สูตรรายได้บริการมือถือ อาจถึงเวลาต้องเปลี่ยน ?

ความนิยมในตัวบริการ WhatsApp ไม่เพียงแต่ท้าทายต่อตลาด BlackBerry เท่านั้น แม้แต่ โอปะเรเตอร์มือถือ ก็กำลังต้องผชิญความท้าทาย ที่ส่งผล ให้ “สูตรการหารายได้” อาจต้องเปลี่ยนแปลง

SMS กลายเป็นอดีต?
ด้วยกระแสความนิยม WhatsApp ที่ส่งผลให้เกิดแชตกระจาย จะมาแทนที่บางบริการ เช่น ส่งข้อความสั้นยอดฮิต SMS ที่อาจได้รับความนิยมลดลง เหมือนอย่างบริการสื่อสารหลายชนิดที่เสื่อมความนิยมโดยเร็ว เมื่อมีบริการใหม่ๆ มาแทนที่ เช่น การแชตบน MSN ที่เคยฮิตมากๆ แต่ก็กลายเป็นอดีตไปเมื่อมี Facebook เข้ามาแทนที่

“มีคำถามว่า รายได้ของโอปะเรเตอร์ในเรื่องของบริการ Voice จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าดูเฉพาะในส่วนของ SMS มีผลกระทบแน่ แต่ก็จะกระทบเฉพาะลูกค้าไฮเอ็นท์ ที่ใช้สมาร์ทโฟนเท่านั้น ส่วนลูกค้าระดับล่างลงมาความต้องการSMS ยังมีอยู่ ซึ่งเราเห็นกระแสนี้มาปีกว่าแล้ว มันก็เหมือนกับเมื่อก่อนคนใช้ MSN น้อยลงเพราะเปลี่ยนมาใช้ เฟซบุ้ก ใช้บีบี แต่ช่วงหลังเราก็เห็นได้ชัดว่าคนหันมาใช้ WhatsApp มาขึ้น”

ปรากฏการณ์นี้ ปกรณ์ บอกว่าเขาสังเกตได้จากยอดการส่ง SMSเพื่ออวยพรปีใหม่ ซึ่งเคยได้รับความนิยมสูงมาก กลับลดลงอย่างน่าใจหาย ยิ่งเป็นลูกค้ากลุ่มบนหรือไฮเอนด์ที่ใช้สมาร์ทโฟน ยอดส่งSMS ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่มีผู้ใช้เฉลี่ยคนละ 200-300ข้อความต่อเดือน เวลานี้เหลือเพียงไม่ถึง 15-20 ข้อความต่อเดือนเพราะหันมาใช้ BBM, เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ ตลอดจน WhatsApp ส่งข้อความแทน ทำให้ยอดรวมของ SMS ในกลุ่มนี้จากเคยมีสิบกว่าล้านข้อความ เวลานี้เหลือ 7-8 ล้านข้อความ

“SMS ต้องรอส่งข้อความไปมา แต่ถ้าเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ WhatsAppโต้ตอบกันได้ทันที ค่าใช้จ่ายก็ถูก เพราะวิ่งบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ใช้แพ็กเกจดาต้า Unlimited ก็ใช้ได้เลย ไม่ต้องเสียเพิ่ม”

อย่างไรก็ตาม ปกรณ์มองว่า การใช้ SMS จะขยายไปที่ลูกค้าระดับแมสมากขึ้น แม้ปริมาณการใช้ไม่เท่ากลุ่มบน แต่ด้วยฐานที่กว้างมากจะร่วมชดเชยรายได้จาก SMS ในกลุ่มบนที่หายไปได้

ในเวลาเดียวกัน ลูกค้ากลุ่มไฮเอนด์ที่ใช้สมาร์ทโฟนหันมาใช้บริการดาต้ามากขึ้น เฉพาะดีแทคค่ายเดียวมีลูกค้าใช้บริการดาต้า 5 ล้านราย ทำให้รายได้ของโอเปอเรเตอร์ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับทรูที่คาดว่ารายได้ค่าบริการดาต้าปี 2554 จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว มีมูลค่าประมาณ หมื่นล้านบาท

