Update ’14 ตัวเลือก’ บนสังเวียน ‘Food Delivery’ ที่ไม่ได้มีแค่รายใหญ่ให้เรียกใช้เวลาหิว

หากย้อนไปเมื่อปี 2012 ตลาด ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ บ้านเรายังมีแค่ Food Panda จากนั้นในปี 2018 ก็มี Grab และ Uber ที่ตามมา แต่แล้วอูเบอร์ก็ขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปให้กับคู่แข่งอย่าง Grab ทำให้ผู้เล่นหลักในตอนนั้นแทบจะมีแค่ Grab อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ทยอยตบเท้าเข้ามาเพียบ เพื่อหวังชิงเค้กมูลค่า 35,000 ล้านบาทก้อนนี้ โดยเฉพาะในปี 2020 นี้ที่เปรียบเสมือน ‘ปีทอง’ ของตลาด เพราะมาตรการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น Positioning จะพาไปรู้จักแพลตฟอร์มที่ให้บริการส่งอาหารในไทยกันว่ามีใครกันบ้าง

Grab Food

ถือเป็นผู้เล่นเบอร์ต้น ๆ ของตลาดเลยทีเดียวสำหรับ Grab ที่ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ตั้งแต่ปี 2018 โดยค่าจัดส่งเริ่มต้นที่ 10 บาท พร้อมให้บริการใน 35 เมือง 33 จังหวัด ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดกว่า 14 ล้านดาวน์โหลด มีพาร์ตเนอร์ผู้ขับกว่า 100,000 ราย มีร้านอาหารในระบบกว่า 80,000 ร้าน แค่ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมามีผู้ใช้แกร็บฟู้ดรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และยอดออเดอร์เติบโตถึง 30% เลยทีเดียว ซึ่งในปีนี้ทาง Grab ก็จัดหนักออกแคมเปญ “Free Your Hunger เลิกกินตามใคร กดสั่งตามใจ” แคมเปญใหญ่สุดของปีนี้ โดยได้ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับชื่อดัง มาช่วยสร้างหนังสั้นที่แสดงโดย BNK48 ปัจจุบันโกยยอดวิวไปกว่า 10 ล้านวิวเลยทีเดียว

LINE MAN

จากแพลตฟอร์ม Chat ที่มีจุดแข็งเป็นผู้ใช้งาน LINE กว่า 46 ล้านราย ดังนั้น LINE จึงต้องการต่อยอดจำนวนผู้ใช้อันมหาศาลด้วยการผุด ‘LINE MAN’ ที่ให้บริการเรียกแท็กซี่, สั่งซื้ออาหาร, ซื้อของใช้ในบ้าน หรือแม้แต่เรียกมารับพัสดุ โดยมีพาร์ตเนอร์อย่าง ‘Lalamove’ ที่ช่วยขนส่งสินค้า ซึ่งในส่วนของบริการส่งอาหาร LINE MAN ให้บริการใน 13 จังหวัด ครอบคลุมร้านอาหาร 200,000 ร้าน โดยมีค่าจัดส่งเริ่มต้นที่ 10 บาทเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ทาง LINE MAN เพิ่งได้เงินลงทุนจากบริษัท BRV Capital Management (BRV) ถึง 3,300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการควบรวมกิจการ ‘Wongnai’ สตาร์ทอัพสัญชาติไทยเจ้าของแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารและข้อมูลด้านไลฟ์สไตล์ ที่มีฐานข้อมูลร้านอาหารกว่า 400,000 ร้านทั่วไทย และมีผู้ใช้กว่า 10 ล้านรายต่อเดือน ส่งผลให้ LINE MAN มีข้อมูลทั้งร้านค้าและผู้ใช้ในมือมากมายเลยทีเดียว พร้อมเตรียมขยายพื้นที่ให้บริการเป็น 20 จังหวัดในสิ้นปีนี้

