กลายเป็นว่า ไปรษณีย์ไทย ถือเป็นผู้ให้บริการ โลจิสติกส์รายเดียวในตลาดที่มีกำไรสองปีซ้อน แต่นั่นก็ทำให้ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เอ่ยปากว่า กดดัน จากความคาดหวังที่สูงขึ้นเรื่อย ขณะที่ตลาดกลับมีความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการมาของ อีคอมเมิร์ซรายใหม่
ยืมจมูกคนอื่นหายใจมันเสี่ยง
ในปีที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย มีรายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโต +7.40% มี กำไร 78.54 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 ผ่านไปครึ่ง ไปรณีย์ไทยมีรายได้รวม 10,602.30 ล้านบาท มี กำไร 136.60 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ไปรษณีย์ไทยเติบโตและทำกำไรได้มาจากการบริหารต้นทุน และธุรกิจโลจิสติกส์ที่โตขึ้น เพราะปัจจุบัน รายได้จากธุรกิจโลจิสติกส์คิดเป็นสัดส่วนถึง 45%
แต่อย่างที่รู้กันว่า ธุรกิจโลจิสติกส์จะเติบโตหรือไม่นั้น ปัจจัยสำคัญ ๆ มาจากธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ในวันที่กำลังซื้อของคนไทยลดลง จำนวนทรานแซ็คชั่นที่เกิดขึ้นก็ลดลงไปด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นใหม่อย่าง Temu เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้เล่นดั้งเดิมซึ่งเป็น พันธมิตร กับไปรษณีย์ไทย ดังนั้น หากคำสั่งซื้อของแพลตฟอร์มเหล่านี้ลดลง ก็แปลว่ายอดของไปรษณีย์ไทยก็จะลดลงไปด้วย ทำให้ ดร.ดนันท์ ย้ำว่า ไปรษณีย์ไทยต้องไม่ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
“อ้างอิงจากปริมาณการจัดส่งพัสดุให้กับอีมาร์เก็ตเพลสของไปรษณีย์ไทย เราเห็นเลยว่าจำนวนลดลงตั้งแต่ Temu เข้ามา บางแพลตฟอร์มยอดลดลงถึง 10-20% ต่อวัน ดังนั้น อีมาร์เก็ตเพลสไทยถูกจีนครองตลาดหมด และเขาจะใช้ขนส่งเจ้าไหนก็ได้ นี่เป็นความเสี่ยงมหาศาล เพราะต่อให้คุณภาพดีแค่ไหน เขาไม่ใช้เราก็ได้” ดร.ดนันท์ เล่า
เปลี่ยนจุดแข็งเป็นจุดขาย
กลยุทธ์แรกของไปรษณีย์สำหรับสร้างการเติบโตก็คือ เปลี่ยนจุดแข็งให้เป็นจุดขาย ที่หมายความว่า ขายจริง ๆ เริ่มจากจุดแข็งที่สุดของไปรษณีย์ก็คือ บุรุษไปรษณีย์ หรือ พี่ไปร กว่า 25,000 คน ที่ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่ ความเชี่ยวชาญด้านเส้นทาง ทำให้มีความเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่
โดยไปรษณีย์จะค่อย ๆ เพิ่ม Job Value เช่น นำเสนอ ขายสินค้า หรือ ทำ Survey บริการเก็บข้อมูลและสำรวจทรัพย์ หรือแม้แต่บริการ รับ-ส่ง สิ่งของ แบบ Point to Point ตามความต้องการของลูกค้า/พันธมิตร ซึ่งส่วนนี้ก็จะช่วยสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับไปรษณีย์โดยที่ไม่มีต้นทุนเพิ่ม ลดการพึ่งพาอีคอมเมิร์ซ และบุรุษไปรษณีย์เองก็มีรายได้เสริม โดย ดร.ดนันท์ วางเป้าจะเพิ่มรายได้ให้บุรุษไปรษณีย์ที่ 20% จากเงินเดือน โดยในปีที่ผ่านมา บุรุษไปรษณีย์มีรายได้จากธุรกิจเสริมกว่า 2.2 ล้านบาท
“เพราะพี่ไปรรู้จักคนพื้นที่ดี สามารถ Matching ดีมานด์-ซัพพลาย รู้ว่าคนแต่ละบ้านอายุเท่าไหร่ สนใจอะไร และเราก็มี Sandbox สำหรับบริษัทที่สนใจทำธุรกิจร่วมกัน”
อีกจุดที่จะสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับไปรษณีย์ก็คือ ที่ทำการไปรษณีย์ โดยที่ผ่านมา ไปรษณีย์ใช้เป็นจุด กระจายสินค้าชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้ชุมชน ขณะที่ไปรษณีย์เองจะได้ ค่าคอมมิชชั่น ซึ่ง ดร.ดนันท์ มองว่า นี่เป็นอีกกลยุทธ์ในการ สร้างทราฟฟิกของไปรษณีย์ โดยไม่ต้องพึ่งอีมาร์เก็ตเพลส ล่าสุด ไปรษณีย์ก็ได้นำร่องปรับโฉมสาขาสามเสนในเป็น โพสต์ คาเฟ่ ซึ่งก็จะเป็นอีกโมเดลในการใช้ประโยชน์จากที่ทำการไปรษณีย์ และใช้เป็นอีกช่องทางช่วยเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟของไทย นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังมีเครื่องข่าย ไปรษณีย์อาเซียน ในการแลกเปลี่ยนสินค้า ดังนั้น มีโอกาสที่จะนำสินค้าของเกษตรกรไทยไปขายในตลาดต่างประเทศด้วย ปัจจุบัน รายได้จากการขายสินค้าชุมชนอยู่ที่ 600 ล้านบาท ตั้งเป้าแตะ 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี
“เราทำตรงนี้แปลว่าชุมชนขายของได้มากขึ้น และระบบขนส่งเป็นของใครไม่ได้นอกจากเรา อีกสิ่งที่เราได้คือ จากการทำโพสต์ คาเฟ่ คือ พนักงานใกล้ชิดลูกค้าขึ้น ก็ยิ่งเข้าใจลูกค้า เป็นการสร้างความสัมพันธ์ และจะช่วยปรับบริการอย่างเข้าใจมากขึ้นกว่าคิดไปเอง”
สู่ยุค Information Logistics
อีกบริการที่ค่อย ๆ หายไปก็คือ การส่งจดหมาย มีเพียงการส่งจากหน่วยงานหรือบริษัทต่าง ๆ ไม่ใช่การส่งจากคนถึงคนอีกต่อไป ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยจึงหันมาทำบริการ บริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร หรือ Prompt Post โดยแบ่งเป็น 4 บริการหลัก ได้แก่
- Trust Service การรับรองและลงลายมือชื่อบนเอกสารดิจิทัลด้วยใบรับรองดิจิทัลและกุญแจส่วนบุคคล
- Digital Postbox การจัดเก็บเอกสารสำคัญได้อย่างรวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ
- One-stop service การสนับสนุนการให้บริการของภาครัฐและภาคเอกชนผ่านช่องทางดิจิทัล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
- Prompt pass บริการจัดเก็บเอกสารสำคัญส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งข้อมูลระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ยังมีบริการ D/ID (ดีไอดี) ซึ่งเป็น Digital Post ID ส่วนบุคคล ในรูปแบบการจ่าหน้าแบบใช้รหัส ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่งสิ่งของ บอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูง และเมื่อผู้ใช้งานมีการแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในระบบ D/ID ข้อมูลที่อยู่ซึ่งเดิมไว้ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังหน่วยงานปลายทางโดยอัตโนมัติ คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการในไตรมาส 4
“พฤติกรรมคนเปลี่ยน เราทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น เราเลยทำเน็ตเวิร์กอิเล็กทรอนิกส์มาซับพอร์ตส่วนนี้ เพื่อรับกับพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป อย่างน้อยเราก็มีรายได้ดีกว่าหายไป แต่ต้องยอมรับว่าคงไม่ได้ไปชดเชยรายได้ทั้งหมด”
ใช้พลังงานทดแทน ดีต่อโลกและลดต้นทุน
เพราะธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยวางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2573 และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยภายในปี 2573 จะปรับไปใช้ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ให้ได้ 85% และ ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ 60% ของการใช้พลังงาน นอกจากนี้ ศึกษาพลังงานทางเลือกอื่น และปรับเส้นทางให้มีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยได้ ลดการปล่อยคาร์บอน 400 ตัน ลดค่าใช้จ่ายน้ำมัน 18% โดยในปีนี้จะเริ่มใช้ รถอีวี 250 คัน และ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 200 คัน
ต่อให้เป็นแค่ผู้รับก็คือ ลูกค้า
ดร.ดนันท์ ทิ้งท้ายว่า อีกความท้าทายของไปรษณีย์ไทยก็คือ รักษาคุณภาพของบริการ โดยไปรษณีย์ไทยพยายามจะบริหารระบบ CRM อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่เคยใช้บริการไปรษณีย์มาใช้บริการ รวมไปถึงผู้รับปลายทางด้วย
“ลูกค้าไปรษณีย์ไม่ใช่แค่คนจ่ายเงิน แต่คนรับปลายทางก็คือลูกค้า และเรากำลังเก็บข้อมูลเพื่อจะเปลี่ยนเขามาเป็นคนส่ง ตอนนี้เราสามารถเปลี่ยนมาได้ 1 ล้านคน ซึ่งทุกการเติบโตไม่ได้ประทานมาจากฟ้า แต่มาจากความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพ”