สองผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่ของโลกอย่าง Coca-Cola และ PepsiCo ส่งสัญญาณเตือนถึงแรงกดดันต่อผลกำไรในปีนี้ หลังตุ้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจมีการปรับขึ้นราคา
ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ตั้งแต่กระป๋องอะลูมิเนียมไปจนถึงค่าแรงและค่าขนส่ง ท่ามกลางการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในวิกฤตโรคระบาด ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารบรรจุหีบห่อ (packaged food) ต้องรับมือกับการขึ้นราคา
ด้วยต้นทุนที่ยังคงเพิ่มขึ้นบวกกับปัญหาคอขวดของอุปทาน ที่มีสัญญาณผ่อนคลายลงเพียงเล็กน้อยนั้น นักวิเคราะห์เตือนว่า การขึ้นราคาอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับกับอัตรากำไรของอุตสาหกรรมได้อย่างเต็มที่
Hugh Johnston บอกกับสำนักข่าว Reuters ว่า “บริษัทอาจปรับขึ้นราคาได้อีกในปลายปีนี้ หากต้นทุนสูงขึ้นเกินคาด และไม่ได้ตัดขาดสินค้าบางรายการออก” อย่างไรก็ตาม จะมีการควบคุมห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงการจัดจำหน่าย เพื่อประคับประคองสถานการณ์
ด้านคู่เเข่งรายสำคัญอย่าง Coca-Cola ก็เริ่มส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกันว่า กำลังพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมืออย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ อัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้วในไตรมาสที่ 4 ของ Coca-Cola ลดลงเหลือ 22.1% จาก 27.3% ในปีก่อนหน้า ส่วนอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้วของ PepsiCo ลดลง 183 basis points
PepsiCo รายงานรายรับสุทธิในไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้น 12.4% เป็น 2.525 หมื่นล้านดอลลาร์ เเละคาดการณ์กำไรหลักของปีงบประมาณ 2022 ที่ 6.67 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 6.73 ดอลลาร์ ตามข้อมูลของ IBES จาก Refinitiv
Coca-Cola คาดการณ์กำไรต่อหุ้นที่ปรับแล้วทั้งปีจะเพิ่มขึ้น 5% เป็น 6% จาก 2.32 ดอลลาร์ในปี 2021 เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 6%
ก่อนหน้านี้ เชนร้านกาเเฟรายใหญ่ของโลกอย่าง Starbucks ก็วางเเผนจะปรับ ‘ขึ้นราคา’ ในปีนี้ เพื่อชดเชยเงินเฟ้อ ต้นทุนที่สูงขึ้น เเถมเจอปัญหาซัพพลายเชนเเละการขาดแคลนแรงงาน
หลังจากที่เคยปรับขึ้นราคาเมนูมาเเล้วเมื่อเดือนต.ค.ปีที่เเล้ว และเดือนม.ค.ปีนี้ ทาง Starbucks ก็เตรียมปรับขึ้นราคาเมนูอีกครั้งในช่วงปี 2022 พร้อมลดใช้จ่ายบางส่วน อย่างด้านการตลาดและการส่งเสริมการขาย เพื่อชดเชยต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบต่างๆ ที่พุ่งสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการเเพร่ะบาดของโควิด-19
โดยปัจจัยต่างๆ ทั้งภาวะเงินเฟ้อ การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เเละปัญหาขาดแคลนแรงงาน ได้ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
- Starbucks เตรียมปรับ ‘ขึ้นราคา’ อีกในปีนี้ เหตุเงินเฟ้อ-ต้นทุนพุ่ง-ขาดเเคลนเเรงงาน
- ‘IMF’ คาด ‘เงินเฟ้อ’ จะชะลอตัวในปีหน้าเหลือ 4.7% สำหรับประเทศกำลังพัฒนา
- คนไทยค่าครองชีพ-ต้นทุนสินค้าพุ่ง ttb ประเมิน ‘เงินเฟ้อ’ ไตรมาสแรกปีนี้ แตะสูงสุด 4%
ที่มา : Reuters