Gojek

Gojek หรือชื่อเดิม ‘GET’ น้องใหม่ในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เพิ่งให้บริการไปเมื่อปี 2019 แต่สามารถโกยยอดดาวน์โหลดได้ถึง 13 ล้านครั้ง ส่งอาหารกว่า 20 ล้านออเดอร์ มีพาร์ตเนอร์ผู้ขับกว่า 50,000 ราย และพาร์ตเนอร์ร้านอาหารกว่า 30,000 ร้าน แม้จะรีแบรนด์ใหม่ (เพื่อใช้ชื่อเดิม) ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าจะรุกตลาดให้หนักขึ้น โดยไม่ใช่แค่อัดโปรโมชันมอบส่วนลดสูงสุด 2,500 บาท และมีแฟลชดีลทุกวัน แต่ยังระบุว่าเตรียมขยายพื้นที่ให้บริการไปต่างจังหวัดเร็ว ๆ นี้ จากปัจจุบันที่ให้บริการแค่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกด้วย ส่วนค่าบริการเริ่มต้นที่ 10 บาทเหมือนเจ้าใหญ่รายอื่น ๆ

Food Panda

ทำตลาดในไทยมาตั้งแต่ปี 2012 สำหรับ Food Panda บริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติเยอรมนีที่ปัจจุบันให้บริการครอบคลุมถึง 72 จังหวัด และจะครบ 77 จังหวัดในสิ้นปีนี้ ส่วนร้านค้าพาร์ตเนอร์มีราว 20,000 ร้าน พาร์ตเนอร์ผู้ขับในปัจจุบันมีกว่า 90,000 ราย ขณะที่ค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 40 บาท และล่าสุดมีบริการใหม่ ‘แพนด้า มาร์ท’ ขายสินค้าอุปโภคบริโภค มี 7 แห่ง สิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 30 สาขา

Skootar

สตาร์ทอัพสัญชาติไทยแท้ที่เริ่มต้นมาจากการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้เชื่อมโยงระหว่าง SME บริษัท ห้างร้าน กับเครือข่ายแมสเซ็นเจอร์ ที่ให้บริการรับส่งเอกสาร เก็บเช็ค วางบิล หรือส่งของอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนจะขยายมาสู่บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์คนขับอยู่ประมาณ 8,000 คนทั่วกรุงเทพฯ โดยเริ่มต้นที่ราคา 45 บาท ฟังดูอาจจะรู้สึกว่าราคาสูงกว่าเจ้าอื่น แต่ Skootar ไม่ได้มีการเก็บค่าคอมมิชชันจากร้านอาหาร พูดง่าย ๆ ลูกค้าจ่ายเท่าไหร่ร้านได้เท่านั้น

Hungry Hub

น้องใหม่ที่ถือกำเนิดในช่วง COVID-19 ที่ออกมาเพราะต้องการช่วยเหลือร้านอาหาร โดยมีคอนเซ็ปต์เป็นเเพลตฟอร์มรวมเเหล่งบุฟเฟต์ ดังนั้น ในแต่ละมื้อที่สั่งจะไม่ใช่ชุดยิบย่อย แต่เป็นชุดใหญ่ไฟกะพริบแบบ ‘Set Menu’ กินกันจุก ๆ สำหรับ 2-4 คน โดยราคาเริ่มต้นที่ 399 บาท Net และในส่วนของค่าส่งนั้น ‘ฟรี’ ในระยะทางไม่เกิน 3 กิโลเมตรแรก (กิโลเมตรต่อไปเพิ่มแค่ 10 บาท/กม.) โดยทาง Hungry Hub จะเก็บค่าคอมมิชชันที่ 10.7% เท่านั้น และไม่ต้องห่วงว่าเป็นน้องใหม่แล้วผู้ขับจะไม่ได้คุณภาพ เพราะเป็นพาร์ตเนอร์กับ Lalamove ที่ LINE MAN เลือกใช้

Fresh!

เเอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่น้องใหม่ที่มีทีมปั้นเป็นคนไทยทั้งหมด ซึ่งตอนนี้เริ่มทยอยรับสมัครร้านค้าเเละไรเดอร์ทั่วประเทศเเล้วในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ชูจุดเด่น ‘ไม่เก็บค่า GP’ จากร้านค้า โดยมีค่าส่งเริ่มต้นที่ 10 บาท และหากสั่งออเดอร์เกิน 100 บาท มีโปรโมชันส่งฟรี

