‘เครือไทย โฮลดิ้งส์’ ของกลุ่ม TCC เจ้าสัวเจริญ แจ้งเลิกกิจการ ‘อาคเนย์ประกันภัย’ หลังจ่ายสินไหมโควิด 9,900 ล้าน

‘เครือไทย โฮลดิ้งส์’ ของกลุ่ม TCC เจ้าสัวเจริญ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เลิกกิจการ ‘อาคเนย์ประกันภัย’ หลังจ่ายสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดให้อาคเนย์ฯ -ไทยประกันภัยรวมกว่า 9,900 ล้าน 

วันนี้ (26 ม.ค.65) บริษัทเครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เรื่องการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า

จากปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในภาพรวม ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเครือไทย โฮลดิ้งส์ ได้แก้ไขปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจในช่วงปลายปี 2564 ดังนี้

🔴 ขายหุ้นบริษัทไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้แก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท (กลุ่ม TCC)
🔴 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเครือไทย โฮลดิ้งส์ ได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ ไทยประกันภัย นำไปจ่ายค่าสินไหม
ทดแทนการเคลมประกันโควิด ของลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ของทั้งไทยประกันภัย และอาคเนย์ประกันภัย เป็นจำนวน 9,900 ล้านบาท

เงินสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญของบริษัท ได้นำมาชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการเคลมประกันโควิด ในส่วนของอาคเนย์ประกันภัย (ผ่านการทำสัญญารับประกันภัยต่อที่เข้าทำไว้กับไทยประกันภัย) ประมาณ 8,060 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้อาคเนย์ประกันภัยยังสามารถคงสถานะมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินและสามารถประกอบกิจการต่อเนื่องมาได้ในช่วงที่ผ่านมา

โดย ณ วันที่ 1 มกราคม 2565 อาคเนย์ประกันภัยมีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือกว่า 1,800 ล้านบาท และยังสามารถดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 170

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการกลายพันธุ์และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังคงเพิ่มความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและการดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) ของอาคเนย์ประกันภัยให้ลดต่ำลงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดในระยะเวลาอันใกล้นี้

อาคเนย์ประกันภัย จึงได้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อให้พิจารณามีมติ “เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย” และส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อนายทะเบียนตามกฎหมาย และโอนกิจการของอาคเนย์ประกันภัยให้แก่ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน)

คณะกรรมการบริษัท ได้พิจารณาร่วมกับตัวแทนฝ่ายจัดการของอาคเนย์ประกันภัยอย่างรอบด้าน โดยมีความมุ่งหมายที่จะดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ให้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างดังเช่นกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยอื่นที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจะไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงผู้เอาประกันตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้เอากรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ

ประกอบกับหากในกรณีที่อาคเนย์ประกันภัย ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ก็จะทำให้กองทุนประกันวินาศภัยมีภาระทางการเงิน อันเนื่องจากต้องเข้ามาช่วยเหลือแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องอันจะเป็นภาระแก่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยรวมอีกด้วย

นอกจากนี้ สถานะทางการเงินของอาคเนย์ประกันภัยในขณะนี้ ซึ่งยังมีสินทรัพย์สุทธิกว่า 1,800 ล้านบาทและเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) ประมาณร้อยละ 170 อาคเนย์ประกันภัยย่อมสามารถจ่ายเงินคืนผู้เอาประกันภัยได้ครบถ้วน ‘ทุกราย’ และยังมีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้ให้คู่ค้าทั้งหมดรวมถึงพนักงานลูกจ้างทุกคน ซึ่งความสามารถในการชำระหนี้ของอาคเนย์ประกันภัยจะลดลงหากการตัดสินใจดำเนินการในเรื่องนี้ล่าช้าออกไป

ดังนั้น การเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ‘โดยสมัครใจ’ ในขณะที่อาคเนย์ประกันภัยยังคงมีสถานะทางการเงินที่เพียงพอ และยังดำรงเงินกองทุนได้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยขอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการในเรื่องการดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกราย

ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ อาคเนย์ประกันภัย ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้น ๆ (ซึ่งรวมถึง กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) รวมทั้งการจัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกองทุนประกันวินาศภัย

โดยอาคเนย์ประกันภัย เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ในการดำเนินการของกองทุนประกันวินาศภัยดังกล่าวจึงเป็นมาตรการที่จำเป็นและเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และจะสามารถเยียวยาผู้เอาประกันภัยและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นธรรมสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงไม่ก่อภาระเพิ่มเติมแก่กองทุนประกันวินาศภัยแต่อย่างใด

ขณะที่การดำเนินการในทางเลือกอื่นๆ เช่น การเพิ่มทุนหรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในกิจการของอาคเนย์ประกันภัยอาจจะไม่สามารถทำได้ รวมถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TGH เองก็ได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินไปแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยพยุงธุรกิจประกันวินาศภัยของกลุ่มบริษัท

ดังนั้นประชุมคณะกรรมการของ TGH เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 จึงได้มติเกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ อาคเนย์ประกันภัย ดังนี้

🔴 เห็นชอบกับแผนการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์ประกันภัย ซึ่งเป็นการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามมาตรา 57 และ 57/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535(รวมทั้งที่การแก้ไขเพิ่มเติม)

🔴 ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้ อาคเนย์ประกันภัย โอนกิจการของ อาคเนย์ประกันภัย ให้แก่ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีความเห็นว่าเมื่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยพิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้เข้ามาดำเนินการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ อาคเนย์ประกันภัย ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กองทุนประกันวินาศภัยมีอยู่แล้ว ก็ควรให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการในเรื่องการดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ อาคเนย์ประกันภัย ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้น ๆ (ซึ่งรวมถึง กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019)

รวมทั้งการจัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกองทุนประกันวินาศภัยด้วย โดยอาคเนย์ประกันภัย เป็นผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านต่างๆ แก่กองทุนประกันวินาศภัยดังกล่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เอาประกันภัย และเพื่อเป็นการดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและบุคคลที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ฝ่าย

ดังนั้น เครือไทย โฮลดิ้งส์ จะมอบหมายให้ผู้รับมอบฉันทะนำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ อาคเนย์ประกันภัยเพื่อลงมติเห็นชอบให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้เข้ามาดำเนินการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ อาคเนย์ประกันภัย ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กองทุนประกันวินาศภัยมีอยู่

การพิจารณาให้ อาคเนย์ประกันภัย ในฐานะบริษัทย่อยของ TGH เลิกประกอบกิจการเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการบริษัท ที่จะพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการไปได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ

อย่างไรก็ตาม การเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและการจัดการเกี่ยวกับภาระและกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดของ อาคเนย์ประกันภัย จะต้องเป็นไปตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของอาคเนย์ประกันภัยซึ่งจะจัดให้มีการประชุมในวันที่ 26 มกราคม 2565 โดยหากมีความคืบหน้าเป็นประการใด บริษัทฯ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

(อ่านรายละเอียดฉบับเต็มที่นี่ )

โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มบริษัทประกันฯ ในเครือไทย โฮลดิ้งส์ ของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” อย่าง “บมจ.อาคเนย์ประกันภัย” และ “บมจ.ไทยประกันภัย” ได้ยื่นฟ้อง ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ฐานออกคำสั่งทางปกครอง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่ง ซึ่งยังอยู่ระหว่างรอศาลพิจารณาว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนจาก ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท เนื่องจากออกคำสั่งนายทะเบียน ทำให้บริษัทขาดทุน เพราะยกเลิกกรมธรรม์โควิด -19 แบบ เจอ – จ่าย – จบ ไม่ได้

อ่านรายละเอียดข่าว : “บริษัทประกันฯ โควิด” วางมวย “คปภ.” ฟ้องศาลฯ ยุติ “เจอ- จ่าย-จบ

คปภ. ยังไม่อนุญาตให้อาคเนย์ประกันภัยเลิกกิจการ กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา 

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ขอเรียนชี้แจงว่า ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 กำหนดให้กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ให้บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้เลิกกิจการ อย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่

(2) วิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสียทราบ และใช้สิทธิตามกฎหมาย

(3) การโอนหรือการขอรับเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียน

(4) การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัยและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท

(5) ระยะเวลาของการดำเนินการตาม (1) (2) (3) และ (4) ในกรณีที่คณะกรรมการอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และบริษัทประสงค์จะเลิกบริษัท การเลิกบริษัทให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและให้มีการชำระบัญชี

แม้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ต่อคณะกรรมการ คปภ. ผ่านสำนักงาน คปภ. แล้ว แต่คณะกรรมการ คปภ. ยังไม่ได้อนุญาต ในการนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายก่อนเสนอต่อคณะกรรมการ คปภ. พิจารณาต่อไป

สำหรับกองทุนประกันวินาศภัยได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพเท่านั้น ตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดภารกิจของกองทุนฯ ให้ครอบคลุมถึงกรณีบริษัทประกันภัยขอเลิกประกอบธุรกิจเอง

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก โดยยืนยันว่าตอนนี้ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยังไม่สามารถปิดหรือหยุดประกอบกิจการได้ จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจากคณะกรรมการ คปภ.

โดยสำนักงาน คปภ. ได้ตั้งทีมงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสีย

ล่าสุดวันนี้ (27 ม.ค.) ‘อาคเนย์ประกันภัย’ ส่งหนังสือชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินธุรกิจ และให้บริการ รวมถึงความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยตามปกติ