ค่ายรถยนต์อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เป็นผู้เสนอตัวในการผลิตรถอีโค่คาร์ ตามประกาศของรัฐบาล แต่มีสินค้าในไลน์เดียวกับอีโค่คาร์ หรือบางครั้งมีรถที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่สามารถตั้งราคาขายได้ใกล้เคียงกับอีโค่คาร์ ก็อาศัยการเติบโตของอีโค่คาร์ เข้ามาสร้างยอดขายเช่นกัน
รถยนต์ในกลุ่มนี้คือรถจากประเทศจีน เกาหลี และมาเลเซีย ที่ว่าไปแล้วก็มีความพร้อม และมีการสนับสนุนที่มากพอจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ จึงทำให้การตั้งราคาขาย หรือโปรโมชั่นต่างๆ ที่พอเบียดกับอีโค่คาร์ได้
เฌอรี่ รถจีนในเงาของซีพี
ค่ายที่มาแบบน่าสนใจ และดูเหมือนว่าจะเดินไปได้ดีคือ แบรนด์เฌอรี่ จากประเทศจีน ที่ได้เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้ามาถือหุ้นร่วมกับบริษัทไทยยานยนต์ โดยเจริญโภคภัณฑ์ดูแลเรื่องการเจรจากับทางผู้ผลิตฝ่ายจีน ส่วนไทยยานยนต์ดูแลเรื่องการขายทั้งหมด
ความน่าสนใจของเฌอรี่ คือ การเป็นรถจีนที่มีโรงงานประกอบทันสมัย สามารถตั้งราคาที่เชิญชวนได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การรับรู้ในเรื่องสินค้าจีนที่ผู้บริโภคมีอยู่ ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อได้
กลิน บุณยนิตย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ไทยเฌอรี่ยานยนต์ จำกัด บอกว่า ต้องยอมรับแบรนด์เฌอรี่ยังใหม่ในสายผู้บริโภค ยังมีพื้นที่อีกมากที่ต้องเข้าไปพรีเซนต์แบรนด์ของเรา ยังมีลูกค้าอีกส่วนหนึ่งที่ไม่รู้จักแบรนด์ของเรา เป็นหน้าที่ของการตลาด ที่จะนำเสนอตราสินค้าของเราให้เป็นที่รู้จัก
“การที่แบรนด์เราไม่ใหญ่ เราต้องดูแลเรื่องบริการหลังการขายเป็นพิเศษ ถ้าเป็นไปตามเป้าในการเปิดโชว์รูมปีนี้ 10 แห่ง น่าจะทำให้ลูกค้ารู้จักเฌอรี่มากขึ้น จากเดิมมี 18 แห่งทั่วประเทศ ”
เฌอรี่ประเมินว่าตลาดในกรุงเทพฯ ลูกค้าจะยึดถือเรื่องแบรนด์สูง แต่ว่ายอดจำหน่ายอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัด การยึดถือเรื่องแบรนด์จะไม่เท่ากับในเมือง ดูจากการตอบรับของตลาดทำได้มากกว่า
แต่เขามองว่า การที่เฌอรี่เป็นแบรนด์รอง เป็นสิ่งที่ได้เปรียบ สามารถทำตลาดได้หลากหลาย มีความคล่องตัว ทำกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะรายของลูกค้าได้ แต่ถ้าแบรนด์ใหญ่ต้องดูทั่วประเทศ การแบ่งพื้นที่ทำการตลาดได้เฉพาะจุดเท่านั้น
ทำให้กลยุทธ์การตลาดของเฌอรี่ในปีที่ผ่านมาจะลงไปที่กิจกรรมในพื้นที่ขายเป็นหลักโดยแบ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นการขาย ด้วยการเปิดบูธศูนย์การค้า จัดโปรโมชั่นแรงๆ เสนอขายกันตรงๆ อีกส่วนหนึ่งคือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสินค้า มีการจัดทดสอบขับรถ แนะนำสินค้า ซึ่งใช้ในช่วงแรกที่เปิดตัว