พิรุณ มองว่า บริการแชต WhatsApp หรือแม้แต่ BBM ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการใช้ SMS โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่หันมาใช้บริการแชตเพิ่มขึ้นแทน SMS แล้ว แต่ก็ยอมรับว่าการใช้งานบางอย่างของ SMS บริการแชตก็ยังทดแทนไม่ได้ เช่น การส่งข้อความทิ้งไว้ให้คนจำนวนมาก

“รายได้จาก SMS ของทรูไม่ได้ตก แต่ก็ไม่เติบโตเนื่องจากฐานลูกค้าของทรูใช้ SMS ไม่เยอะ มีแค่ 35-40% ยังมีอีก 60% ยังไม่เคยใช้ ทรูมองว่านี่คือ โอกาสขยายบริการ SMS ไปยังลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น เช่น การออกแพ็กเกจ
สำหรับใช้บริการ SMS เช่น แพ็กเกจ 9 บาท ส่ง SMS ได้ 3 วันไม่อั้น สมัครใช้ SMS เสียวันละ 5 บาท”

ก่อนหน้านี้ ค่ายทรูเคยผลักดันแพลตฟอร์มออกมารองรับกับการ
“แชต” คือ MSN บนโมบายล์ ที่มีนักพัฒนาคิดค้นขึ้นมา แต่เมื่อ WhatsApp ออกมาให้บริการ ก็ได้รับความนิยมจากผู้ใช้ไปเพราะตอบโจทย์ได้มากกว่า MSN ออนโมบายล์ที่ยังมีข้อจำกัดด้านการใช้งาน ผู้ใช้ต้องออนไลน์พร้อมกัน

พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
ในมุมของดีแทค WhatsApp มีผลให้ความต้องการงานด้านเสียง (Voice) และการส่งข้อความสั้น SMS ลดลง แต่ในทางกลับกันก็ไปเพิ่มรายได้ในส่วนที่เป็นบริการดาต้า เขามองว่าอนาคตรูปแบบของการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตอย่าง WhatsApp จะมีมากขึ้น และจะมีแอพฯ ใหม่ๆ มาแทนที่แอพฯ เก่าตลอดเวลา โดยเป็นบริการที่รวมอยู่ในแพ็กเกจดาต้าใช้งานไม่จำกัด ในอัตรา 690 บาท 790 บาท

สิ่งที่โอเปอเรเตอร์ต้องทำ คือ สร้างโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนี้ เช่น การออกแพ็กเกจดาต้าในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับกับความต้องการหลากหลายมากขึ้น

“เราต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ อย่าไปแข่งกับเขา เหมือนกับการคิดไปแข่งกับเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ มันเป็นไปไม่ได้หรอก WhatsApp ก็เหมือนกัน เราต้องมองว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร กรณีของ WhatsApp เราก็นำมาใช้เป็น Message โฆษณาสื่อสารแพ็กเกจดาต้าเพื่อกระตุ้นความต้องการ เช่น แพ็กเกจดาต้านี้สามารถใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ใช้ WhatsApp ได้ไม่จำกัด” ปกรณ์บอก

เช่นเดียวกับปรัธนา เอไอเอส มองว่าเป็นโอกาสทำให้รายได้จากบริการดาต้า ยิ่งมีแอพฯ ที่สร้างความนิยมได้มากเท่าไหร่ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้เกิดการใช้บริการดาต้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเอไอเอสเองก็ต้องมองเรื่องของการออกแพ็กเกจออกมารองรับสำหรับคนอยากใช้ดาต้ามากขึ้น

“เราเฝ้ามอง WhatsApp มาพักใหญ่แล้ว แต่จะมีแพ็กเกจออกมารองรับโดยเฉพาะมั้ย ยังตอบไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ WhatsApp ก็เหมือนกับอีกหลายแอพฯ ดึงดูดให้ลูกค้าอยากใช้ดาต้ามากขึ้น”

