รถยุคนี้ต้อง Economass

ถ้าต้องซื้อรถสักคันในช่วงนี้ มั่นใจได้ว่าคนส่วนใหญ่จะต้องมองไปที่รถในกลุ่ม Eco Car เป็นกลุ่มแรกเพราะด้วยกระแสความร้อนแรง การพูดถึง และความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน คำตอบที่ได้คงมีเหลือไม่กี่คำตอบ

อีโค่คาร์ กลายเป็นส่วนผสมการตลาดในธุรกิจรถยนต์บ้านเราไปแล้ว และส่วนผสมที่ว่านี้เข้ามาเขย่า และสร้างความเปลี่ยนแปลงในตลาดรถยนต์ได้ไม่น้อย หลังจากที่อยู่กันแบบสงบเงียบมาหลายปี

การเขย่าครั้งนี้ มีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคในบ้านเรามีอยู่เพียงกลุ่มเดียว แต่สินค้าที่ออกมาตอบสนองนั้นมีมากมายหลากหลายประเภท รถยนต์ก็ไม่ใช่มีแค่เพียงประเภทเดียว มากมายตามความต้องการผู้ซื้อ

การมาถึงของ อีโค่คาร์ กำลังจะเปลี่ยนแปลงตัวแปรต่างๆ ในธุรกิจรถยนต์ แม้ว่าช่วงแรกอีโค่คาร์จะถูกปรามาสว่าไปไม่รอดหรือจะเดินไปได้แค่ไหน

แต่เมื่ออีโคคาร์ก้าวข้ามจุดล้มเหลวมาได้ระดับหนึ่ง จนกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของตลาดรถยนต์ ที่ POSITIONING ขอเรียกสิ่งนี้ว่า Economass ปรากฏการณ์รถเล็กไล่ชนรถใหญ่

Eco Car ถูกบังคับให้โต

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า อีโค่คาร์ โครงการรถยนต์เล็กแห่งชาติของรัฐบาลจะเดินมาได้ไกลถึงเพียงนี้ เพราะว่าการเริ่มต้นของอีโค่คาร์ดูเหมือนจะทุลักทุเลพอสมควร กว่าจะได้ข้อยุติในหลายๆเรื่อง ก็ทำให้คนที่เฝ้ารอรถราคาถูกเหนื่อยใจเช่นกัน

และสิ่งที่คาดไม่ถึงก็คือผู้ที่เข้ามาทำตลาดรถอีโค่คาร์รายแรกอย่างนิสสัน จะประสบความสำเร็จแบบพลิกฟื้นเพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น

ปีแรกที่นิสสัน มาร์ชออกวางขาย มียอดขายไปแล้ว 31,000 คัน สูงสุดในรอบ 13 ปีของนิสสัน และแน่นอนว่าการทำยอดขายระดับนี้ก็คือการเข้าแย่งส่วนแบ่งตลาดของรถกลุ่มอื่นมานั่นเอง

สัดส่วนตลาดของรถขนาดเล็กแบบนี้ในบ้านเรายังไม่มี ยอดขายที่เกิดขึ้นจริงก็คือการกินส่วนแบ่งของตลาดรถนั่งขนาดเล็กในกลุ่ม B-Car และอาจลุกลามไปถึงตลาดรถกระบะบางส่วนเข้าไปด้วย

แต่ตลาดที่ถูกกระทบมากที่สุดก็คือ กลุ่ม B-Car ที่เป็นตลาดใหญ่ในตลาดรถโดยรวมของประเทศ

ศุภศักดิ์ ดุละลัมพะ ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและกิจกรรมส่งเสริมการตลาด สำนักการตลาด บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บอกอย่างไม่ลังเลเลยว่า รถอีโค่คาร์เข้าไปกินตลาดรถเครื่องยนต์ 1500 ซีซี หรือ B-Car อย่างแน่นอน เพราะหากเปรียบเทียบคุณภาพ สิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใส่เข้าไปในตัวรถ ถ้าออกแบบมาดี ช่วงล่างดี อีโค่คาร์จะเป็นตัวเลือกแรกๆ

“ทำไมคนซื้อต้องจ่ายเพิ่มอีก 2 แสนล่ะ” เขาย้ำถึงจุดได้เปรียบของรถอีโค่คาร์ ที่สะท้อนออกมาเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง

ต้องไม่ลืมว่า นิสสัน มาร์ชออกมาแบบไม่มีคู่แข่ง จะให้นำรถไหนมาเปรียบเทียบ ทางเลือกที่ดี่ที่สุดก็คือเปรียบกับตลาดรถเล็กที่มีอยู่แล้ว

ในความเป็นจริงการแข่งขันในตลาด B-Car เองก็รุนแรง ผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกค่ายมีสินค้าตัวนี้ออกมาขายอยู่แล้ว โดยมีรายใหญ่คือโตโยต้าและฮอนด้า ที่ครองตลาด ส่วนรายอื่นๆ ก็มีส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สำหรับตลาดรถกระบะก็มีบางส่วนที่อีโค่คาร์ไปแย่งลูกค้ามา แต่เกิดขึ้นจากปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้เจ้าของรถกระบะเองตัดใจยอมเปลี่ยนรถ มาใช้รถขนาดเล็ก หรือคนที่ต้องการซื้อรถคันแรกก็ตัดสินใจใหม่ เพราะราคากระบะขณะนี้แพงจนเทียบเท่ารถเก๋งขนาดกลางไปแล้ว หากเป็นรุ่นที่มีออปชั่นครบ

การแย่งหรือเปลี่ยนทัศนคติของกลุ่มผู้ซื้อรถ B-Car กับรถกระบะ ให้มาสนใจซื้อรถอีโค่คาร์ ก็ทำให้ตลาดนี้เกิดอย่างเต็มตัว

แต่ก็มีบางค่ายที่มองตลาดไกลไปกว่านั้น นั่นก็คือฮอนด้า ที่มองไปไกลถึงตลาดรถจักรยานยนต์ในต่างจังหวัด อัตราการเติบโตของจักรยานยนต์เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ อีกทั้งราคาขายก็เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา รถรุ่นใหม่เครื่องยนต์แรงๆ เริ่มต้นหลักแสนบาทขึ้นไป

อรนุช พฤกษ์วัฒนานนท์ ผู้จัดการส่วนการตลาด บริษัทฮอนด้าออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ฮอนด้า บริโอ้มองลูกค้าต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดผู้ใช้รถจักรยานยนต์ หากมีรถที่เพิ่มเงินก้อนหนึ่งแล้วได้ขับรถไปด้วยกันทั้งครอบครัว เวลาฝนตกแล้วไม่เปียก ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับลูกค้า

ฮอนด้า บริโอ้ มองตลาดรถจักรยานยนต์เป็นตลาดที่มีโอกาสสูงในการเปลี่ยนใจมาซื้อรถยนต์ เพราะการเติบโตของหัวเมืองใหญ่ต่างๆใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ

ผู้ผลิตรถอีโค่คาร์ทุกราย ต่างมีพันธสัญญากับภาครัฐตามข้อกำหนดของอีโค่คาร์ ที่ระบุไว้เลยว่าภายใน 5 ปี ต้องมียอดผลิตรถอีโค่คาร์รายละ 100,000 คัน โดยคิดรวมทั้งตลาดส่งออก และขายในประเทศ

ตัวเลขนี้หากมองเป็นยาเร่งการเติบโตของอีโค่คาร์ก็ได้ คือ ตลาดของอีโค่คาร์จะต้องขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผู้เล่นรายใหม่มาตลอดจึงต้องมีการคิดแนวทางการตลาดใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา

แต่ไม่น่าเชื่อว่ายอดผลิต 100,000 คันต่อราย เป็นเรื่องที่ผู้ผลิตอีโค่คาร์มองว่าสามารถทำได้ ทั้งในแง่การผลิต และการขายรถ

ประพัฒน์ เชยชม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาดและขาย บริษัทนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เชื่อว่าตลาดอีโค่คาร์ใน 1-2 ปี จากนี้ไป ยอดผลิตน่าจะถึง 100,000 คัน จากผู้ผลิตที่มีเสนอตัว อย่างน้อย 5 ราย ผลิตแค่รายละ 20,000 คันก็ได้แล้ว แค่ 2 ค่ายในขณะนี้ก็ 70,000 คันแล้ว

เมื่อผู้ผลิตพร้อม ผู้ซื้อพร้อม ก็ถึงเวลาเปลี่ยนผู้ชอบรถอีโค่คาร์ให้เป็นเจ้าของรถอีโค่คาร์