แม้แต่การใช้ศิลปินนักร้องมาช่วยยอดขาย เฌอรี่ก็ทำเช่นเดียวกับรายอื่น แต่ไม่ได้ทำเต็มรูปแบบ เป็นการเข้ามาร่วมในกิจกรรมที่บริษัทจัดขึ้นมาเท่านั้น โดยวงที่เลือกใช้คือ สินเจริญ บราเธอร์
กลินบอกว่า เป็นพรีเซ็นเตอร์ที่ค่อนข้างวาไรตี้ ทั้งครอบครัวของเขาสามารถเข้ากับรถหลายๆรุ่นของเฌอรี่ และมี เพลงที่แต่งให้เฌอรี่ การอิงกลุ่มแฟนคลับของสินเจริญน่าจะทำให้แบรนด์เฌอรี่เป็นที่รู้จักมากขึ้น
“เราเริ่มจากการคุยกับพวกเขา ไม่ได้คุยเรื่องธุรกิจ เขาแฮปปี้กับสินค้าของเรา และเขาชอบสินค้าของเรา ก็เลยร่วมกัน มีการร่วมงานกันเป็นงานๆ ไม่ได้เป็นสัญญายาว และครอบครัวนี้เป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทของเราอยู่แล้ว”
พร้อมกันนั้นก็มีกิจกรรมเป็นการขอบคุณลูกค้าเก่าที่ซื้อรถเฌอรี่ไป ต้องดูแลให้ดี ซึ่งบริษัทวางนโยบายไว้ว่า ดูแลตั้งแต่ยังไม่เป็นลูกค้า ตั้งแต่เดินเข้ามาในบูธ จนซื้อรถหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนรถ ต้องดูแลอย่างดี ซึ่งเป็นการบอกและยืนยันว่า เฌอรี่ยังทำตลาดในประเทศไทยต่อไป ไม่ได้หายหน้าไปไหน
สำหรับตลาดรถอีโค่คาร์ที่ขณะนี้มีผู้เล่นถึง 2 รายที่เปิดตัวรถแล้ว และมีอีก 1 รายที่กำลังจะเข้าตลาด จะทำให้รถเฌอรี่ตกลงไปหรือไม่ กลินให้ความเห็นว่า ตอนที่นิสสัน มาร์ช มา ทำให้ตลาดรถเล็กนิ่งไปเลย แต่พอผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง พอลูกค้าได้เปรียบเทียบและสัมผัสรถ ก็ทำให้ลูกค้าหันมามองเฌอรื่ได้เหมือนกัน ฮอนด้ามาก็หยุดตลาดทุกแบรนด์เหมือนกัน แต่เป็นช่วงเวลาหนึ่ง ก็กลับมาเหมือนเดิม
“ตัวรถเล็ก เฌอรี่มองลูกค้าไม่ถึงระดับอีโค่คาร์ แต่ต้องเป็นลูกค้าที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงพอสมควร อาจจะสนใจในคุณภาพและออปชั่น คุณภาพต่อราคาที่จ่ายไป เราไม่ได้บอกว่ารถเฌอรี่เป็นรถที่ถูกที่สุดในตลาด แต่เมื่อเทียบความคุ้มค่า เรามั่นใจว่รถเราคุ้มค่าที่จ่ายไป”
รถจากจีนต้องใช้เวลาสร้างให้ลูกค้าเชื่อมั่นสินค้าก่อน ต้องผ่าน 3-4 ปี แล้วสัมผัสได้ว่ารถดีจริง ไม่ได้โดนทิ้ง เพราะลูกค้ากลัวว่าซื้อแล้วจะทิ้งหรือทำตลาดต่อหรือไม่
ยอดขายรถเฌอรี่ขณะนี้มีอยู่ 2,000 คัน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นรถเฌอรี่วิ่งอยู่ยนถนนน้อย
“ตอนแรกที่เข้ามาทำงาน พอเห็นรถของเราก็ตกใจ และดีใจมาก เหมือนเราเห็นรถเฟอร์รารี่ เพราะเห็นได้น้อยมาก ตื่นเต้น หลังๆ เห็นได้ทุกวัน เห็นตามห้างมากขึ้นแล้ว”
แต่สิ่งที่เฌอรี่คาดหวังในช่วงปีนี้คือ การขายในรถเซ็กเมนต์อื่น นั่คือตลาดรถตู้โดยสารในรุ่น Big D ที่ถอดแบบมาจากรถโตโยต้า รุ่นคอมมูเตอร์ เพื่อใช้วิ่งเป็นรถตู้โดยสารสาธารณะ
