ย้อนไปช่วงที่ COVID-19 ระบาด ช่วงปี 2020-2022 ถือเป็นช่วงที่ อีคอมเมิร์ซ เติบโตอย่างก้าวกระโดด และอีกธุรกิจที่เติบโตตามก็คือ โลจิสติกส์ ที่แข่งขันกันดุเดือด ไม่สนใจ ต้นทุน ที่พุ่งขึ้นจากราคาน้ำมัน และที่น่าสนใจคือ สงครามราคาจะกลับมาอีกไหม หลังจากที่พี่ใหญ่เบอร์ 1 อย่าง ไปรษณีย์ไทย ถึงเวลาปรับอัตราค่าบริการระยะที่ 2 ในปีหน้านี้
ย้อนรอยไปรษณีย์ ขึ้นราคาในรอบ 18 ปี
หากใครยังจำกันได้ ช่วงปี 2022 เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเท่าตัว เมื่อเทียบกับราคาในปี 2020 ที่ COVID-19 ระบาดใหม่ ๆ ส่งผลให้ผู้เล่นรายแรกที่ขยับปรับขึ้นราคาก็คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ที่ได้ขอปรับอัตราค่าบริการเป็น ครั้งแรกในรอบ 18 ปี
แน่นอนว่าที่สาเหตุของไปรษณีย์ไทยต้องปรับราคาเป็นเพราะ ต้นทุน ที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ประกอบกับการมาของคู่แข่งรายใหม่ ๆ ที่ตบเท้าเข้ามาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้นับตั้งแต่ปี 2021 ไปรษณีย์ไทยก็ประสบปัญหา ขาดทุน โดย
- ปี 2021 รายได้ 21,226 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,730 ล้านบาท
- ปี 2022 รายได้ 19,546 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 3,018 ล้านบาท
ฉวยโอกาสดัมพ์ราคา
หลังจากที่พี่ใหญ่ของตลาดต้องปรับราคา แม้จะไม่ใช่ราคาที่ปรับสูงมาก โดยมีการปรับราคาเพิ่มเติมตามแต่ละน้ำหนัก เช่น จาก 10-20 กรัม 3 บาทก็ปรับเป็น 5 บาท, น้ำหนัก 20-100 กรัม จาก 5 บาทเป็น 10 บาท เป็นต้น แต่คู่แข่งก็ไม่ปล่อยโอกาสนี้ไป โดยถือโอกาส ดัมพ์ราคา ออกโปรโมชั่น เพื่อแย่งมาร์เก็ตแชร์จากเบอร์ 1 ทันที
อย่างเช่น Kerry หรือ KEX ปัจจุบัน ที่นับตั้งแต่ไปรษณีย์ประกาศขึ้นราคา ก็ทำการออกโปรโมชั่นเปิดราคาใหม่เริ่มต้นเพียง 15 บาท ต่ำกว่า J&T ที่เริ่มต้น 19 บาท ส่วน Flash Express ก็ลดราคาลง 10% สำหรับการส่งพัสดุที่มีขนาด 1 กิโลกรัม หรือความยาว x กว้าง x สูง ไม่เกิน 40 เซนติเมตร
จับตาจะเกิดสงครามราคาอีกหรือไม่?
จะเห็นว่าในช่วงที่ไปรษณีย์ไทยปรับราคา ทำให้บรรดาคู่แข่งต่างชิงโอกาสลดราคาเพื่อแย่งลูกค้า ดังนั้น คงต้องรอดูว่าการ ปรับอัตราค่าบริการช่วงที่ 2 ที่จะเริ่ม 1 ม.ค. 2025 นี้ บรรดาคู่แข่งในตลาดจะทำโปรโมชั่นเพื่อมาแข่งขันหรือไม่ โดยปัจจุบันอัตราค่าบริการเริ่มต้นของผู้ให้บริการแต่ละราย ดังนี้
- KEX : กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มต้น 30 ต่างจังหวัดเริ่มต้น 50 บาท
- Flash Express : กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มต้น 25 ต่างจังหวัดเริ่มต้น 35 บาท
- DHL : กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มต้น 23 ต่างจังหวัดเริ่มต้น 28 บาท
- J&T : กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มต้น 24 ต่างจังหวัดเริ่มต้น 26 บาท
- Ninja Van : กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มต้น 23 ต่างจังหวัดเริ่มต้น 30 บาท
- Best Express : เริ่มต้น 40 บาททุกพื้นที่
สำหรับไปรษณีย์ไทยที่จะปรับอัตราค่าบริการระยะที่ 2 ได้แก่ จดหมายประเภทซอง จดหมายประเภทหีบห่อ จดหมายประเภทซองลงทะเบียน จดหมายประเภทหีบห่อลงทะเบียน ของตีพิมพ์ ไปรษณียบัตร และพัสดุไปรษณีย์จดหมายลงทะเบียนแบบซอง ดังนี้
หรือคุณภาพสำคัญกว่าราคา?
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการแข่งขันในช่วงที่ผ่านมาของตลาดโลจิกสติกส์ จะไม่ค่อยเห็น สงครามราคา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้เล่นรายยังคง ขาดทุน ต่อเนื่องทุกปี อาทิ
- Kerry ปี 2023 มีรายได้ 11,470.3 ล้านบาท ขาดทุน 3,880.6 ล้านบาท
- Flash Express ปี 2023 มีรายได้ 20,093 ล้านบาท ขาดทุน 559 ล้านบาท
- J&T ปี 2023 มีรายได้ 18,511 ล้านบาท ขาดทุน 7,093 ล้านบาท
ดังนั้น หากจะ หั่นราคา ก็อาจจะต้องไปหาทาง ลดต้นทุน ในภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งก็อาจไม่ส่งผลกระทบต่อ คุณภาพการทำงาน โดย แหล่งข่าวในแวดวงโลจิสติกส์ มองว่า แผนกที่มักจะได้รับผลกระทบจากการลดต้นทุนก็คือ พนักงานขนส่ง ที่อาจจะมีการ จ้างน้อยลง หรือ ลดผลตอบแทน จนนำไปสู่เหตุการณ์ คลังแตก
ซึ่งปัญหาคลังแตก ถือเป็นอีกประเด็นที่ผู้ให้บริการหลายรายเริ่มกังวล เพราะต่อให้ทำราคาได้ดี แต่หากลูกค้ารู้สึก ไม่ไว้วางใจ เพราะกังวลว่าพัสดุจะตกหล่น ก็อาจจะยอม จ่ายแพงกว่า เพื่อซื้อความสบายใจ ส่งผลให้ผู้เล่นหลายรายหันมาเน้นที่เรื่องของความเชื่อมั่นโดยเฉพาะ ไปรษณีย์
นับตั้งแต่ไปรษณีย์ไทยปรับราคา ทำให้กลยุทธ์ของบริษัทก็หันไปเน้นที่ คุณภาพ เพื่อสร้างแบรนด์ ทำให้บริษัทกลับมามีกำไรอีกครั้ง หลังจากขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปี โดยในปี 2566 รายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโต +7.40% มีกำไร 78.54 ล้านบาท โดยรายได้จาก ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุดเติบโต +19.35%
ขณะที่รายได้ 9 เดือนแรกของปี 2024 มีรายได้รวม 15,858.67 ล้านบาท มีกำไร 31 ล้านบาท โดยธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์เติบโต +3.34% และ ระดับความเชื่อมั่นแบรนด์ สูงถึง 91.87% และยังคงครองตำแหน่งเบอร์ 1 ของตลาด โดย
- ไปรษณีย์ไทย : มีส่วนแบ่งการตลาด 23.5%
- KEX : มีส่วนแบ่งการตลาด 20.1%
- Flash Express : มีส่วนแบ่งการตลาด 17.4%
- DHL Express : มีส่วนแบ่งการตลาด 16.5%
- J&T Express : มีส่วนแบ่งการตลาด 13.9%
ทั้งนี้ SHIPPOP ผู้ให้บริการออนไลน์เชื่อมโยงระบบขนส่ง ประเมินว่า ตลาดโลจิสติกส์ปีนี้จะมีมูลค่า 1.07 แสนล้านบาท เติบโต +12% ซึ่งก็คงต้องรอดูว่าจะมีผู้เล่นคนไหนจะยอมลดราคาเพื่อจะแย่งชิงลูกค้าเหมือนที่ไปรษณีย์ขึ้นราคาระยะแรกเมื่อปี 2022 หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าการตัดสินใจของผู้บริโภคในปัจจุบันนี้ แค่ราคาอาจไม่พอ แต่เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นด้วย