจเเบงก์ มาลงทุนในศึกฟู้ดเดลิเวอรี่’ เมืองไทยของ SCB ครั้งนี้ สั่นสะเทือนวงการไม่น้อย จี้จุด Pain Point อย่างการไม่คิด GP ไม่คิดค่าสมัคร โอนเงินไวใน 1 ชั่วโมง

ท่ามกลางศึกฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เเข่งขันกันดุเดือดเลือดพล่าน ‘เผาเงิน’ เเจกโปรโมชันกันเป็นว่าเล่น เเม้ตอนเเรก Robinhood บอกว่าจะไม่ทุ่มงบการตลาดเเบบเจ้าอื่น เพราะในงบร้อยกว่าล้านต่อปีนั้น เป็นงบที่รวมทุกอย่าง’ ทั้งการจัดการ พนักงาน ระบบหลังบ้านและเครือข่าย ซึ่งจะมีงบด้านการตลาดเหลืออยู่ไม่ถึง 20 ล้านบาท จึงเลือกจะไม่นำไปใช้เพื่ออัดโปรโมชัน

เเต่ตอนนี้หลังได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากๆ ก็จำเป็นต้อง ‘ขอทุนเพิ่ม’ จากบอร์ดบริหารเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโต

ปัจจุบัน Robinhood รั้งอันดับ 4 ในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เมืองไทย (ไม่ได้เป็นตัวเลขทางการ) เเต่ทางทีมประมาณการจากสถิติการสั่งออเดอร์ โดยอันดับ 1 เป็นของเจ้าใหญ่อย่าง GrabFood รองลงมาคือ FoodPanda ส่วนอันดับ 3 เป็นของ LINE MAN เเละตามมาด้วย Robinhood

LS is Key : เพราะไม่มีค่า GP จึงมีส่วนลดจาก ‘ร้านค้า’ 

กลยุทธ์การตลาดหลักๆ ที่ Robinhood จะนำมาทำโปรโมชันคือ LS ส่วนลดจากร้านค้าเอง ซึ่งเกิดจากการที่ทีมงานได้เข้าไปพูดคุยกับร้านค้าว่า เมื่อไม่เสียค่า GP ราว 30-35% (คอมมิชชันที่ต้องจ่ายให้เเพลตฟอร์ม) เเล้ว พอจะให้ ‘ส่วนลดเพิ่มเติม’ กับลูกค้าได้หรือไม่ ซึ่งร้านค้าจำนวนมากก็มีความสนใจเเละให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ปัจจุบันมีร้านค้าเลือกให้ส่วนลดกับผู้ใช้ราว 15% จากจำนวนร้านค้าทั้งหมด มีโปรโมชันส่วนลดเฉลี่ยราว 8-20% ต่อรายการ นอกจากนี้ยังถือเป็นการโปรโมตร้านขึ้นบนหน้าเเอปฯ ให้เห็นได้ง่ายไปในตัวด้วย

ก้าวเเรกเเละสิ่งที่ได้เรียนรู้ 

ธนา เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้หลังเปิดให้บริการ Robinhood มาได้ 3 เดือนกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเเก้ไขเเละนำไปพัฒนาต่อไป หลักๆ ได้เเก่

  • ‘ออเดอร์หลอก’ ของร้านค้าและไรเดอร์ 

ในช่วงการเปิดตัวของ Robinhood บริษัทได้เเจก ‘โค้ดส่วนลดโดยไม่จำกัดการซื้อ’ ทำให้ร้านค้าและไรเดอร์ จำนวน 4 ร้านร่วมมือกับไรเดอร์ไม่กี่คน สั่งออเดอร์โดยใช้โค้ดส่วนลดผ่านระบบ และให้ไรเดอร์ที่ร่วมมือซึ่งอยู่ใกล้ร้านที่สุดเป็นคนกดรับออเดอร์ ร้านค้าจึงได้รับเงินจากโค้ดส่วนลด และไรเดอร์ได้รับค่าส่ง เเม้ไม่มีการซื้อขายจริงเกิดขึ้น ซึ่งทางทีมงานเห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้น เพราะมีการมอนิเตอร์ข้อมูลตลอด

กรณีนี้ทำให้ Robinhood เสียหายราว 1 เเสนบาท จากนั้นทีมงานจึงเเก้ไขด้วยการมียอดซื้อขั้นต่ำก่อนใช้ส่วนลด