รถตู้รุ่นนี้ใช้เครื่องยนต์เบนซิน และติดตั้งก๊าซ NGV จากโรงงาน และขณะนี้ได้มีการติดต่อกับวินรถตู้หลายๆ แห่ง เพื่อเสนอเงื่อนไขพิเศษต่างๆ ให้กับผู้ซื้อ เพราะกลินเชื่อว่าหากมีรถตู้เฌอรี่วิ่งเต็มท้องถนนในกรุงเทพฯ ตลอดเวลา ชื่อเสียงแบรนด์ของเฌอรี่น่าจะเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น
การเปิดตลาดรถตู้ และรถอเนกประสงค์ ในรุ่น Tingo น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขยายตลาด และเขาให้เหตุผลว่า ตลาดรถเล็ก บริษัทได้ออกแรงทำมา 2 ปี ถือว่าตลาดเริ่มเดินไปได้แล้ว ไม่ต้องออกแรงเหมือนช่วงต้น สามารถหาสินค้าในไลน์อื่นมาขายเสริมได้
เกีย ค่ายเกาหลีส่งซิตี้คาร์ชนอีโค่คาร์
ความเคลื่อนไหวของค่ายรถยนต์เกาหลีที่มีส่วนหนึ่งออกมาชนกับอีโค่คาร์ ต้องยกให้เกีย ที่มีกลุ่มยนตรกิจเป็นตัวแทนจำหน่าย
เกีย ส่งรถซิตี้คาร์ออกมาเก็บตลาดรถเล็กในราคาเริ่มต้น 400,000 บาทมาก่อนที่จะเกิดอีโค่คาร์อยู่แล้วในรุ่น พิแคนโต้ และมีนอดขายไม่หวือหวานัก เนื่องจากแบรนด์ของเกียเอง มุ่งไปที่รถกระบะ รถตู้ และรถอเนกประสงค์ การเข้าตลาดรถเล็กยังเป็นจุดด้อย ทั้งในเรื่องศูนย์บริการ และทัศนคติของผู้ใช้
เกีย พิแคนโต้ เข้ามาเปิดตัวตั้งแต่ปี 2009 ราคาค่าเริ่มต้นที่ 398,000 บาท ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และรุ่นเกียร์อัตโนมัติ ราคา 469,000 บาท องค์ประกอบภายในรถก็ไม่ได้ดูด้อยกว่ารถค่ายอื่นเท่าไหร่นัก แต่ยอดขายไม่ได้เป็นที่กล่าวถึงเท่านั้นเอง
หลังจากที่ค่ายญี่ปุ่นส่งรถอีโค่คาร์เข้ามาในตลาด ก็ทำให้สถานกาณ์ของรถซิตี้คาร์เงียบลงไปเช่นกัน อย่าลืมว่าความแข็งแกร่งของแบรนด์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ซื้อรถต้องขบคิดเช่นกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่างในเรื่องเครื่องยนต์ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพิ่มเติมเข้ามาก็ตาม
เกีย มองตลาดรถอีโค่คาร์ที่มีช่องว่างในเรื่องของการรอรถนาน แต่รถเกียไม่ต้องรอ และราคาเท่ากัน ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ซื้อได้
กิจกรรมการตลาดของค่ายเกีย ไม่ได้มีสีสันมากมายเท่ารถแบรนด์ใหญ่ ในรุ่นพิแคนโต้นี้เคยได้ ติ๊ก ชีโร่ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในสื่อสิ่งพิมพ์ให้ เพราะว่าติ๊กคือลูกค้ารายหนึ่งของเกีย ซื้อเพราะความชอบในรูปร่างหน้าตา จึงได้กลายมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ชั่วคราวให้กับเกีย
โปรตอน รถมาเลเชีย ทำตลาดล่างมาตลอด
ค่ายรถยนต์จากมาเลเชียอย่างโปรตอน หลังจากที่บริษัทพระนครยนตรการเข้ามาทำหน้าที่ตัวแทนจำหน่าย ก็ลงตลาดรถเล็ก และรถขนาดกลางมาตลอด และรถที่เป็นตัวเปิดตลาดให้กับค่ายนี้ก็คือรถเล็กในรุ่น แซฟวี่ และซาก้า ที่ตั้งราคาขายแบบชนรถอีโค่คาร์คือ 399,000 บาท สำหรับเกียรธรรมดา และเครื่องยนต์ 1300 ซีซี
