จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) ประกาศนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการประกาศรับสมัครงาน โดยไม่ระบุข้อจำกัดทางเพศ อายุ เชื้อชาติ สถานภาพสมรส ฯลฯ เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่เสมอภาค เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
วันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ นับเป็น ‘วันสิทธิมนุษยชนสากล’ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อให้ความสำคัญกับสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ ด้วยความเป็นธรรมและเสมอภาคกัน จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) จึงขอร่วมเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในตลาดงานประเทศไทย ผ่านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการประกาศรับสมัครงาน โดยไม่ระบุข้อจำกัดทางเพศ อายุ เชื้อชาติ สถานภาพสมรส ฯลฯ เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่เสมอภาค และทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
ในปัจจุบัน หลายบริษัททั้งภาครัฐ และเอกชนได้ร่วมรณรงค์และจัดตั้งนโยบายการจ้างงาน และการทำงานอย่างเป็นธรรมให้กับพนักงาน ทั้งนี้ เพื่อรักษาสิทธิมนุษยชน และสร้างความเสมอภาคในการได้รับโอกาสการจ้างงานให้เกิดขึ้นภายในองค์กร
จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) จึงจัดตั้งนโยบายให้ผู้ประกอบการลงประกาศรับสมัครงานโดยไม่จำกัดอายุ เพศ เชื้อชาติ สัญชาติ สถานภาพสมรส และปัจจัยอื่น ๆ ที่สื่อถึงการเลือกปฏิบัติในประกาศงานทุกตำแหน่งที่เปิดรับ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
นโยบายนี้ได้รับการชื่นชมจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สำหรับการแสดงเจตนารมณ์อย่างจริงจังเพื่อช่วยขับเคลื่อนสู่สังคมแห่งความเสมอภาค ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าว นอกจากจะช่วยองค์กรให้ได้ผู้หางานที่มีประสบการณ์ ความรู้ และความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสสู่ความสำเร็จของผู้หางานทุกคนทุกกลุ่มในประเทศไทยที่ล้วนมีความสามารถแตกต่างหลากหลายเฉพาะบุคคล
พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า
“ปัจจุบัน สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถก็เริ่มเข้าสู่ตลาดงานมากขึ้น ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มาพร้อมกับวิถีชีวิตและบทบาทของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลง ผู้คนในปัจจุบันมีความรู้ความเข้าใจ และเปิดรับความหลากหลายและความแตกต่างระหว่างบุคคลมากขึ้น จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) ในฐานะแพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย เรามุ่งมั่นที่จะเชื่อมต่อผู้ประกอบการและผู้หางาน โดยให้ความสำคัญที่ประสบการณ์ และความรู้ความสามารถของผู้หางานเป็นหลัก เพื่อการหางานที่มีประสิทธิภาพและผลักดันการจ้างงานในระยะยาวโดยคำนึงถึงความเท่าเทียมกัน การขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้มองข้ามข้อจำกัดด้านสถานภาพทางสังคม ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่ความเสมอภาคในการจ้างงานอย่างยั่งยืนในอนาคต”