หากพูดถึงตลาด โลจิสติกส์ แล้ว เชื่อว่าแม้ไม่ใช่คนที่อยู่ในวงการยังมองออกว่าแข่งขันกันดุเดือดแค่ไหน เนื่องจากมีผู้เล่นมากมายโดยเฉพาะจากต่างประเทศตบเท้าเข้ามาฟาดฟันกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นว่าปีที่ผ่านมา ‘อัลฟ่า’ ที่ต้องยอมถอยปิดกิจการก่อนที่จะเจ็บไปมากกว่านี้ ขณะที่รายใหญ่เองก็เริ่มหาทางขยับหนีออกจากสงครามราคาแล้ว เพราะตอนนี้ตลาดเองก็ไม่ได้เติบโตเหมือนก่อนหน้านี้
ตลาดโตน้อย ต้นทุนสูงขึ้น
อ้างอิงจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาพรวมธุรกิจขนส่งสินค้าที่ซื้อผ่านออนไลน์ในปี 2564 แม้มีแนวโน้มขยายตัว 19% หรือมีมูลค่าราว 71,800 ล้านบาท แต่ก็น้อยกว่าปี 63 ที่เติบโตถึง 31.3% ในขณะที่ปี 65 นี้ คมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ก็มองว่าการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในปีนี้ก็จะยิ่งชะลอตัวลง และไม่ใช่แค่การเติบโตที่ชะลอตัวลง แต่ปัญหาต้นทุนพลังงานอย่าง ‘น้ำมัน’ ก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมจาก 20 บาท ขึ้นเป็น 30 บาท สวนทางกับราคาค่าบริการที่ถูกลงเพราะสงครามราคา
“ภาพของตลาดโลจิสติกส์ปีนี้อาจจะไม่ได้เติบโตก้าวกระโดดเหมือนกับปีที่ผ่านมา ๆ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย โดยจะเห็นว่ากำลังซื้อลดลงทำให้การซื้อสินค้าแฟชั่นลดลง เน้นไปที่สินค้าอุปโภคบริโภคแทน ต้องยอมรับว่าต้นทุนของเราสูงขึ้น และการแข่งขันในตลาดยังคงสูงโดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาที่ยังคงดุเดือด เนื่องจากผู้เล่นแต่ละรายต่างระดมทุนมาได้มากขึ้นก็มาใส่กับโปรโมชัน”
Bulky เซกเมนต์ใหม่ที่ใคร ๆ ก็ไป
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่การซื้อของออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผู้คนคุ้นเคยกับการสั่งของ สั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น จึงได้เห็นผู้เล่นตลาดโลจิสติกส์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศก็เข้ามาจับจองตลาดกันทั้งสิ้น แน่นอนว่าตลาดได้กลายเป็น Red Ocean แข่งขันกันอย่างดุเดือด
หากพูดถึงแง่ของคุณภาพการให้บริการจะเห็นว่าผู้เล่นแต่ละรายแทบจะกลืนกันไปหมด ในช่วงแรกมีการพูดถึงจุดเด่นด้านความเร็วในการจัดส่ง ต่อมาก็เริ่มเข้าสู่ยุคการใช้พรีเซ็นเตอร์เพื่อเพิ่มการสร้างแบรนด์ สร้างการรับรู้ จะเห็นว่าช่วงหนึ่งมีการเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ตามกันรัวๆ แบบไม่มีใครยอมใคร
มาจนถึงจุดที่การแข่งขันสูงมากๆ การส่งพัสดุเข้าสู่ยุค ‘สงครามราคา’ มีการตัดราคากันเพื่อดึงดูดลูกค้า โดยเฉพาะเหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ต้องการผู้ส่งที่ค่าส่งถูกๆ เพื่อลดต้นทุนในการจัดส่งสินค้าได้มากขึ้น จากค่าส่งที่เริ่มต้น 25 บาท เริ่มลดลงเป็น 20 บาทบ้าง 19 บาทบ้าง ล่าสุดที่ J&T ทุบราคาไปที่เริ่มต้น 15 บาท
