หลังเข้ามาตีตลาดในไทยได้ 8 ปี วันนี้ “ฟู้ดเเพนด้า” (Foodpanda) เดลิเวอรี่ชื่อดังจากเยอรมนี ขยายให้บริการครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ได้เป็น “เจ้าเเรก” เเล้ว
อย่างที่ทราบกันว่า ฟู้ดเเพนด้า มีกลยุทธ์หลักคือ Hyperlocalization ขยายไปยังต่างจังหวัดให้ได้มากที่สุด เเตกต่างจากฟู้ดเดลิเวอรี่ยักษ์ใหญ่รายอื่นที่เข้ามาทำตลาดไทย โดยเน้นพื้นที่กรุงเทพฯ เเละปริมณฑลเป็นหลัก
ฟู้ดเเพนด้า เป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่ทำตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทย มาตั้งแต่ปี 2012 ตอนนั้นกระเเสเดลิเวอรี่ไม่ได้บูมเช่นปัจจุบัน บริษัทเริ่มรุกตลาดต่างจังหวัดไปที่ “เชียงใหม่” ในปี 2014 เเละตอนนี้ก็ยังครองตลาดเมืองเหนือได้อย่าง
เหนียวเเน่น
การลงเล่นในสนาม “ฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างจังหวัด” นั้นมีโอกาสและความท้าทายอยู่ไม่น้อย
อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการ ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า “ประชากรไทยมีอยู่ราว 70 ล้านคน อยู่ในกรุงเทพฯ 10 ล้านคน ดังนั้นที่เหลืออีกกว่า 60 ล้านคนคือโอกาสที่จะมาเป็นลูกค้าเรา”
เเม้ฟู้ดแพนด้าจะให้บริการ 77 จังหวัดเเล้ว เเต่ในต่างจังหวัดก็ยังจะครอบคลุมเเค่พื้นที่ในเมืองเป็นหลักเท่านั้น ซึ่ง “ก้าวต่อไป” ที่บริษัทจะต้องทำให้ได้ ก็คือการเข้าถึงพื้นที่ชุมชนที่ “เล็กกว่านั้น” เจาะทั้งอำเภอเเละตำบลต่างๆ
ปัจจุบัน ฟู้ดเเพนด้ามีจำนวน “ร้านอาหาร” อยู่ในระบบราว 120,000 ร้าน เพิ่มขึ้นกว่า 70,000 ร้าน ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา จากอานิสงส์ช่วงล็อกดาวน์จากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีไรเดอร์หรือคนขับ เพิ่มขึ้นเป็นหลัก “เเสนคน” (จากช่วงกลางปีอยู่ที่ 90,000 คน)
บริษัทเคลมว่า ตอนนี้มีระยะเวลาการจัดส่งอาหารถึงมือผู้สั่งเร็วที่สุดในบรรดาฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยที่ 19.9 นาที จากเดิมในปี 2016 ท่ีมีระยะเวลาส่งเฉลี่ย 45 นาที
ฟู้ดเดลิเวอรี่ “ต่างจังหวัด” …ไม่ง่าย
หลังการดำเนินกลยุทธ์ Hyperlocalization มาหลายปี มองอะไรเป็นความท้าทายเเละอุปสรรคของการทำตลาดเจาะฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างจังหวัดในไทย
ผู้บริหารฟู้ดเเพนด้า ตอบว่า เเม้วงการนี้จะมีการเเข่งขันที่ดุเดือด เเต่ในต่างจังหวัดยังไม่มีคู่เเข่งมากนัก เป็นโอกาสที่จะไปเปิดฐานลูกค้าใหม่ โดยปัจจุบันบริษัทมีคำสั่งซื้อจากต่างจังหวัดสูงถึง 50% ของออเดอร์ทั้งหมด
เเต่ยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องฝ่าฟันต่อไป เช่น ระยะทางของร้านอาหารกับผู้ซื้อที่ “ห่างกัน” เเละจำนวนไรเดอร์ก็มีน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่เเละกรุงเทพฯ จึงทำให้มีระยะเวลาการจัดส่งอาหาร “นานขึ้น” ตามไปด้วย
อีกทั้งผู้บริโภคต่างจังหวัดในเมืองรอง ยังไม่คุ้นชินกับการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่มากนัก ส่วนใหญ่นิยมซื้ออาหารเเล้วทานที่ร้านเลย
ซึ่งต่อไปฟู้ดเเพนด้าจะพยายามอุดช่องว่างปัญหาเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด ผ่านการโปรโมตต่างๆ จัดโรดโชว์เพิ่มการรับรู้เรื่องการใช้เเอปพลิเคชัน เเละอัดโปรโมชันส่วนลด เพื่อดึงดูดให้คนต่างจังหวัดหันมาใช้มากขึ้น
ทั้งนี้ คู่เเข่งรายใหญ่อย่าง Grab ให้บริการใน 32 จังหวัด ส่วน LINE Man WongNai เปิดให้บริการใน 14 จังหวัด , Gojek ให้บริการใน 6 จังหวัด ขณะที่น้องใหม่ Robinhood จากค่ายไทยพาณิชย์ ยังให้บริการเเค่ในกรุงเทพฯ ส่วนที่เหลือจะเป็นเเอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่เล็กๆ ท้องถิ่นของคนไทย
เจาะ “ร้านเล็ก” ขยาย Grocery
