มอง “ฟู้ดเดลิเวอรี่” ของคนไทยในสมรภูมิเดือด “ไม่เก็บ GP – ขอเจาะท้องถิ่น” หนีซูเปอร์เเอปฯ

ฟู้ดเดลิเวอรี่ได้รับความความนิยมเพิ่มขึ้นเเบบพุ่งพรวด ในช่วงการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ร้านอาหารทั้งเล็กใหญ่ ต้องปรับตัวเเบบ 360 องศาเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้

จากเดิมช่วงก่อน COVID-19 ร้านอาหารหลายเเห่ง อาจจะมีสัดส่วนการขายหน้าร้านต่อออนไลน์ ประมาณ 90:10 เเต่หลังจากมีโรคระบาด ผู้คนหลีกเลี่ยงการเดินทาง ร้านอาหารหลายแห่งต้องหันไปพึ่งพาการขายทางออนไลน์เพื่อประคองธุรกิจ บางเเห่งอาจมีสัดส่วนมากถึง 70:30 หรือ 50:50 เลยก็ว่าได้

เเม้หลังคลายล็อกดาวน์ เราจะสามารถออกมาทานข้าวนอกบ้านได้ตามปกติเเล้ว เเต่เทรนด์การสั่งอาหารออนไลน์จะยังคงอยู่ เพราะผู้คนเริ่มคุ้นชินกับความสะดวกสบายเเละชอบมีตัวเลือกที่หลากหลาย ดังนั้นร้านอาหารก็ยังคงต้องมุ่งพัฒนาด้านเดลิเวอรี่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดราม่าเรื่อง ค่าส่วนแบ่งยอดขาย (GP Food Delivery) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าค่า GP” ยังคงสร้างความหนักอกหนักใจกับเหล่าร้านอาหารมาตั้งเเต่ก่อนช่วง COVID-19 แม้แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เจ้าใหญ่ๆ ที่มีฐานลูกค้าติดใจใช้งานจำนวนมาก จะช่วยสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมก็จริง แต่ค่าใช้จ่ายที่ทางร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะที่เรียกเก็บกว่า 30-35% อาจทำให้ร้านเล็กๆ ไม่สามารถสร้างยอดขายให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

เป็นที่ฮือฮาอย่างมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา เมื่อ 2 ธนาคารใหญ่ของไทยอย่าง KBank (กสิกรไทย) เเละ SCB (ไทยพาณิชย์) ฉีกเเนวธนาคาร ลงสนามเเข่งในธุรกิจอาหาร ตามคอนเซ็ปต์แบงก์จะไปอยู่ทุกที่ เเละเป็นมากกว่าธนาคาร

การเปิดตัว Robinhood ของ SCB ก็สั่นสะเทือนวงการฟู้ดเดลิเวอรี่ไม่น้อยด้วยประเด็นจี้จุด Pain Point อย่างการไม่คิด GP ไม่คิดค่าสมัคร โอนเงินไวใน 1 ชั่วโมง ท้าทายคู่เเข่งระดับโลกอย่าง Grab, LINE Man, GET เเละ Food Panda โดยพร้อมจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้

ส่วน KBank ตามมาติดๆ เเละได้ใจผู้ประกอบการไปเต็มๆ เปิดตัว “Eatable” (อีทเทเบิลแพลตฟอร์มตัวช่วยจัดการ “ร้านอาหาร” ไม่ต้องโหลดแอป ไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถจัดการระบบหลังบ้านแบบเรียลไทม์ผ่านทางออนไลน์ ส่วนลูกค้าสามารถเลือกอาหาร สั่ง และจ่ายแบบไร้การสัมผัส พร้อมฟังก์ชันฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่กำลังจะเปิดตัวเเบบเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมพัฒนาต่อยอดให้นักท่องเที่ยวจีนสั่งอาหารในไทยได้ปลายปีนี้

อ่านรายละเอียด : เปิดเกม KBank vs SCB เเข่งธุรกิจอาหาร เมื่อแบงก์จะไปอยู่ทุกที่ เเละเป็นมากกว่าธนาคาร