Robinhood

Robinhood แพลตฟอร์มน้องใหม่ภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) โดยมีเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดในฝั่งของผู้บริโภคว่าภายในแอปฯ มีร้านค้าให้เลือกมากน้อยแค่ไหน และค่าส่งจะเริ่มเท่าไหร่ แต่ทางแอปฯ ได้ประกาศว่าไม่มีค่าธรรมเนียม GP ที่จะเก็บกับร้านอาหาร แปลว่าร้านสามารถใช้บริการฟรี และมีการเคลียร์เงินเข้าบัญชีภายใน 1 ชั่วโมง เพื่อให้ร้านอาหารมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ส่วนการส่งอาหารใช้ความร่วมมือกับ Skootar  

Eatable

เเพลตฟอร์มทางฝั่ง KBank ที่วางตัวเป็นแพลตฟอร์มตัวช่วยจัดการร้านอาหาร ไม่ต้องโหลดแอปฯ ไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถจัดการระบบหลังบ้านแบบเรียลไทม์ผ่านทางออนไลน์ ส่วนลูกค้าสามารถเลือกอาหาร สั่ง จ่ายแบบไร้การสัมผัส และที่เเถมมาก็คือ ฟังก์ชันฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่กำลังจะเปิดตัวเเบบเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมพัฒนาต่อยอดให้นักท่องเที่ยวจีนสั่งอาหารในไทยได้ปลายปีนี้

กังนัมแซ่บ เดลิเวอรี่

มาถึงฝั่งที่เรียกได้ว่า ‘บ้านขั้นสุด’ ของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่กันบ้าง โดยไม่ต้องสั่งผ่านแอปฯ ใด ๆ ทั้งสิ้น อย่าง กังนัมแซ่บ เดลิเวอรี่ ถือเป็นอีกหนึ่งบริการซื้ออาหารจากร้านต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ภายใต้สโลแกนว่าสั่งได้ทุกร้าน สั่งได้ทุกอย่างตลอด 24 ชั่วโมง จะมีหรือไม่มีในเมนูก็สั่งได้ โดยรูปแบบการสั่งซื้อคือ โทรมาสั่งอาหาร จากนั้นจะประเมินราคาค่าบริการให้ลูกค้าก่อน โดยคิดจากระยะทางของร้านอาหารที่สั่งกับจุดหมายปลายทางที่ต้องไปส่ง โดยเริ่มต้นที่ 60 บาท บวกกับจำนวนสินค้าที่สั่ง 20 บาทต่อชิ้นต่อร้าน เรียกได้ว่าไม่ต้องเข้าแอปฯ อยากได้ร้านไหนบอกพิกัดเดี๋ยวจัดให้ถึงที่

OrderMaNow

สำหรับ OrderMaNow ก็คล้าย ๆ กับกังนัมแซ่บ โดยสามารถรับออเดอร์ทุกทาง Facebook, IG, LINE, Twitter แตะลิงก์เดียวสั่งออเดอร์ในร้านได้ทันที ไม่ต้องลงเเอปฯ ไม่ต้อง Login

นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดอีกเพียบ ได้แก่ Om Ordering เเพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่จากจังหวัด เชียงใหม่ ที่สามารถสั่งได้ทั้งสินค้า อาหาร และบริการ Street Food Delivery สตาร์ทอัพไซส์เล็กที่ขอปักธงเมืองรอง โดยเน้นร้านอาหารดังประจำถิ่น เริ่มให้บริการส่งอาหารในพื้นที่กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และท่าเรือ-ท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และ FoodMan Delivery อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่เน้นลุยเมืองรอง โดยเริ่มต้นจากแถวภาคเหนือก่อน โดยปัจจุบันให้บริการใน 7 จังหวัด ได้แก่ น่าน, เชียงราย, ลำปาง, อุตรดิตถ์, ตาก, ระยอง และสระบุรี

จากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่วงที่มี COVID-19 ระบาด แต่จะเลือกใช้ใครก็ลองดูตามความต้องการได้เลย แต่จะเริ่มเห็นว่าผู้เล่นรายใหญ่เริ่มขยายบริการเข้าสู่ตลาดต่างจังหวัดเเล้ว จากนี้ ผู้เล่นท้องถิ่น อาจต้องทำการบ้านให้หนักขึ้น เพราะถ้าต้องสู้เรื่องราคาและโปรโมชันคงไม่ไหวเเน่นอน