จับตา Viber กระทบแน่ตลาด Voice
ไม่เพียง WhatsApp เท่านั้น แอพฯ บนสมาร์ทโฟนที่กำลังมาแรงและถูกจับตาว่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อโอเปอเรเตอร์ คือ “Viber” เป็นแอพฯ ที่ทำให้สมาร์ทโฟนโทรศัพท์หากันได้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องเสียค่าแอร์ไทม์ นอกจากแพ็กเกจดาต้าเพราะใช้หลักการเดียวกับ WhatsApp คือ ใช้งานข้ามแพลตฟอร์มได้ โดยมีเลขหมายโทรศัพท์เป็นตัวเชื่อม ทำให้ติดตั้งและใช้ง่ายใช้โทรหากันได้ตลอดเวลา กำลังได้รับความนิยมมากในหมู่วัยรุ่น

หลายคนจับตามองว่า Viber จะมีผลกระทบโดยตรงต่อโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือ ที่ต้องสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไป

“ยอมรับว่า แพลตฟอร์มแบบนี้ จะช่วยกระตุ้นความต้องการดาต้า แต่ก็ทำให้โอเปอเรเตอร์สูญเสียรายได้จากค่าโทร โอเปอเรเตอร์ต้องตั้งหลักในเรื่องราคาแพ็กเกจให้ดี เพราะแอพฯ เหล่านี้มันกินกันแน่นอน แต่ทำอย่างไรให้เจ็บตัวน้อยที่สุด” โอเปอเรเตอร์รายหนึ่งตั้งข้อสังเกต

ในขณะที่เอไอเอสมองปรากฏการณ์ Viber ไม่ต่างจาก WhatsApp ซึ่งกำลังเป็นอีกแอพฯ ที่มีการ “บอกต่อ” ในหมู่เพื่อน และกลายเป็นไวรัล เอฟเฟกต์อีกตัว ที่ส่งผลทั้งด้านบวกและลบกับโอเปอเรเตอร์มือถือ การใช้โทรศัพท์ลดลง แต่การใช้ดาต้าเพิ่มขึ้น

แต่สิ่งที่ปรัธนาเป็นกังวลมากกว่าบทบาทของแอพฯ เหล่านี้ คือ สงครามราคาบริการดาต้า จากทุกโอเปอเรเตอร์กำลังมุ่งหน้าไปเพื่อแย่งชิงลูกค้า

“ไม่ใช่ว่ามี WhatsApp มี Viber มาแล้วโอเปอเรเตอร์จะเจ๊ง แต่การแข่งกันเองจนทำให้คุณภาพแย่ลงคือเรื่องสำคัญ เพราะลูกค้ายังไงเขาก็โดนใจกับของฟรี แต่เราต้องรักษาให้อยู่ในจังหวะที่เหมาะสม อย่างในเรื่องของบริการเสียง สมมติว่า ควรจัดเก็บนาทีละ 1 บาทเราจึงจะอยู่ได้ แต่พอมาแข่งกันที่แพ็กเกจอันลิมิต ให้ใช้รวมได้ทุกอย่าง โอกาสที่มันจะเละและเจ็บตัวกันหมดมีมาก” ปรัธนาให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม เขาไม่แน่ใจว่าแอพฯ เหล่านี้จะสร้างความนิยมได้นานแค่ไหน เพราะเป็นไปได้ที่มีโอกาสได้เห็นแอพฯ ใหม่ที่ดังชั่วข้ามคืน ในแบบ WhatsApp และ Viber ทำสำเร็จมาแล้วจากนักพัฒนาแอพฯ บนสมาร์ทโฟนเป็นแสนๆ คนทั่วโลก

“มีนักพัฒนาเป็นแสนๆ คนไม่เคยหยุดคิดว่า วันนี้จะทำอะไรดี เพราะเขามองไปถึงตลาดโลก ทำแล้วให้บริการออกไปขายได้ทั่วโลก”

พอร์ตรายได้ Non-voice
สัดส่วนรายได้ ปี 2008-2009 ปี 2010-2011
1.ดาต้าเซอร์วิส 15% 40%
2. SMs 27-28% ลดลง
3. คอนเทนต์ เซอร์วิส – บริการไอวีอาร์ 1900 27-28% ลดลง
4 ดาวน์โหลดริงโทน เสียงรอสายเรียกเข้า 27-28% ลดลง
(มูลค่าธุรกิจ Non-voice ปี 54 ของทรูคาดว่าจะมี 25,000 ล้านบาท)
ที่มา : ทรู คอร์ปอเรชั่น