ในศึกสมรภูมิฟู้ดเดลิเวอรี่เมืองไทย ที่มีมูลค่าตลาดราว 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะครองตลาดด้วยเเพลตฟอร์มต่างชาติที่มีทุนหนาสามารถอัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าคนขับเเละมีอัตราค่าส่งที่ถูกมาก

อีกมุมเล็กๆ เราก็ได้เห็นคนไทยเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ออกมาใช้งานมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บค่า GP ในอัตราสูง แต่หลายแพลตฟอร์มยังเป็นที่นิยมในบางพื้นที่เท่านั้น เเละยังมีอีกหลายแพลตฟอร์ม ที่ยังต้องได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเสียก่อน

จากการสำรวจดูเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ของคนไทย พบว่า ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเเก้ปัญหาค่า GP โดยจะไม่มีการเรียกเก็บหรือเก็บบ้างเเต่น้อยกว่าเจ้าใหญ่ ซึ่งทำให้ค่าส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจนั้นเเพงกว่า

ดังนั้น จุดเด่นของฟู้ดเดลิเวอรี่ท้องถิ่น จึงต้องชูความช่วยเหลือกันและกันหรือคนไทยช่วยคนไทย” พร้อมเลือกเจาะทำเล “ท้องถิ่น” เมืองรองที่เจ้าใหญ่ยังไม่เข้ามาทำตลาดมากนัก เละหาทางออกให้ผู้บริโภค อย่างการเเนะนำว่าร้านอาหาร ควรจะมี Basket Size หรือมูลค่าในการจ่ายเพื่อซื้อสินค้าใน 1 ครั้งที่เหมาะสม จึงจะคุ้มกับค่าส่งหากยอดสั่งซื้อที่ 200-500 บาทขึ้นไป เเต่ถ้าร้านมีบริการจัดส่งลูกค้าของตัวเองในโซนใกล้เคียงก็จะประหยัดได้มาก หรือการคิดค่าอาหารเท่ากับราคาหน้าร้าน (ซึ่งจะถูกกว่าราคาที่บางร้านที่ต้องบวกเพิ่มเพราะโดนคิดค่า GP จากเจ้าใหญ่) ทำให้เมื่อซื้อหลายชิ้นรวมๆ กันเเล้วเฉลี่ยกับค่าส่งที่เเพงกว่าเเต่ราคารวมจะถูกกว่านั่นเอง

วันนี้เราจะมารู้จักกับเหล่าเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่พัฒนาโดยคนไทย เเละเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง COVID-19 ว่ามีความน่าสนใจเเละมีจุดเด่นอะไรกันบ้าง

Hungry Hub 

เริ่มจากสตาร์ทอัพไทยอย่างHungry Hub ที่ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ทำเป็นเดลิเวอรี่ เพื่อช่วยร้านอาหารในช่วงวิกฤต COVID-19 จากปกติธุรกิจหลักจะเป็นเเพลตฟอร์มรวมเเหล่งบุฟเฟ่ต์ มี Exclusive Deal แบบ Fixed Price เปลี่ยนร้าน A La Carte ให้เป็นบุฟเฟ่ต์ โดยถ้าจะใช้บริการต้องจองผ่าน Hungry Hub เท่านั้น เช่นร้าน Audrey, Arno’s, Another Hound, Paul Bakery, Vertigo Too เป็นต้น

โดย Hungry@Home ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • ก็บค่าคอมมิชชั่น 10.7%
  • ค่าส่งร้านออกเอง 50 บาทในทุกออเดอร์
  • ลูกค้าจ่ายด้วยบัตรเครดิต ทาง Hungry Hub Support ค่า Fee บัตรเครดิต 3% ให้ฟรี
  • มีทีม Support ช่วยเหลือหลังบ้าน (เรียกรถขนส่งให้ /ดูแลระบบและจัดการขนส่ง / Customer Support
  • ทำการตลาดให้ฟรี ผ่าน Social Media / SMS / Email / Line และ Blogger มากกว่า 40 เพจ

