WhatsApp Effect บัลลังก์บีบีแชตสะเทือน

ความแรงของโปรแกรมแชต WhatsApp กำลังถูกจับตามองว่า ส่งผลโดยตรงต่อ บัลลังก์ตลาด BlackBerry หรือ บีบี ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าตลาด “แชต” ที่แม้แต่ไอโฟนก็ยังทำอะไรไม่ได้ อาจต้องสะเทือน เมื่อ WhatsApp เปิดประตูแชตกระจายไม่จำกัดยี่ห้อและระบบ “BlcakBerry” จะแก้เกมนี้อย่างไร หากรับมือไม่ได้ งานนี้มีสิทธิ์เกมพลิก

ก่อนหน้านี้ โอปะเรเตอร์โทรศัพท์มือถือมักต้องตอบคำถามจากผู้ซื้อบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ว่า จะเลือกซื้ออะไรดีระหว่าง ไอโฟนและBlackBerry หรือบีบี แต่ในที่สุดคำตอบก็ไปจบที่ “บีบี” แม้ว่าพวกเขาจะชื่นชอบรูปลักษณ์และฟีเจอร์ของไอโฟนมากเพียงใดก็ตาม แต่เพราะเหตุผลที่ว่า “ไอโฟนแชตกับเพื่อนไม่ได้”

บริการแชต หรือ BBM ก็เลยกลายเป็นตลาดสำคัญ ที่ทำให้ BlackBerry ประสบความสำเร็จจนมียอดขายติดอันดับ 1 ใน 20 ประเทศของโลกและเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชีย

แต่หลังจากการมาของ WhatsApp แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนสามารถรองรับการแชตต่างแพลตฟอร์ม หรือข้ามระบบกันได้ ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน หรือบีบี แอนดรอยด์ ภาพนี้ของบีบีก็เริ่มเปลี่ยนไป พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สายงานบริการมัลติมีเดียและการตลาด บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เชื่อว่า WhatsApp จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในตลาดแชต ที่ส่งผลผลกระทบกับเจ้าตลาดแห่งการแชตอย่างบีบี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อทั่วไป ที่เคยชื่นชอบฟังก์ชันของไอโฟน และรับได้กับราคาของไอโฟน แต่ที่ผ่านมาต้องเลือกซื้อบีบี เพราะต้องการแชตกับเพื่อน จะหันไปเลือกใช้ไอโฟนมากขึ้นทันที

ในขณะที่กลุ่มลูกค้าองค์กรยังไม่ได้รับผลกระทบจากการมาของ WhatsApp มากนัก เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ยังต้องการความเสถียรในการส่งอีเมล และส่งข้อมูล บริการพุชเมล และบีบีเอ็ม ของ BlackBerry ก็ยังตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ได้อยู่ รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเครื่องไม่สูงมาก ระดับหมื่นถึงแปดพัน ที่บีบีกำลังผลักดันออกมารองรับลูกค้าทั่วไป

“การมาของ WhatsApp ทำให้บีบีต้องระดมความคิดแล้วว่าจะแก้เกมนี้อย่างไร โดยเฉพาะลูกค้าทั่วไป เพราะดูจากเวลานี้คนใช้ไอโฟน ใช้ WhatsApp แล้ว 30-40% อาจเป็นไปได้ว่า บีบี อาจต้องพัฒนาให้ระบบแชต หรือบีบีเอ็ม ผ่านแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้” พิรุณตั้งข้อสังเกต

ในขณะที่ ปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริการเสริม บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส เป็นหนึ่งในผู้ทำตลาดบีบี ที่มีส่วนแบ่งเกินครึ่ง มองไม่ต่างกัน เขาเชื่อว่า BlackBerry กำลังเผชิญความท้าทายจากการมาของ WhatsApp ที่ทำให้สมาร์ทโฟนแชตต่างระบบกันได้ โดยเฉพาะในกลุ่มบนที่มีกำลังซื้อ และเคยมีประสบการณ์ใช้บีบีมาแล้ว มีโอกาสสูงมากจะเปลี่ยนมาใช้ WhatsApp เพื่อที่จะพูดคุยกับเพื่อนที่ใช้ไอโฟนได้ ขณะเดียวกันมีโอกาสที่จะเปลี่ยนมาใช้ไอโฟนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ความท้าทายที่บีบีต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้มีแค่ส่วนแบ่งตลาดจากยอดขายเครื่องที่อาจต้องสูญเสียไปให้กับไอโฟนเท่านั้น แต่ความนิยมในตัว WhatsApp ยังส่งผลสะท้อนไปถึง รายได้จากค่าบริการแชตผ่าน BBM และพุชเมล ซึ่งเป็นสูตรหารายได้ที่สำคัญของบีบี โดยลูกค้าต้องใช้บริการแชตผ่านบีบีเอ็ม จะต้องเสียค่าบริการ หรือที่เรียกว่าแพคเกจบีบีเพิ่มเติม (บีบีจะได้รับส่วนแบ่งที่เรียกว่า ค่าไลเซ่นส์ฟี จากแพคเกจค่าบริการบีบี มาจากโอปะเรเตอร์อีกต่อหนึ่งซึ่งอัตราค่าไลเซ่นส์ฟีนี้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างโอปะเรเตอร์และบีบี)