นอกจากเรื่องปัจจัยราคาแล้ว ผู้เล่นในตลาดยังต้องขยายบริการเพื่อหาน่านน้ำใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบริการส่งพัสดุแบบ Same Day ได้รับสินค้าภายในวันเดียวกัน หรือมีบริการเก็บเงินปลายทาง รองรับพฤติกรรมของคนไทยที่ยังต้องจ่ายเงินหลังรับของ รวมไปถึงการส่งแบบเย็น หรือเก็บอุณหภูมิ ที่ตอนนี้แทบทุกเจ้าจะต้องมีบริการนี้ เพื่อรองรับแม่ค้าสายอาหาร เบเกอรี่
หรือล่าสุดที่หลายรายเริ่มมาจับตลาดก็คือ Bulky หรือ สินค้าที่มีน้ำหนักมาก เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งเซกเมนต์ที่มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่ได้ซื้อสินค้าออนไลน์เพียงแค่ของชิ้นเล็กอย่างเดียวเท่านั้น แต่ซื้อทุกอย่างที่อยากได้ ชิ้นใหญ่ หรือน้ำหนักเยอะก็ไม่หวั่น
แนวโน้มการสั่งซื้อสินค้าที่มีขนาดใหญ่เริ่มเพิ่มสูงขึ้น จะเห็นว่าปีที่ผ่านมามีเทรนด์ของ ไม้ด่าง ทำให้มีการสั่งซื้อต้นไม้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนัก หรืออย่าง อะไหล่รถยนต์ ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยเองก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์รายใหญ่
นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าที่เห็นการเติบโตบนอีคอมเมิร์ซ คือ สินค้าประเภทของใช้สัตว์เลี้ยง อุปกรณ์ฟิตเนส เติบโตขึ้น 71% เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ จำพวก ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เติบโต 63% และ เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เติบโต 55% ซึ่งล้อไปกับเทรนด์การใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น
จากเทรนด์ดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ให้บริการจะเริ่มให้ความสนใจที่จะเพิ่มบริการส่งของชิ้นใหญ่ อย่าง
- BEST Express ที่มีบริการ BEST Big Parcel สำหรับส่งพัสดุขนาดใหญ่สูงสุด 300 กก.
- Flash Express ก็มี Bulky Service รับพัสดุตั้งแต่ 5-100 กก. เริ่มต้น 50 บาท
- ไปรษณีย์ไทย ก็มีบริการ Logispost ส่งสินค้าชิ้นใหญ่ตั้งแต่ 20-200 กก.
- SCG Express ก็มีบริการ ยกใหญ่ ไซซ์บิ๊ก จัดส่งพัสดุที่มีน้ำหนัก 25-50 กก.
- Kerry ก็มีบริการ Kerry Less than Truck Load ส่งพัสดุน้ำหนัก 30 กก. ขึ้นไป
เหลือแต่ J&T ที่ยังรับน้ำหนักพัสดุสูงสุดที่ 30 กก. ดังนั้น ต้องรอดูว่าจะลงมาเล่นในตลาดนี้เมื่อไหร่
รายได้เยอะ แต่แทบไม่เห็นกำไร
เนื่องจากธุรกิจโลจิสติกส์ไม่ได้มีพื้นฐานที่สามารถทำกำไรได้สูง จะอยู่ได้ต้องเน้นจำนวน ดังนั้น จะเห็นว่าอดีตเบอร์ 1 อย่าง ไปรษณีย์ไทย ในปี 2563 นั้นมีรายได้ลดลงเหลือ 23,877 ล้านบาท โดยกำไรลดลงเหลือเพียง 160 ล้านบาท เท่านั้น ส่วนรายได้ของ Kerry Express 6 เดือนแรกของปี 64 อยู่ที่ 8,788 ล้านบาท ลดลง 14% มีกำไร 638 ล้านบาท ลดลง 13% ส่วนด้านของ Flash Express มีการเปิดเผยว่ารายได้ปี 64 อยู่ที่ 17,000 ล้านบาท แต่ไม่เปิดเผยว่า กำไรหรือขาดทุน เท่าไหร่
แน่นอนว่าการแข่งขันด้านราคาของตลาดโลจิสติกส์จะยังอยู่ไปอีกนาน ดังนั้น จากนี้คงจะได้เห็นเซกเมนต์เฉพาะทางใหม่ ๆ เพื่อทำกำไรมากขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้เล่นรายเล็ก ที่จะเริ่มใช้จุดแข็งอย่างความเฉพาะทางมาใช้ยาก เพราะรายใหญ่เริ่มลงมาเล่นกันหมด