KTC กรุยเส้นทางใหม่ ปั้น MAAI By KTC รุกตลาด “ลอยัลตี้ แพลตฟอร์ม” ครบวงจร

เมื่อไวรัส COVID-19 อยู่กับเราเข้าสู่ปีที่ 3 ภาคธุรกิจมีการปรับตัว พลิกมุมคิดกันหลายตลบ เพื่อความอยู่รอด และรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ดูจะมีความท้าทายรอบด้าน แต่ก็ยังมีการเติบโตท่ามกลางวิกฤต ทำให้ KTC มีการปรับตัวครั้งใหญ่ ชู 2 โปรดักต์ฮีโร่ “เคทีซี พี่เบิ้ม” และ “MAAI By KTC” หวังสร้างกำไรที่ยั่งยืน

เดินหน้าสร้างนิวไฮระลอกใหม่!

ในปี 2564 ที่ประเทศไทย และทั่วโลกต้องเจอกับความผันผวน ความไม่แน่นอนต่างๆ รอบตัว แต่ KTC ยังคงสร้างกำไรแบบนิวไฮได้ แต่ก็ต้องบอกว่ายังต้องเจอกับความท้าทายรอบด้าน พร้อมกับมาตรการด้านดอกเบี้ยจากทางภาครัฐ ทำให้ธุรกิจสินเชื่อ และบัตรเครดิตไม่สามารถขยายตัวได้เท่าที่ควร

ทำให้ KTC ต้องสร้างเส้นทางใหม่เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้น หวังดันพอร์ตเกินแสนล้านบาท พร้อมกับสร้างกำไรนิวไฮอีกระลอก โดยพระเอกและนางเอกในปีนี้อยู่ที่ 2 โปรดักต์ ได้แก่ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ และ “MAAI By KTC” ให้บริการด้านลอยัลตี้ แพลตฟอร์มแบบครบวงจร

ktc

ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

“หลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีการเปิดประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้เศรษฐกิจ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีกับตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค และเป็นโอกาสที่จะผลักดันธุรกิจเคทีซีให้เติบโต และมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสถิติใหม่ของการทำกำไรสูงสุดมากกว่า 6,000 ล้านบาท กับพอร์ตสินเชื่อที่เกินแสนล้านบาท ด้วยสองโมเดลธุรกิจใหม่ที่เราตั้งใจสร้างขึ้นกับการออกเดินทางครั้งใหม่ เพื่อส่งความสุขเป็นของรับขวัญสมาชิกหลังผ่านความทุกข์จากวิกฤต รวมทั้งการเดินหน้าธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพื่อขยายฐานสมาชิกกลุ่มใหม่และดูแลคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ตลอดจนคัดสรรสิทธิประโยชน์ที่ทรงคุณค่าตอบสนองทุกความต้องการของสมาชิกกว่า 3.3 ล้านบัญชี”

รู้จัก MAAI BY KTC ยูนิตที่คิดแบบสตาร์ทอัพ

ในปีนี้ KTC ได้ฤกษ์คลอดลูกสาวคนใหม่ได้แตกเป็นอีกหนึ่งธุรกิจภายใต้บัตรเครดิต ก็คือ MAAI BY KTC เป็นบริการลอยัลตี้ แพลตฟอร์มแบบครบวงจร เรียกว่าไม่ได้เป็นการหาลูกค้าในกลุ่มสินเชื่ออีกต่อไป แต่เป็นการหาลูกค้ากลุ่มองค์กร ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นพาร์ตเนอร์ของ KTC อยู่หรือไม่ ก็สามารถใช้บริการได้

ระเฑียรเล่าว่า การเปิดยูนิต MAAI BY KTC เหมือนเป็นการคิด การทำงานแบบ “สตาร์ทอัพ” เป็นครั้งแรก เพราะแต่เดิม KTC จะเป็นองค์กรที่ค่อนข้างจะ Conservative (อนุรักษนิยม) ไม่ค่อยลงทุนในสตาร์ทอัพ เพราะรู้สึกไม่คุ้มกับการเอาเงินไปเผา ถ้าในภาษาธุรกิจ เรียกง่ายๆ ว่า ในการจะออกโปรดักต์แต่ละครั้งต้องมีการวางแผน การคิดที่ถี่ถ้วน กว่าจะลงทุนในแต่ละครั้ง

ktc

แต่ MAAI BY KTC เป็นการคิดแบบสตาร์ทอัพ มีทีมแบบสตาร์ทอัพ ที่ปล่อยให้ทดลองตลาด ดูผลตอบรับ และขยายผลในอนาคต เพื่อเชื่อมต่อเป็นอีโคซิสเท็มของ KTC

ทางด้าน ประณยา นิถานานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – การตลาดบัตรเครดิต ผู้ดูแลโปรเจกต์ MAAI BY KTC เริ่มเล่าว่า

“เริ่มคิดโปรเจกต์นี้ได้ประมาณ 1 ปี คุณระเฑียรให้ไอเดียว่าลองคิดว่าจะ Diversify ธุรกิจอะไรได้บ้าง ลอยัลตี้มันมีโอกาสยังสามารถต่อยอดได้ เราเลยต่อยอดจากจุดแข็งที่เราทำคะแนนสะสม KTC FOREVER มา 25 ปี เราแข็งแกร่งในการทำระบบตรงนี้ จึงนำเสนอเป็นอีโคซิสเท็ม การบริหารจัดการข้อมูลลูกค้า การเก็บข้อมูล ระบบคะแนนสะสม การโอน แลกคะแนน ตั้งเป้าว่าปีนี้จะต้องมี 10 พันธมิตร และมีสมาชิก 1 ล้านราย”