รถเล็กๆ การตลาดใหญ่ๆ

การเติบโตของรถอีโค่คาร์นอกจากเรื่องราคาแล้ว การใส่กลยุทธ์การตลาดเข้าไปช่วยเร่งยอดขายก็ทำให้ตลาดโตได้เช่นกัน

เมื่ออีโคคาร์มีข้อกำหนดพื้นฐานในเรื่องของขนาดเครื่องยนต์ ราคาและรายละเอียดต่างจากภาครัฐนั่นก็หมายความว่า ผู้ผลิตรถอีโค่คาร์ทุกรายจะผลิตรถในเงื่อนไขเดียวกัน แต่รายละเอียดของอุปกรณ์ หรือสิ่งที่ใส่เข้าไปในรถเป็นเรื่องของผู้ผลิตแต่ละราย หากใส่เข้าไปมากต้นทุนก็สูง ทำราคาไม่ได้

รถอีโค่คาร์หากมองในแง่ของสินค้าแล้วคุณประโยชน์ที่ผู้ซื้อได้รับ ไม่แตกต่างกันมาก เมื่อมองในแง่ของความประหยัด ลดมลภาวะ คือ ผู้ซื้อทุกรายสามารถเปลี่ยนใจข้ามแบรนด์ได้ หากไม่ใช่คนที่ยึดติดกับแบรนด์

คำตอบนี้พิสูจน์ให้เห็นจากนิสสัน มาร์ช ที่มีความแข็งแรงของแบรนด์ระดับหนึ่งในรถเซ็กเมนต์อื่น ๆ แต่เมื่อมาทำอีโค่คาร์ กลับได้รับความสนใจ และทำให้แบรนด์ของนิสสันเริ่มดีขึ้น เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

การเปลี่ยนใจของผู้บริโภคในกลุ่มรถอีโค่คาร์ ทำให้ผู้ผลิตรายอื่นๆมองเห็นแล้วว่าอีโค่คาร์ขณะนี้ทะเลยังพอมีสีน้ำเงินจางๆ อยู่บ้าง ไม่ได้เปลี่ยนเป็นทะเลสีแดง เมื่อสินค้าไม่แตกต่างกันมาก ก็ต้องมาตัดสินกันที่วิธีปิดการขาย

สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ การที่ผู้ผลิตรถอีโค่คาร์ทั้ง 3 ราย ต่างใช้รูปแบบเดียวกันในการเปิดตัวรถอีโค่คาร์ คือเปิดตัวล่วงหน้า 1 ปี ก่อนที่จะเปิดขายจริง

นิสสัน มาร์ช มีให้ดูในปี 2552 พร้อมกับบอกว่า มีนาคม 2553 เป็นเจ้าของนิสสัน มาร์ชได้

ฮอนด้า บริโอ้ มีรถให้ดูปี 2553 ขายจริงปี 2554

มิตซูบิชิ มีรถต้นแบบให้ดูปี 2554 ขายจริงปี 2555

แต่ละรายพยายามช็อกตลาดด้วยเวลา 1 ปี หรือหากมองอีกด้านหนึ่ง 1 ปีที่รอคอยนั้น ค่ายรถก็รอคอยในการสร้างและดึงลูกค้าให้มาสนใจรถของตัวเองมากที่สุด เพราะการเปลี่ยนรถแต่ละครั้ง หากรถเก่าที่ใช้อยู่ไม่เก่ามากเกินไป เกเรมากเกินไป เจ้าของรถก็ใช้เวลาในการเปลี่ยนนานเช่นกัน

1 ปีในการทำตลาดล่วงหน้าถือว่าไม่นาน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละค่ายลงมือทำอะไรบ้าง

กลยุทธ์ที่แต่ละค่ายใช้ในการโหมโรง 1 ปีรถอีโค่คาร์ของตัวเอง คือ การสร้างภาพลักษณ์ และค่อยๆ เพิ่มความต้องการเป็นเจ้าของให้กับผู้ซื้อรถ ด้วยการให้ข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การออกข่าวเป็นระยะในเรื่องของราคา อุปกรณ์

สื่อที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ บล็อก และคลับรถยนต์ต่างๆ