โปรตอนเป็นอีกค่ายรถยนต์หนึ่งที่ผู้ใช้รถให้ความสนใจ เพราะอย่างน้อยมีทางเลือกในเรื่องของขนาดเครื่องยนต์ และราคาที่ไม่แตกต่างจากอีโค่คาร์เท่าไหร่นัก แต่ปัญหาของค่ายรถจากมาเลเซียแบรนด์นี้คือความน่าเชื่อถือ และทัศนคติของผู้บริโภค ถึงรถจะมาจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นทางเลือกแรกๆ ของผู้ใช้
โปรตอนยังต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อถือในเรื่องของคุณภาพ ศูนย์บริการ อะไหล่ หลังจากที่เคยถูกผู้ใช้กระหน่ำอย่างหนักในโลกออนไลน์เรื่องราคาของอะไหล่ชิ้นส่วน ที่ลูกค้าบางคนลงทุนเดินทางไปมาเลเซียเพื่อซื้ออะไหล่ชิ้นหนึ่ง ที่ราคาถูกกว่าศูนย์บริการในเมืองไทยแบบน่าตกใจ
แผนการตลาดของโปรตอน ไม่มีอะไรที่แตกต่างจากรถค่ายเกาหลีและจีนมากนัก ยังคงทำแบบประเพณีนิยม คือการออกบูธ จัดกิจกรรม และใช้แคมเปญเรื่องราคา และดอกเบี้ยมาเป็นแกนหลัก
เฌอรี่ คิว คิว | |
Official Launch | มีนาคม 2552 |
Positioning | รถคุณภาพดีจากประเทศจีน |
Product Details | 1. รถยนต์ขนาดเล็ก รุ่นคิวคิว 2. รถยนต์อเนกประสงค์ รุ่นทิคโก้ 3. รถยนต์ อเนกประสงค์ รุ่นครอส 4. รถตู้ขนส่ง รุ่น บิ๊กดี |
Target | คนทำงาน นักศึกษา ผู้สูงอายุ |
Strategy | Good quality at affordable price |
Competitor | ฮอนด้า บริโอ้ มิตซูบิชิ นิสสัน มาร์ช เกีย พิแคนโต้ โปรตอน ซาก้า |
ยอดขายรถเฌอรี่ | |
ปี | จำนวน (คัน) |
2553 | 1,000 |
2554 | 1,000 * |
*ประมาณการ |
สัดส่วนการขายรถเฌอรี่ | |
คิว คิว | 90% |
ทิคโก้ ครอส เอวัน | 10% |
เกีย พิแคนโต้ เค วัน | |
Official Launch | มีนาคม 2554 |
Positioning | รถซิตี้คาร์ของเกาหลี |
Product Details | เครื่องยนต์ 4 สูบ 1250 ซีซี |
Tagket | รถคันแรกของคนทำงาน |
Strategy | รถเล็กประหยัดน้ำมัน |
Competitor | ฮอนด้า บริโอ้ นิสสัน มาร์ช โปรตอน ซาก้า |
ยอดขายรถเกีย | |
ปี | จำนวน (คัน) |
2553 | 600 |
2554 | 1,800 * |
*ประมาณการ |
ประมาณการสัดส่วนการขายรถเกีย | |
พิแคนโต้ | 1,000 คัน |
โซล เค 2900 | 800 คัน |
โปรตอน ซาก้า | |
Official Launch | พฤศจิกายน 2553 |
Positioning | รถซิตี้คาร์จากมาเลยเซีย |
Product Details | เครื่องยนต์ 4 สูบ 1300 ซีซี ขนาดใหญ่และบรรทุกได้มากกว่าอีโคค่าร |
Tagket | คนทำงาน นักศึกษา |
Strategy | รถเล็กในประหยัดแต่มีพื้นที่มากขึ้น |
Competitor | ฮอนด้า บริโอ้ นิสสัน มาร์ช เกีย พิแคนโต้ |
ยอดขายรถโปรตอน | |
ปี | จำนวน (คัน) |
2551 | 4,000 |
2552 | 4,500 |
2553 | 6,000 |
สัดส่วนการขายรถโปรตอนปี 2553 | |
เอ็กซ์โซล่าร์ | 2,500 คัน |
ซาก้า | 1,500 คัน |
แซฟวี่ นีโอ เจน 2 | 2,000 คัน |