MAAI BY KTC เป็นลอยัลตี้ แพลตฟอร์มแบบครบวงจร เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้บริการกับพันธมิตรมีโซลูชันส์ที่สำคัญ คือ

  1. ระบบบริหารจัดการสมาชิก (Membership Management)
  2. ระบบบริหารจัดการคะแนน (Point System Management) ไม่ว่าเป็นคะแนนของพันธมิตรเอง หรือจะใช้คะแนน MAAIPOINT ในการทำ Loyalty Program ก็ทำได้เช่นกัน โดยคะแนน MAAIPOINT นี้ สามารถใช้เป็นคะแนนกลางในการแลกเปลี่ยนกับคะแนนอื่นๆ ในกลุ่มพันธมิตรบน MAAI Platform ได้ด้วย
  3. ระบบบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ในรูปแบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Coupon Management) เพื่อให้การแลกคะแนนมีความหลากหลาย ตรงใจกลุ่มลูกค้าสมาชิก ไม่ว่าจะแลกเป็นอีคูปอง (E-Coupon) หรือแลกสินค้าได้ที่ร้านค้าพันธมิตรทั่วไป ครอบคลุมทุกหมวดการใช้จ่าย อาทิ ร้านค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหารและบริการเดลิเวอรี่

ktc

ที่มาของคำว่า MAAI (มาย) มาจากคำว่า MAK MAAI (มากมาย) หมายถึงสิทธิประโยชน์ที่มากมาย กับร้านค้าพันธมิตรที่มากมาย และความสะดวกในการใช้ที่มากมาย อีกทั้งยังพ้องเสียงกับคำว่า Mine ที่ต้องการสื่อถึงสิทธิประโยชน์ที่เป็นของผู้ใช้ และเพื่อผู้ใช้

ถ้าถามว่ามีความแตกต่างจาก KTC FOREVER อย่างไร KTC FOREVER เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของ KTC อย่างเดียวเท่านั้น แต่ MAAI เป็นธุรกิจ B2B กลุ่มเป้าหมายแรกคือ กลุ่มพันธมิตรธุรกิจ

เริ่มเปิดทดลองระบบในเดือนมกราคม 2565 จะเปิดให้พนักงาน KTC ได้ทดลองใช้ในช่วงเริ่มต้นกับ 16 ร้านค้าและจะขยายพันธมิตรร้านค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้เริ่มใส่คะแนนในระบบ 300 ล้านคะแนน

“เคทีซี พี่เบิ้ม” กับเป้าหมายเบิ้มๆ

KTC ได้ปั้นเคทีซี พี่เบิ้มมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน เป็นเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตสูง ที่ผ่านมา KTC ได้เร่งขยายฐานสมาชิกต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้พอร์ตโตแบบก้าวกระโดด และพร้อมตั้งเป้าสินเชื่อที่ 11,500 ล้านบาทในปี 2565

กลยุทธ์สำคัญเน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่แบบเชิงรุก ผ่านบริการพี่เบิ้ม เดลิเวอรี่ โดยใช้ทีมขายของ KTC ทั่วประเทศไปให้บริการสินเชื่อถึงบ้านของลูกค้า หรือสถานที่ที่ลูกค้าสะดวกด้วยความรวดเร็ว ผูกไปกับช่องทางของเครือข่ายธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศกว่า 900 สาขา และกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง (KTBL) 11 สาขา ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลัก และจะเน้นสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเปิดรับเป็นหลัก

ktc

รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบัตรกดเงินสด “เคทีซี พี่เบิ้ม” เป็นครั้งแรกของสินเชื่อทะเบียนรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ในรูปแบบของบัตรกดเงินสด ที่ลูกค้าสามารถรูด-โอน-กด-ผ่อน ผ่านบัตรได้ทันที ครอบคลุมถึงธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (Hire Purchase) ภายใต้ใบอนุญาตของกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง ซึ่งเคทีซีถือหุ้นอยู่ 75.05%

พร้อมพัฒนากระบวนการทำงานด้วยหลักการของดิจิทัล ทวิน (Digital Twin) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการสมัคร และอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้บริการมีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเติมเต็มช่องว่างในตลาด ด้วยจุดแข็งที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ด้วยวงเงินใหญ่ที่ขยายถึง 1 ล้านบาท อนุมัติใน 2 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที รับทุกอาชีพและเอกสารง่าย ไม่ยุ่งยาก

ขยายบัตรเครดิตให้ตรงใจ

สำหรับธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลในปี 2565 เน้นการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้ที่มีคุณภาพดี ขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ ตลอดจนรักษาฐานสมาชิกปัจจุบันด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่ตรงใจผู้บริโภค โดยกลยุทธ์ธุรกิจบัตรเครดิต จะเน้นการขยายฐานบัตรร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ ทั้งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และพัฒนาปรับปรุง (Relaunch) บัตรเครดิตร่วม (Co-brand) ให้มีสิทธิประโยชน์ตรงใจและผูกสมาชิกกับบัตรในระยะยาวมากขึ้น

จะยังคงใช้คะแนน KTC FOREVER และการผ่อนชำระรายเดือนเป็นแรงขับเคลื่อนกิจกรรมการตลาด และในปี 2565 จะใช้ความแข็งแกร่งของเครือข่ายพันธมิตรขยายไปยังร้านค้ากลุ่มพรีเมียม และไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของกลุ่มสมาชิกระดับบนที่มีอยู่ และดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้น

โดยคาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2565 จะเติบโต 10% จากปี 2564 หรือประมาณ 220,000 ล้านบาท

ktc