“ความแตกต่างคือเราขายเน้นขายเป็น “Set Menu” สำหรับ 2-4 คนขึ้นอยู่กับแต่ละชุด เริ่มต้นที่ 399 บาท Net ลูกค้าจะได้รับส่วนลด 10-30% พร้อมตัวเลือก หลากหลายจากร้าน อาหารชั้นนำ ค่าธรรมเนียมการจัดส่ง 3 กิโลเมตรแรกฟรี กิโลเมตรต่อไปกิโลเมตรละ 10 บาท โดยค่าคอมมิชชั่น รวมๆ 10.7% ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตเรียบร้อย และช่วยทำการตลาดเพื่อโปรโมตร้านให้มียอดขายเพิ่มขึ้น”

ตัวอย่างการทำตลาดของ Hungry Hub

Om Ordering

เเพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่พัฒนาโดย ออม แพลตฟอร์ม เริ่มต้นจากร้านค้าทั่วเมืองเชียงใหม่เเล้วค่อยๆ ขยายไปหาผู้ประกอบการทุกประเภท ทั้งสินค้าและบริการ รวมถึงร้านอาหาร

Om Ordering บอกว่า ต้องการจะช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้า ให้สามารถเข้าร่วมกับแอปพลิเคชันได้อย่างง่ายดาย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม พร้อมให้อิสระในการบริหารจัดการระบบขนส่งทั้ง Drive Thru และเดลิเวอรี่ตามความต้องการของร้านเอง

โดย Om Ordering ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า
  • ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม
  • พร้อมใช้งานได้เลยภายใน 1 วัน หลังจากลงทะเบียน
  • ไม่จำกัดประเภทร้านค้า ไม่จำกัดจำนวนเมนูที่จะลงขาย
  • กำหนดเวลาเปิดปิดร้านได้ด้วยตนเอง
  • วางแผนระบบการจัดส่งแบบ Drive Thru และ Delivery ได้ด้วยตนเอง
  • กำหนดค่าขนส่งได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะฟรีค่าส่ง หรือเก็บตามระยะทางจริง
  • มีระบบจัดการสต๊อกหลังบ้าน
ตัวอย่างการทำตลาดของ Om Ordering

Street Food Delivery

อีกหนึ่งสตาร์ทอัพไซส์เล็กที่ขอปักธงเมืองรอง โดยเน้นร้านอาหารดังประจำถิ่น เริ่มให้บริการส่งอาหารในพื้นที่กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และท่าเรือท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

แอปพลิเคชัน Street มองเห็นช่องว่างธุรกิจว่า เมื่อไม่อาจแข่งสู้เหล่าซูเปอร์แอปฯ ต่างชาติ ได้จึงเลือกทำเลที่ตั้งในการให้บริการเฉพาะต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองรองแทน เพราะเจ้าใหญ่ยังไม่ลงมาเล่นในตลาดต่างจังหวัดมากนัก โดยเน้นเจาะร้านอาหารดังประจำท้องถิ่น ที่ยังไม่มีหน้าร้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ต้องการขายของทางออนไลน์หรือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร้านอาหารของตัวเอง โดย Street ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า คือการคิดคิดค่าบริการ 15 % ต่อยอดสั่งซื้อทั้งหมด เเละมีโปรโมชั่นพิเศษโดยการชำระเป็นเงินสด

Fresh!

เเอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่น้องใหม่ ที่มีทีมปั้นเป็นคนไทยทั้งหมด ซึ่งตอนนี้เริ่มทยอยรับสมัครร้านค้าเเละไรเดอร์ทั่วประเทศเเล้วในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ชูจุดเด่นไม่เก็บค่า GP” จากร้านค้า โดยมีค่าส่งเริ่มต้นที่ 10 บาท และหากสั่งออเดอร์เกิน 100 บาท มีโปรโมชั่นส่งฟรี

ขณะที่ในส่วนของร้านอาหาร สามารถเลือกได้ว่าทางร้านจะจัดส่งด้วยตัวเอง ให้ลูกค้ามารับเองที่ร้าน หรือใช้บริการไรเดอร์ไปส่งให้ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป (ไม่ได้เปิดร้านอาหาร) ที่มีเมนูเด็ดสนใจอยากขาย เข้าร่วมเเอปฯ Fresh ได้ในชื่อ Fresh Homemade โดยทำอาหารและจัดส่งด้วยตัวเองในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางโดยไม่ต้องมีหน้าร้าน

ตัวอย่างการทำการตลาดของ Fresh!

