เรารู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับ “ไวรัส” COVID-19 กลายพันธุ์จาก “แอฟริกาใต้”

ไวรัสโรคระบาด COVID-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่จาก “แอฟริกาใต้” สร้างความกังวลไปทั่วโลก เรารู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ และเราควรกังวลมากน้อยแค่ไหน

 

1) มีการกลายพันธุ์อย่างหนัก

ไวรัสพันธุ์นี้ใช้ชื่อว่า B.1.1.529 และองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งรหัสชื่อให้มันเรียบร้อยว่า “โอไมครอน”

ศาสตราจารย์ตูลิโอ เดอ โอลิเวียร่า ผู้อำนวยการ ศูนย์การตอบสนองและนวัตกรรมต่อโรคระบาดแอฟริกาใต้ กล่าวถึงไวรัสตัวนี้ว่า “มีการกลายพันธุ์แบบกลุ่มที่ผิดปกติ” และ “มีความแตกต่างอย่างมาก” จากไวรัสกลายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยระบาด

“ไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้ทำให้เราแปลกใจ มันพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดด และมีการกลายพันธุ์มากกว่าที่เราคาด” เดอ โอลิเวียร่ากล่าว

B.1.1.529 มีการกลายพันธุ์ถึง 50 ตำแหน่ง และ 30 ตำแหน่งในนั้นเกิดขึ้นที่หนามโปรตีน ซึ่งเป็นจุดโจมตีของวัคซีนหลายชนิดเพื่อทำลายไม่ให้ไวรัสเข้ามาในเซลล์ร่างกายของเราได้

ต้องย้ำอีกครั้งว่า ไวรัสตัวนี้มีหน้าตาที่เปลี่ยนไปอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับตัวต้นฉบับจากอู่ฮั่น ประเทศจีน หมายความว่า วัคซีนที่พัฒนามาเพื่อจัดการไวรัสแบบเก่าน่าจะไม่มีประสิทธิภาพกับไวรัสพันธุ์นี้

 

2) กลายพันธุ์ในจุดที่ทำให้ระบาดง่ายขึ้น

บางจุดของการกลายพันธุ์เป็นตำแหน่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสายพันธุ์อื่น เช่น จุด N501Y ที่ถูกประเมินว่าเป็นตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสระบาดง่ายขึ้น เพราะทำให้แอนติบอดี้ไม่รู้จักตัวไวรัส วัคซีนจึงมีประสิทธิภาพลดลง

ฟรองซัว บัลลูซ์ ผู้อำนวยการ สถาบันพันธุกรรมแห่ง University College of London มองว่า ความเสี่ยงสูงสุดจากการกลายพันธุ์ครั้งนี้คือ ไวรัสอาจจะทำให้ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อแล้วเกิดติดเชื้อซ้ำมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ต้องตื่นตูมไป เพราะการศึกษาบนงานวิจัยอาจจะดูน่ากลัวแต่ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน เหมือนกับสายพันธุ์เบตาที่ทางทฤษฎีแล้วหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด แต่กลับกลายเป็นสายพันธุ์เดลตาซึ่งเป็นพันธุ์ที่แพร่ได้เร็วที่สุดที่ครองโลกอยู่ในขณะนี้

 

3) มีผู้ติดเชื้อแล้ว 77 คน

ขณะนี้มีรายงานการติดเชื้อแล้ว 77 คน จากจังหวัด Guateng ในประเทศแอฟริกาใต้, ประเทศบอตสวานา, และเกาะฮ่องกง

มีการคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อน่าจะมีมากกว่านี้ และเป็นไปได้ว่าอาจจะระบาดทั่วประเทศแอฟริกาใต้แล้ว รวมถึงน่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการระบาดระลอกที่สี่ขึ้นภายในประเทศแอฟริกาใต้

สำหรับเคสในฮ่องกง พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย รายหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่บินตรงมาจากแอฟริกาใต้ อีกรายเป็นชาวแคนาดาที่กักตัวอยู่ในสถานกักตัวชั้นเดียวกัน

 

4) หลายประเทศทยอยประกาศ “แบน” ห้ามเข้า

ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 2021 สหราชอาณาจักร ประกาศให้ 6 ประเทศทวีปแอฟริกาใต้อยู่ใน “ลิสต์สีแดง” ได้แก่ แอฟริกาใต้ นามิเบีย เลโซโท บอตสวานา เอสวาตินี และซิมบับเว ทำให้เที่ยวบินจากประเทศเหล่านี้ถูกระงับตั้งแต่เที่ยงวันของวันที่ 26 พ.ย. 2021

ตามด้วย ฝรั่งเศส และ อิตาลี ประกาศห้ามผู้เดินทางจากตอนใต้ของทวีปแอฟริกาเข้าประเทศเป็นการชั่วคราว

สิงคโปร์ มาเลเซีย บาห์เรน และ อิสราเอล แบนผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติหรือสิทธิพำนักระยะยาวที่เดินทางจาก 7 ประเทศ เดินทางข้ามพรมแดน ได้แก่ แอฟริกาใต้ นามิเบีย เลโซโท บอตสวาน่า เอสวาตินี ซิมบับเว และโมซัมบิก

ขณะที่ อินเดีย สั่งการสกรีนคนเดินทางจากพื้นที่ที่มีการติดเชื้อ B.1.1.529 เป็นพิเศษ และจะมีการประชุมด่วนในวันที่ 29 พ.ย.นี้

มีความเป็นไปได้ด้วยว่า สหภาพยุโรป (EU) จะประกาศแบนการเดินทางด้วยเครื่องบินจากตอนใต้ของทวีปแอฟริกา จากถ้อยแถลงของ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ที่ระบุว่าจะมีการพูดคุยและประกาศฉุกเฉินร่วมกับประเทศสมาชิก

แน่นอนว่าประเทศแอฟริกาใต้ไม่พอใจนักที่อังกฤษเดินเกมเร็ว เร่งปิดประเทศ ทั้งที่ WHO ยังไม่มีแถลงการณ์ใดๆ เนื่องจากมองว่าเป็นการทำลายภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยขณะนี้มีนักท่องเที่ยวแอฟริกาใต้เข้าสู่อังกฤษวันละ 500-700 คน และน่าจะเพิ่มมากขึ้นช่วงคริสต์มาส

 

สิ่งที่เรา “ยังไม่รู้” ณ ขณะนี้คือไวรัสพันธุ์ใหม่จะแพร่ได้เร็วกว่าเดลตาหรือไม่ จะเกิดโรครุนแรงกว่าหรือไม่ หรือทำให้มีอาการแปลกไปกว่าเดิมหรือไม่ รวมถึงจะแพร่ระบาดได้มากหรือไม่ในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง เนื่องจากศูนย์กลางระบาดปัจจุบันคือที่แอฟริกาใต้ มีประชากรรับวัคซีนครบโดสแล้วเพียง 24%

ที่มา: BBC, CNN, AP, Financial Times