นิสสัน มาร์ช มีคลับมาร์ช เกิดขึ้นก่อนที่รถนิสสัน มาร์ชจะขายจริงมีคนให้ความสนใจเข้ามาติดตามข่าวในคลับที่ยังไม่มีรถ นิสสัน มาร์ชเลยสักคัน

การสร้างเครือข่ายผู้ที่ติดตามการซื้ออย่างนี้ทำให้เกิดการบอกต่อ และแพร่กระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และเป็นช่องทางหนึ่งที่ค่ายรถยนต์สามารถเข้าไปเพิ่มเติม และเลือกส่งสารที่ต้องการออกไป

การเติบโตของนิสสัน มาร์ช ส่วนหนึ่งมาจากช่องทางนี้

ฮอนด้า บริโอ้ ก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ มีคลับบริโอ้ก่อนที่จะเปิดขายเช่นกัน มีข่าวออกมาเป็นระยะ จนเมื่อเปิดตัวแล้วค่อยๆ เบาบางลงและจะมาคักคึกอีกครั้งเมื่อได้รับส่งมอบรถ

มิตซูบิชิ โกลบอล สมอล เวลานี้ก็มีบล็อก โกลบอล สมอล ออกมารอแล้วเช่นกัน

การที่มีคลับเฉพาะรุ่นแบบนี้ข้อดีคือสามารถพบกับผู้ใช้ได้โดยตรง ว่ามีความเห็นความรู้สึกอย่างไร และเป็นช่องทางหนึ่งที่ฝ่ายการตลาดเข้าไปหาข้อมูลในการวางแผนส่งเสริมการขายได้ แต่ต้องระวังไม่ให้ล้ำเส้นมากเกินไป

การตลาดก่อนขายจริงคือการเพาะความต้องการ และต้องสร้างแรงกระตุ้นความเป็นเจ้าของให้มากที่สุด เพื่อรอเวลาขายจริง ยอดขายที่เข้ามาต้องล้นทะลัก

เมื่อถึงเวลาขายจริง แผนการตลาดที่เคยทำกันมาก็ถูกนำมาใช้ตามปรกติ การเปิดตัว เปิดขาย สื่อต่างๆ และรถอีโค่คาร์ก็ยังต้องใช้สูตรเดิมในการขายรถ มีทั้งโฆษณาโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์

พรีเซ็นเตอร์ต้องแรงที่สุด

รถอีโค่คาร์เมื่อมองที่ราคาขายกับการเป็นตลาดใหม่แล้ว ถือว่าใช้เงินกับงบการตลาดไม่น้อยเมื่อเทียบกับรถประเภทอื่นๆ เริ่มตั้งแต่ตัวพรีเซ็นเตอร์ ที่นิสสัน มาร์ช ใช้เคน ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ ซึ่งเป็นดาราชายที่ฮอตที่สุดในช่วงนั้น และก็ได้ผลตามที่ต้องการ

ประพัฒน์ เชยชม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสการตลาดและขาย บริษัทนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่าโฆษณานิสสัน มาร์ช ที่มีเคน ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ เป็นพรีเซ็นเตอร์ ได้การตอบรับที่ดีมากๆ ภาพยนตร์โฆษณาที่ออกไป สื่อความหมายได้ตรงกับที่เราต้องการ

เคน เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับนิสสัน มาร์ช โดยมีภาพยนตร์โฆษณาออกมา 2 ชุดคือ รถอีโค่คาร์ประหยัด ขับสบาย และตามมาด้วยคุณภาพการผลิตตามตลาดญี่ปุ่น เพราะรุ่นนี้ส่งออกไปญี่ปุ่นด้วย

ฮอนด้า ใช้ “หมาก-ญาญ่า” เป็นคู่พรีเซ็นเตอร์ ซึ่งก็เป็นดาราคู่ร้อนอีกเช่นกัน แม้ว่าในใจลึกๆ แล้ว อาจต้องการคู่ “ณเดชน์-ญาญ่า” ก็ตามแต่ก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้

อรนุช พฤกษ์วัฒนานนท์ ผู้จัดการส่วนการตลาด บริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ที่เลือกคู่ของ หมาก และ ญาญ่า เพราะเป็นคู่ที่ดูสดใสและมีพลัง และจะเป็นผู้ส่งมอบความสุขให้กับกลุ่มลูกค้า ซึ่งจะรับกับแผนการตลาดและการสื่อสาร เพื่อมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายในวงกว้างทั่วประเทศ