OrderMaNow

เป็นระบบรับออเดอร์เดลิเวอรี่เจ้าเล็กๆ เพื่อเจาะกลุ่มร้านอาหารรายย่อยที่มีบริการจัดส่งเอง ไม่มี GP ไม่ต้องลงเเอปพลิเคชัน โดย OrderMaNow ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • รับออเดอร์ทุกทาง Facebook, IG, Line, Twitter แตะลิงก์เดียวสั่งออเดอร์ในร้านได้ทันที ไม่ต้องลงเเอปฯ ไม่ต้อง Login
  • ติดตามยอดขาย ติดตามความพึงพอใจลูกค้าได้
  • ลดข้อผิดพลาดจากการจดออเดอร์ผิด
  • ลดเวลาคุยรับออเดอร์ เก็บฐานลูกค้าไว้กับร้านค้า
  • ได้รับพิกัด Location จากลูกค้า ไม่ต้องเดาที่อยู่ที่จัดส่ง

shaRE ชาลี

เว็บไซต์ระบบเดลิเวอรี่ทางเลือกของคนไทย ที่ทีมพัฒนารวมตัวกันจากกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อช่วยร้านอาหารที่กำลังเดือดร้อนจากวิกฤต COVID-19 โดยแบ่งร้านอาหารออกเป็นแต่ละเขต เเละในอนาคตจะแบ่งเป็นแต่ละอำเภอ เพื่อให้ลูกค้าได้รู้ว่าในพื้นที่ใกล้ที่อยู่ ที่ทำงาน มีร้านอาหารอะไรอยู่บ้าง เป็นการเพิ่มโอกาสนำเสนอตัวตนของร้านท้องถิ่น

โดย shaRE ชาลี ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและไม่มี GP
  • ร้านค้าสมัครง่าย ใช้งานได้ภายใน 20 นาที หลังจากลงทะเบียน
  • ร้านได้รับยอดการขาย 100%
  • เปิดกว้างให้ทุกร้านสามารถมาลงขายได้
  • ไม่จำกัด จำนวนเมนู ที่ลงขายของแต่ละร้าน
  • แบ่งร้านค้าและลูกค้าเป็นเขต
  • สั่งแบบ pre-order เพื่อให้ร้านค้าสามารถรวม order และวางแผนการจัดส่งเองได้ง่าย
  • สั่งอาหารในโซนพื้นที่เดียวกับร้าน ค่าส่ง 30 บาท สั่งอาหารนอกโซน (เกินไปจาก 3 กิโลเมตร ) คิดกิโลละ 10 บาท ตามระยะทางจริง
  • ฟีเจอร์อื่น ๆ เช่น ติดตามยอดขาย ความพึงพอใจลูกค้าได้ บริหารเมนูและทำโปรโมชั่นเอง
ตัวอย่างการโปรโมตของ shaRE

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเเพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ของคนไทย ที่เกิดขึ้นเเละเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง COVID-19 เท่านั้น ยังมีอีกหลายเว็บไซต์ หลายเเอปพลิเคชันที่กระโจนเข้ามาทำธุรกิจส่งอาหารที่มีการเเข่งขันสูง เเต่ก็ยังพอมีช่องว่างของโอกาส ด้วยกลยุทธ์การขยายเจาะท้องถิ่น เน้นความใกล้ชิดกับคนพื้นที่ ค่าการเก็บค่า GP ที่น้อยกว่าหรือไม่เก็บเลย เพื่อเเก้ Pain Point ของร้านอาหาร “เมื่อเเข่งกับยักษ์ใหญ่ไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ เติบโตไปเเบบเล็กๆ” อย่างไรก็ตาม หนทางยังอีกยาวไกลเเละมีอุปสรรคมากมายในวงการนี้ ก็คงต้องเอาใจช่วยเเละจับตามองดูการพัฒนาของฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยต่อไป