หากจะรักษาส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟน และคงรายได้จากค่าไลเซ่นส์ฟีเอาไว้ สิ่งที่บีบีต้องทำคือ การขยับขยายฐานลูกค้าในตลาดแมสด้วยการเพิ่มน้ำหนักในการทำตลาดเครื่องราคาต่ำลงในระดับ 8-9 พันบาทให้มากขึ้น ซึ่งปรัธนามองว่ายังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมากรวมถึง “แพ็กเกจบีบี” ที่เคยเก็บอยู่ในระดับ 200-300 บาท ต่อเดือน ก็ต้องขยับลดลงให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของลูกค้าระดับแมส เพื่อแข่งขันกับ WhatsApp ที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ยังช่วยจูงใจกลุ่มผู้ใช้ที่ซื้อเครื่องบีบีไปแล้วแต่ไม่เปิดใช้บริการบีบีเอ็ม เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายซึ่งมีอยู่มาก ซึ่งปรัธนาบอกว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อย ให้รีบตัดสินใจมาใช้บีบีเอ็ม ก่อนที่สถานการณ์จะเปลี่ยนไป

“ทีมงานบีบีเขามาคุยกันเราในเรื่องแพ็กเกจราคาคงต้องปรับเพื่อให้แข่งขันได้แต่ราคายังไม่ถูกเคาะออกมา ต้องยอมรับว่า เราเผชิญกับสงครามบนโลกดาต้า กับการมาของแอพฯ สื่อสารใหม่ๆ ทั้ง WhatsApp และ ViberApp หากมองในแง่ดี ช่วยให้ฐานการใช้ดาต้าขยายตัว แต่การแข่งขันก็สูงขึ้นตามไปด้วย” ปรัชนาบอก

ส่วนทางด้านดีแทคก็เช่นกัน ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ บอกว่า ดีแทคอยู่ระหว่างพูดคุยผู้บริหารบีบี เพื่อกำหนดราคาแพ็กเกจสำหรับบีบีที่เหมาะสม เพื่อรองรับกับการขยายฐานลูกค้าในระดับแมส

ปกรณ์ มองว่า อาจมีผู้ใช้บีบีบางส่วนหันมาใช้ WhatsApp มากขึ้นเพื่อสื่อสารกับผู้ใช้ไอโฟนและแอนดรอยด์ แต่ก็ไม่ถึงกับช่วงชิงตลาดบีบีไปได้ทั้งหมด

“บีบีก็ยังมีเสนห์ในตัวเอง แป้นพิมพ์คิวเวอร์ตี้สะดวกต่อการพิมพ์ข้อความการส่งข้อความก็เร็วกว่า เสถียรกว่า ตรงนี้เป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้บีบียังคงรักษาลูกค้ต่อไปได้” ปกรณ์สะท้อนความเห็น

มุมมองนี้ ไม่ต่างไปจาก สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการบริษัทเอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือเอสไอเอส ผู้จัดจำหน่ายบีบีรายใหญ่ ที่มองว่า WhatsApp จะส่งผลด้านบวกให้กับไอโฟน เพราะไปเติมเต็มเรื่องฟังก์ชั่นการแชตให้กับไอโฟนที่ยังขาดเรื่องนี้อยู่ แต่เขาไม่เชื่อว่า WhatsApp จะส่งผลกระทบต่อ BlackBerry จนทำให้ต้องสูญเสียรายได้ เพราะฟังก์ชั่นของ BlackBerry ตอบโจทย์เรื่องการแชตได้สมบูรณ์มากกว่า

“WhatsApp ไม่ได้มีผลทำให้ลูกค้าบีบีหันไปซื้อไอโฟนมากขึ้นเพราะคนที่เขาต้องการดูหนังฟังเพลงเขาก็ซื้อไอโฟน เป็นลูกค้าคนละกลุ่มกับบีบี คนที่จะซื้อบีบีเขาต้องการเรื่องของพุชเมล เรื่องของแชต ซึ่งบีบีทำได้เสถียรมาก” สมชัยให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม สมชัยมีข้อเสนอแนะว่า เพื่อขยายฐานลูกค้าให้หันมาใช้บีบีมากขึ้น โอเปอเรเตอร์มือถืออาจต้องร่วมกับบีบีออกแพ็กเกจราคาใหม่ๆ ออกมารองรับกับผู้ใช้ระดับแมสมากขึ้นและหลากหลายขึ้น เพื่อดึงกลุ่มใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยใช้ให้เข้ามาใช้งานได้ง่ายๆ เช่น นอกจากจะมีแพ็กเกจเป็นรายสัปดาห์แล้ว อาจต้องออกแพ็กเกจรายวัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว หรือแพคเกจรายชั่วโมง สำหรับคนที่ต้องการใช้เหมือนอย่างในอินโดนีเซีย ก็มีแพ็กเกจนี้แล้ว

หลักการทำงานของบีบี
ทุกครั้งที่ลูกค้าบีบีใช้บริการส่งข้อความ หรือเข้าใช้โซเชี่ยลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก เซิร์ฟเวอร์ของบีบี จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับส่งข้อมูลให้กับลูกค้า ข้อดีคือ การรับส่งข้อมูลจะมีความเสถียร แต่ก็ต้องเสียรายได้ค่าบริการ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่ไอโฟนและแอนดรอยด์ไม่มี

โมเดลรายได้สมาร์ทโฟน
ไอโฟน ขายเครื่อง และแอพสโตร์ ที่ให้บริการดาวน์โหลดแอพฯ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 1%
BB ขายเครื่อง + ค่าบริการแชตผ่านบีบีเอ็ม และพุชเมล ซึ่งบีบีจะคิดจากลูกค้าที่แพ็กเกจบีบี โดยจะหักเป็นค่าไลเซ่นส์จากโอเปอเรเตอร์ ซึ่งไม่ได้เปิดเผย
แอนดรอยด์ ขายเครื่อง และแอนดรอยด์มาร์เก็ต ซึ่งยังไม่ชัดเจนในเรื่องการโมเดลหารายได้