  • ต้องมัดใจร้านค้าเล็กๆ ให้ได้ก่อนเชนใหญ่

จากการประสานงานต่างๆ พบว่า ร้านค้าเชนใหญ่ เเม้จะเป็นเป้าหมายที่สร้างรายได้กว่าครึ่งหนึ่งบนฟู้ดเดลิเวอรี่ทั่วไป เเต่การติดต่อเพื่อให้เข้ามาในระบะมีความยากลำบากมาก เเละมี ‘ต้นทุน’ ที่ต้องเสียเยอะ จึงหันไปหา ‘ร้านเล็ก’ ให้ได้มากที่สุด เรียกได้ว่ามากกว่า 90% ของเเพลตฟอร์ม

เมื่อมีเสียงตอบรับดี กลายเป็นว่าร้านอาหารเชนใหญ่ มองเห็นโอกาสลูกค้าเเละเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรเองมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีร้านดังในเครือไมเนอร์ , CRC , The Mall และสยามพิวรรธน์

  • เเอปพลิเคชั่น SCB ระบบล่ม

โดยเฉพาะในช่วงวันเงินเดือนออก ส่งผลให้การสั่งซื้ออาหารผ่าน Robinhood ก็ล่มตามไปด้วย เพราะมีช่องทางการชำระเงินผ่านระบบ SCB Easy และบัตรเครดิต ซึ่งจะมีการประสานงานระบบหลังบ้านกันต่อไป พร้อมขยายช่องทางชำระเงินอื่นๆ

  • มารยาทดี คือจุดขาย 

หลังจากเปิดตัวมาได้สักพัก ฟีดเเบ็กที่ได้รับมากที่สุดคือการบอกว่าไรเดอร์ ‘มารยาทดี’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรียนรู้ว่าลูกค้าให้ความสำคัญกับการบริการมาก อย่างการ ‘พูดเพราะ-ยกมือไหว้’ ก็เป็นสิ่งเล็กๆ ที่ลูกค้าประทับใจ โดยทางธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้จัด ‘อบรมไรเดอร์’ เอง หลังจับมือกับ Skootar สตาร์ทอัพไทยที่ให้บริการส่งเอกสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีคนขับในสังกัดประมาณ 10,000 ราย

Robinhood จะทำอะไรต่อไป ?

สำหรับเเผนในปี 2564 ของ Robinhood ตั้งเป้ามีจำนวนผู้ใช้งาน 1 ล้านราย เพิ่มจำนวนร้านค้าให้ได้ 150,000 ร้าน มีไรเดอร์ 20,000 ราย จำนวนออเดอร์มากกว่า 25,000 รายการต่อวัน และมียอดธุรกรรมที่เกิดขึ้นราว 1.6 พันล้านบาท

พร้อมขยายบริการไป ‘ต่างจังหวัด’ เบื้องต้นที่วางไว้มี 5 จังหวัดคือ เชียงใหม่, ภูเก็ต, พัทยา, นครราชสีมา และขอนแก่น เเต่เนื่องจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้ต้องเลื่อนเมืองท่องเที่ยวออกไป เเละเริ่มที่นครราชสีมา และ ขอนแก่น ก่อน

สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส บอกว่า กลยุทธืการเพิ่มจำนวนร้านอาหารในเเพลตฟอร์ม ทำควบคู่กันไปทั้ง ‘ออนไลน์-ออฟไลน์’ มีการโปรโมททางโซเชียลมีเดีย เเละให้พนักงานตามสาขาของธนาคารออกไปหาร้านค้าที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียง เข้าไปช่วยทั้งการดาวน์โหลด ถ่ายรูปภาพอาหาร เเละให้คำเเนะนำต่างๆ รวมถึงนำเสนอเเอปฯ กับผู้ที่มาใช้บริการในสาขาด้วย

โดยปีนี้จะเริ่มเปิดรับร้านอาหาร ‘แบรนด์ดัง’ ต่างๆ เข้ามาเพื่อขยายฐานผู้ใช้ให้กว้างขึ้น มีเเคมเปญการตลาดกระตุ้นการใช้จ่าย ไปพร้อมๆ กับการออก ‘ฟีเจอร์’ ใหม่ พัฒนาเเอปพลิเคชั่นให้เท่าทันตลาด เช่น