ต่อไปก็ต้องรอดูว่า มิตซบิชิ จะเลือกใครมาเป็นพรีเซ็นเตอร์

กระแสของการเลือกพรีเซ็นเตอร์ในกลุ่มรถอีโค่คาร์นั้น ทุกคนมองไปที่ดาราที่ดังที่สุดในช่วงนั้นๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่า ณเดชน์ คูกิมิยะ จะเป็นชื่อแรกๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมา หากต้องการใช้พรีเซ็นเตอร์

แต่มาสด้าได้ตัวณเดชน์ไป 1 ปี ก็ต้องเปลี่ยนไปหาคนอื่นแทน

การเลือกพรีเซ็นเตอร์ที่ดังที่สุดก็สะท้อนให้เห็นว่า รถอีโค่คาร์ต้องการกลุ่มลูกค้าที่กว้างที่สุดของตลาดรถยนต์ แต่ก็คงไม่ถึงกับจะได้ครองตลาดแมสเท่ากับรถกระบะ ขอแค่ครึ่งเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับผู้ผลิต

จึงเกิดคำถามตามมาว่า ด้วยราคาของตัวรถที่ขาย กับการจ่ายค่าตัวพรีเซ็นเตอร์แถวหน้าแบบนี้ รถอีโค่คาร์ต้องลงทุนมากขนาดนั้นเชียวหรือ เพราะรถราคาแพงกว่ายังไม่ทุ่มมากขนาดนี้ ซึ่งก็น่าจะเข้าใจได้ว่าเป็นรถในกลุ่มใหม่ ต้องเริ่มสร้างกลุ่มลูกค้าขึ้นมาเอง ก็ต้องทำทุกวิธีเพื่อสร้างลูกค้าของตัวเอง

รถอีโค่คาร์ต้องมีกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากการขายรถได้แล้ว เพื่อเป็นการสร้างกลุ่มอ้างอิงให้ต่อเนื่อง จึงสามารถเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับเจ้าของรถอีโค่คาร์อยู่เสมอทั้งการจัดประกวดภาพถ่ายคู่กับรถ หรือมีกิจกรรมระหว่างเจ้าของรถด้วยกันเอง

ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้บางครั้งก็ทำผ่านคลับบนเว็บไซต์ต่างๆ รวมไปถึงค่ายรถที่จัดทำเอง

แม้แต่ Music Marketing ก็ถูกมองว่าน่าสนใจสำหรับรถอีโค่คาร์ ซึ่งทางฮอนด้าเองก็ลงไปใช้กลยุทธ์นี้แล้ว ด้วยการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคอนเสิร์ตคาราบาว 30 ปี และแน่นอนว่า รถบริโอ้จะเดินสายไปกับคอนเสิร์ต 77 ครั้งที่เกิดขึ้น

การใช้ดนตรีเข้ามาเป็นส่วนช่วยด้านการตลาดเป็นกระแสหลักที่หลายๆสินค้านำมาใช้ ซึ่งค่ายนิสสันเองก็มีแผนที่จะใช้มิวสิกมาร์เก็ตติ้งในปีนี้ด้วย แต่ยังศึกษาอยู่ว่าจะเป็นรูปแบบใด

ขายแล้ว ก็ไม่ปล่อยมือ

การตลาดหลังจากที่ขายรถอีโค่คาร์ได้แล้ว ก็ถึงขั้นตอนการรักษา และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเก่า เพื่อใช้เป็นฐานในการต่อยอดลูกค้าใหม่ การทำให้ลูกค้าเก่าเกิดความประทับใจ ง่ายกว่าจะไปเริ่มกับลูกค้าใหม่

สิ่งที่รถอีโค่คาร์กำลังสร้างให้เกิดขึ้นในใจผู้ใช้รถอีโค่คาร์ก็คือ เป็นรถที่สวยงาม ใช้แล้วภูมิใจ ไม่ใช่รถที่ดูเกรดต่ำแต่อย่างใด พร้อมๆ กับจับความต้องการลึกๆ ของผู้ซื้อรถว่าอย่างน้อยก็ต้องมีการตกแต่งรถสักหนึ่งอย่างหลังจากที่ซื้อมาแล้ว