จำนวนร้านอาหารในระบบของฟู้ดเเพนด้า ล่าสุดที่มีอยู่ราว 120,000 ร้านนั้น หากเเบ่งเป็นสัดส่วนจะเห็นว่า กว่า 90% เป็นร้านอาหารรายย่อยแบบสแตนด์อะโลน ส่วนอีก 10% เป็นร้านอาหารของเชนแบรนด์ใหญ่
เฟลเดอร์ บอกว่า ถือเป็นจำนวน “ร้านเล็ก” ที่สูงกว่าฟู้ดเดลิเวอรี่เจ้าอื่นๆ เเต่ตลาดเมืองไทยยังมีโอกาสที่บริษัทจะขยายไปได้มากกว่านั้น เพราะยังมีร้านอาหารมากกว่าอีก 3-4 แสนแห่งที่อยู่นอกระบบ “รอเราอยู่”
อย่างที่ทราบกันว่า ความท้าทายของ “ร้านอาหารเล็กๆ” คือเมื่อเจอการหักค่าธรรมเนียมสูง เเต่ออเดอร์ต่อรายการยังน้อยกว่าเชนใหญ่ ทำให้บางร้านไม่สามารถขายผ่านเเพลตฟอร์มด้วย “ราคาปกติ” ได้
สำหรับประเด็นการหักค่า GP และการจ่ายเงินร้านอาหารล่าช้านั้น ผู้บริหารฟู้ดเเพนด้า ตอบว่า การหัก GP ในเรตดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่ “เหมาะสมแล้ว” ในแง่ของการดำเนินธุรกิจ
“บริษัทต้องพัฒนาเเพลตฟอร์ม ลงทุนด้านดิจิทัลให้ตอบโจทย์กับทุกฝ่าย ทั้งร้านอาหารที่ต้องขายได้ คนขับที่ต้องมีรายได้ เเละลูกค้าที่จะจ่ายในราคาที่สมเหตุสมผล เเละยังต้องช่วยผลักดันยอดขายร้านอาหารนั้นๆ ให้สูงขึ้นตามไปด้วย อย่างการทำตลาดออนไลน์ให้ โดยที่ร้านอาหารไม่ต้องไปลงทุนทำเดลิเวอรี่ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า”
เป้าหมายต่อไปของฟู้ดเเพนด้า คือการการขยับมา “ส่งทุกอย่าง” ไม่จำกัดเเค่อาหาร เเต่ครอบคลุมการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างหลากหลาย เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ , ยา , เครื่องสำอาง หรือเเม้กระทั่งดอกไม้
ในช่วงเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ฟู้ดแพนด้าปล่อยฟีเจอร์ “แพนด้ามาร์ท” รับส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ตามโมเดล Quick Commerce การันตีการส่งภายใน 20 นาที นำร่องเปิด 7 โลเคชั่นในกรุงเทพฯ ต่อยอดความสำเร็จจากสิงคโปร์ที่ได้เปิดให้บริการมาเกือบ 1 ปี มีการเติบโต 20-25 เท่า ได้มาปรับใช้ในไทย เป็นอีกโมเดลเพื่อ “เสริมรายได้ทางใหม่”
โดยตั้งเป้าขยาย “แพนด้ามาร์ท” ให้ในครอบคลุม 30 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุดผลตอบรับค่อนข้างดี จึงได้เริ่มเปิดที่ “เชียงใหม่” ก่อนจะกระจายไปยังภาคใต้ เริ่มจาก “ภูเก็ต” เเม้ตอนนี้จะยังไม่ได้ทำรายได้ในสัดส่วนที่มากนัก เเต่เป็นอีกช่องทางธุรกิจที่จะเติบโตไปข้างหน้าอย่างเเน่นอน
ยิ่งเเข่งดุ…ยิ่งโต
การเเข่งขันฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทยนั้น ยิ่งจะดุเดือดเเละ “ชิงเค้ก” กันมากขึ้นตามกระเเสความนิยมเเละทางเลือกที่หลากหลายของผู้บริโภค
ผู้เล่นรายใหญ่ๆ ที่มีสายป่านยาว ยัง “เผาเงิน” ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จากการแข่งขันในธุรกิจนี้ เนื่องจากต้องวางรากฐานให้ “ลูกค้าติด” ก่อนเเละค่อยหวังผลระยะยาวในอนาคต โดยในปี 2019 ฟู้ดเเพนด้าขาดทุนที่ 1,264.50 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ให้บริการหน้าใหม่เข้ามาไม่ขาดสาย อย่าง Robinhood ของ SCB ที่กระโดดเข้ามาร่วมสงครามนี้ ดูการชูไม่เก็บค่า GP ส่วน LINE MAN ก็ประกาศควบรวมกิจการกับสตาร์ทอัพไทยอย่าง Wongnai ด้าน Gojek ก็รีแบรนด์จาก Get ประเทศไทย
โดยภาพรวมการเติบโตของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยปี 2020 มีปริมาณคำสั่งอาหารต่อวันที่ 1.5 ล้านออเดอร์ นับว่าเติบโตจากปีที่เเล้วราว 6-7 เท่า ชะลอลงจากการเติบโตระหว่างปี 2018-2019 ซึ่งทำได้ที่ 8-9 เท่า
ผู้บริหารฟู้ดเเพนด้า เชื่อว่า ยิ่งตลาดมีการแข่งขันดุเดือดมากเท่าไหร่ “ตลาดยิ่งโต” เเละผู้บริโภคก็ยิ่งได้ประโยชน์มากเท่านั้น ซึ่งตลาดไทยยังมีโอกาสขยายไปได้อีกมาก เเละทิศทางของธุรกิจแพลตฟอร์มสั่งอาหารก็จะเติบโตแบบต่อเนื่อง