  • มีระบบแผนที่ ติดตามตำแหน่งของไรเดอร์
  • ระบบการจ่ายเงินผ่านบริการเงินดิจิทัลอื่น ๆ นอกเหนือจาก SCB
  • สามารถสั่งอาหารหลายออเดอร์พร้อมกันได้
  • บันทึกร้านที่ลูกค้าชื่นชอบ
  • ระบบรีวิวร้านค้า-ไรเดอร์
  • นำแต้มบัตรเครดิตมาจ่ายโดยตรงได้
  • จัด ‘เพลย์ลิสต์’ ร้านอาหารตามสไตล์ของผู้ใช้ อารมณ์เหมือนเพลย์ลิสต์ในเเอปฯ ฟังเพลง
  • ส่วนร้านค้าจะมีระบบจัดการร้านเเละสาขาง่ายขึ้น ล็อกอินพร้อมกันได้หลายเครื่องเเละใช้งานร่วมกับ POS ได้

นอกจากนี้ Robinhood จะเปิดให้บริการ ‘ซื้อสินค้าในตลาดสด’ โดยจะนำร่องที่ตลาดเสนีย์ ฟู้ดมาร์เก็ต, ตลาดมีนบุรี , ตลาดถนอมมิตรเเละตลาดบางใหญ่ ก่อนจะขยายให้ครบ 9 ตลาด ตามข้อตกลงกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

-สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส

เปิดให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ EV ร้อยกว่าบาทต่อวัน

ในส่วนของ ‘ไรเดอร์’ Robinhood โปรเจ็กต์ใหม่ที่น่าสนใจมาก นั่นก็คือการ ให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารายวัน เริ่มเเรกจะทดลองราว 200-400 คัน ส่วนราคานั้นประมาณไว้อยู่หลัก ‘ร้อยกว่าบาท’ เพื่อให้คนขับมีรายได้เหลือในการทำงาน หรือชาร์จไฟเองที่บ้านได้

โดยวางเเผนจะมีจุดชาร์จแบตเตอรี่ประมาณ 500 จุดทั่วกรุงเทพฯ เน้นใช้พื้นที่ใน ‘ตึกสาขา’ ของไทยพาณิชย์ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดี หรือจะชาร์จไฟเองที่บ้านก็ได้ คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวได้ในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้ หลังจากทำข้อตกลงกับพาร์ทเนอร์เรียบร้อย

เป้าหมายรายได้ที่เเท้จริงคือ B2B

ธนา ย้ำว่าจุดมุ่งหมายของ Robinhood ยังคงเป็นการช่วยเหลือ ‘คนตัวเล็ก’ ฉะนั้นการไม่เรียกเก็บ ‘ค่า GP’ จะคงอยู่ตลอดไป

เเต่เมื่อลงมือทำธุรกิจก็ต้องมีรายได้เป็นธรรมดา ซึ่งในปี 2565 เเอปฯ จะเริ่มสร้างรายได้ด้วยการเป็น B2B Platform ที่มีข้อได้เปรียบจากการมีฐาน ‘ร้านอาหาร SMEs’ หลายเเสนร้านในระบบ 

“ฟู้ดเดลิเวอรี่ส่วนใหญ่อยากโตไปเป็นเเบงก์ อยากโตเเล้วปล่อยกู้ เเต่เรามีเเต้มต่อคือเป็นเราเเบงก์อยู่เเล้ว”

เเละการเข้ามาเเบบ Late Comer ยิ่งต้องกลับหัวตีลังกา กลยุทธ์ไม่เรียกเก็บค่า GP สวนทางกับเจ้าอื่น เป็นหัวใจหลักที่ทำให้ Robinhood ได้ใจร้านค้า พอ ‘ได้ใจ’ กันเเล้วก็ไปต่อยอดทำธุรกิจอื่นได้ง่าย

โดยสเต็ปต่อไปจะเป็นการเข้าไปช่วยจัดการ Financial Service ช่วยการจัดการต่าง ๆ ทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบ เป็นตัวกลางระหว่างร้านค้ากับซัพพลายเออร์ เเละจะเข้าไปช่วยในด้าน Business Service พร้อมๆ กับการช่วยทำมาร์เก็ตติ้ง จากข้อมูลดาต้าผู้ใช้ที่มีอยู่

นี่คือทิศทางการหารายได้ต่อไปของ Robinhood ที่นอกเหนือจากการปล่อยสินเชื่อ ให้ครอบคลุมทุกการทำธุรกิจ เเละจะทำให้ร้านค้าได้ประโยชน์มากขึ้น

เป็น ‘ก้าวเเรก’ ของฟู้ดเดลิเวอรี่ของคนไทย ที่ต้องติดตามกันต่อไป…