การแต่งรถที่มาจากโรงงานผู้ผลิตรถเองก็มีเป็นรุ่นพิเศษ เหมือนกับที่นิสสัน มาร์ช รุ่น สปอร์ตเวอร์ชั่น ออกมา เพื่อเอาใจคนต้องการความเป็นสปอร์ตในรถขนาดเล็ก ซึ่งการแต่งรถอีโค่คาร์ที่มาจากโรงงานจะเน้นไปที่การใช้งาน หรือปรับแต่ช่วงล่างให้มั่นคงขึ้นมากกว่าจะเน้นความสวยงาม

อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างขึ้นมาสำหรับรถอีโค่คาร์ หรือรถที่ได้รับความนิยม นั่นก็คือ ชุดแต่งในรูปแบบต่างๆ ของสำนักแต่งรถต่างๆ

รถไหนที่ได้รับความนิยม ก็มีชุดแต่งสำเร็จรูปออกมาจำหน่าย มีหลายๆ รูปแบบ รวมทั้งแต่งให้เหมือนกับรถที่เจ้าของอยากได้ แต่ซื้อไม่ได้ หรือต้องการเลียนแบบรถคลาสสิกต่างๆ

จึงไม่น่าแปลกใจที่นิสสัน มาร์ช จะมีชุดแต่งสำเร็จรูปออกมาจำหน่ายและมีแนวทางการแต่งหลายๆ รูปแบบ และที่นิยมก็คือการแต่งให้เหมือนกับรถ MINI ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นฝากระโปรงดำหลังคาดำ

การแต่งรถเอง เดิมทำกันในกลุ่มผู้ใช้รถเล็กๆ แต่ตอนนี้การแต่งรถของผู้ใช้รถ กลายเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทรถเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มีการจัดกิจกรรมเพื่อลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ

บริษัท JAP ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดแต่งรถ บอกว่า นิสสัน มาร์ช มีเจ้าของรถนำมาแต่งมากที่สุด โดยมีชุดแต่งสำเร็จรูปให้ติดตั้ง ราคาตั้งแต่ 8,900 บาท จนถึง 14,900 บาท ซึ่งรถที่ใส่ชุดแต่งเข้าไปแล้วเจ้าของรถก็ดูพอใจขึ้น

“นิสสัน มาร์ชเอามาแต่งให้เหมือนมินิ ใช้เงินไม่มาก แต่ถ้าซื้อมินิมาแต่งก็หมดเงินเป็นล้าน” พนักงานของ JAP เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่นิสสัน มาร์ช แปลงร่างเป็น MINI

ส่วนแฟนของฮอนด้า บริโอ้ ก็ต้องอดใจรอเพราะว่ายังไม่มีรถส่งมอบสำนักแต่งก็ไม่มีตัวอย่างให้ทำชุดแต่ง

นอกจากนี้รถอีโค่คาร์ยังพยายามสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความแข็งแกร่ง ทนทาน ด้วยการส่งลงแข่งในสนามแข่งรายการต่าง ๆ ด้วยการใช้รถอีโค่คาร์ที่ผลิตจากโรงงาน ไม่ได้มีการปรับแต่งเครื่องยนต์

นิสสัน มาร์ช ประจำการอยู่ในทีมรถแข่ง และมีผู้หญิงเป็นผู้ขับด้วย

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นอย่างตอ่ เนื่องกับรถอีโค่คาร์ ก็คือการสร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าทั้งเรื่องคุณภาพ ความสวยงาม ผ่านกลุ่มผู้ใช้จริงเพราะรถอีโค่คาร์ไม่มีกลุ่มลูกค้าอ้างอิงเก่าๆ เพราะเป็นตลาดใหม่ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมา

พร้อมๆ กับย้ำว่า รถอีโค่คาร์ ไม่ใช่รถเอื้ออาทร

Eco Car วิ่งไกลถึงไหน

ถ้าหากมองเฉพาะตลาดรถอีโค่คาร์โดยตรง กับจำนวนผู้ผลิต ปัจจุบันมีเพียง 2 รายคือนิสสัน และฮอนด้า ที่เริ่มปักเขตอาณาบริเวณของรถอีโค่คาร์จากวงเล็กๆ และค่อยๆ ขยายให้ใหญ่ขึ้นทุกวัน

การเข้ามาของรายต่อไป จะมาช่วยกันขยายวงของรถอีโค่คาร์ให้ใหญ่ขึ้นอีก จากปริมาณการผลิต ราคาขาย การยอมรับของผู้บริโภคพร้อมๆ กับปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่จะทำให้คนมาสนใจรถขนาดเล็กประหยัดน้ำมันมากขึ้นตามไปด้วย

อีโค่คาร์ถูกวางตำแหน่งให้เป็นรถราคาถูก ประหยัด เพื่อขายให้กับลูกค้าที่ต้องการรถขนาดเล็ก แต่แนวคิดนี้ถูกปรับและขยายออกไปให้กว้างกว่าเดิม จนกลายเป็นรถประชานิยม เพราะจากกลยุทธ์ต่างๆ ที่ค่ายรถทำออกมาคือการคลุมตลาดทุกส่วน กินส่วนแบ่งของทุกเซ็กเมนต์

ผู้ผลิตรถอีโค่คาร์ กำลังพยายามอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นในตัวคุณภาพสินค้า และให้รู้สึกว่ารถอีโค่คาร์ ไม่ได้ต่ำต้อย หรือเป็นรถเกรดต่ำในตลาด ทั้งยังสามารถนำมาปรับแต่งให้ทัดเทียมกับรถราคาแพงได้

ช่วงนี้รถใหม่ป้ายแดงอายุการใช้งานไม่ถึง 1 ปี ยังไม่ปรากฏอาการเกเร หรือเสียหาย ต้องรอให้ถึงรอบของการซ่อมบำรุง จึงจะได้คำตอบว่า รถดีจริงหรือไม่ ซึ่งเวลานั้นจะมาถึงในอีกไม่นานนี้

แน่นอนว่าช่วงแรกรถประเภทอื่นๆ ก็คงต้องดูท่าทีว่าส่วนแบ่งตลาดถูกแย่งไปมากน้อยแค่ไหน หากอยู่ในระดับที่อันตราย การตอบโต้กลับก็จะเกิดขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งของตัวเอง

ลืมเรื่องสงครามราคาไปได้ เพราะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้นทุนการผลิต บวกกับต้นทุนการตลาด ไม่เปิดโอกาสให้ลดราคามาแข่งกันแบบถล่มทลายได้

แต่เมื่อดูผู้ผลิตรถที่เข้าร่วมโครงการรถอีโค่คาร์ ก็มากันหมดทุกค่ายที่มีโรงงานประกอบในประเทศ แต่กมีบ้างที่รีรอ ขอดูตลาดก่อนว่าไปได้ขนาดไหน

รถอีโค่คาร์ กลายเป็นเครื่องมือของแบรนด์รอง ลุกขึ้นมาต่อสู้กับแบรนด์ใหญ่ที่ครองตลาดอยู่ เพราะแบรนด์รองไม่ต้องห่วงเรื่องการสูญเสีย มีแต่ได้กับเสมอตัว

แบรนด์ใหญ่มีสินค้าที่ต้องดูแลหลายตัว จะขยับอะไรก็กระทบไปหมด

รถอีโค่คาร์ขณะนี้เครื่องยนต์ถูกสตาร์ทให้ติด และออกเดินทางแล้ว จากนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ผู้ขับแล้วว่าจะควบคุมรถไปทิศทางใด เติมน้ำมันมากพอกับการเดินทางหรือไม่

และพึงระวังประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางด้วย

คุณสมบัติรถ Eco car ตามมติ ครม.ปี 2550

  1. ต้องเป็นรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 1,300 – 1400 CC
  2. ต้องมีกำลังการผลิต 1 แสนคัน ภายใน 5 ปี
  3. ต้องตั้งโรงงานและเริ่มผลิตรถยนต์ให้ได้ภานในปี 2552
  4. มีอัตราการใช้น้ำมัน 20 กม.ต่อ 1 ลิตร
  5. ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ไม่เกิน 1.0 กรัมต่อ 1 กม.
  6. ปล่อยก๊าซไฮโดรคาร์บอนได้ไม่เกิน 0.1 กรัมต่อ 1 กม.
  7. ต้องได้มาตรฐานความปลอดภัยตามเกณฑ์ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรปแห่งสหประชาชาติ (UNECE)
ยอดขายรถยนต์ทุกประเภทปี 2553*
ปริมาณการขายรวม 800,357 คัน +45.8%
รถยนต์นั่ง 346,644 คัน +50.7%
รถเพื่อการพาณิชย์ 453,713 คัน +42.3%
รถกระบะ1 ตัน
(รวมรถกระบะดัดแปลง)
387,793 คัน +40.6%
รถกระบะ1 ตัน
(ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)
347,314 คัน +40.1%
* เปรียบเทียบกับปี 2552 ที่มา บ.โตโยต้า (ประเทศไทย)
ค่ายรถยนต์ที่มีเสนอตัวผลิตรถอีโค่คาร์
บริษัท รุ่น เริ่มจำหน่าย
นิสสัน มาร์ช 2553
ฮอนด้า บริโอ้ 2554
มิตซูบิชิ โกลบอล สมอล 2555
ซูซูกิ
โตโยต้า
ค่ายรถที่ถอนตัวจากการผลิตรถอีโค่คาร์
บริษัท เหตุผล
ทาทา ไม่พร้อมแข่งขัน
โฟล์คสวาเกน ร่วมผลิตกับซูซูกิ
สัดส่วนตลาดขายรถยนต์ปี 2553
บริษัท ยอดขาย(คัน) เพิ่มขึ้น (%) ส่วนแบ่งตลาด (%)
1. โตโยต้า 326,007 41.4 40.7
2. อีซูซุ 152,787 37.7 19.1
3. ฮอนด้า 114,056 22.1 14.3
ที่มา บ.โตโยต้า (ประเทศไทย)
สัดส่วนตลาดรถยนต์นั่งปี 2553
บริษัท ยอดขาย(คัน) เพิ่มขึ้น (%) ส่วนแบ่งตลาด (%)
1 โตโยต้า 141,733 40.7 40.9
2 ฮอนด้า 104,516 18.6 30.2
3 นิสสัน 30,070 215.2 8.7
ที่มา บ.โตโยต้า (ประเทศไทย)
สัดส่วนตลาดรถกระบะ 1 ตันนั่งปี 2553
บริษัท ยอดขาย(คัน) เพิ่มขึ้น (%) ส่วนแบ่งตลาด (%)
1 โตโยต้า 164,795 40.5 42.5
2 อีซูซุ 141,803 37.0 36.6
3 มิตซูบิชิ 31,216 102.7 8.0
สถิติการขายรถยนต์ของโตโยต้า ในปี 2553
ยอดขาย 326,007 คัน +41.4% ส่วนแบ่งตลาด 40.7%
รถยนต์นั่ง 141,733 คัน +40.7% ส่วนแบ่งตลาด 40.9%
รถเพื่อการพาณิชย์ 184,274 คัน +41.9% ส่วนแบ่งตลาด 40.6%
รถกระบะ 1 ตัน
(รวมรถกระบะดัดแปลง)
164,795 คัน +40.5% ส่วนแบ่งตลาด 42.5%
รถกระบะ 1 ตัน
(ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)
144,190 คัน +41.3% ส่วนแบ่งตลาด 41.5%
ที่มา บ.โตโยต้า (ประเทศไทย)
Timeline Eco car
2550
  • รัฐบาลประกาศเงื่อนไขรถอีโค่คาร์ รถยนต์ขนาดเล็กพร้อมให้เงื่อนไขสิทธิพิเศษทางภาษี (BOI) และปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต
2551-2552
  • ผู้ผลิตรถยนต์เสนอตัวเข้าร่วมโครงการ 7 รายถอนตัวออกไป 2 ราย
  • นิสสัน เปิดตัวรถอีโค่คาร์ รุ่น มาร์ช เปิดขายปี 2553
2553
  • 12 มีนาคม นิสสัน มาร์ช เปิดขายปีแรกขายได้ 31,000 คัน และยังมีรถรอบส่งมอบ 5 เดือน
  • ธันวาคม ฮอนด้าโชว์รถอีโค่คาร์ รุ่นบริโอ้ เปิดขายปี 2554
2554
  • 17 มีนาคม ฮอนด้าเปิดตัวและขายรถอีโค่คาร์ รุ่นบริโอ้
  • 24 มีนาคม มิตซูบิชิ โชว์รถต้นแบบอีโค่คาร์ รุ่นโกลบอล สมอล เปิดขายปี 2555