ปลาเร็วกินปลาช้า ข้อคิดจาก WhatsApp

ยุคนี้ต้อง Cross Platform
สิทธิพล พรรณวิไล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ เนย นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือทำตลาดไปทั่วโลก และผู้ก่อตั้งบริษัท หัวลำโพง ให้แง่คิดว่า WhatsApp เป็น Case Study ที่ดีที่นักพัฒนาควรจะมองดูไว้ จริงๆ แล้วทางเทคนิค Whatsapp ไม่ได้มีอะไรยากเลย แต่สามารถดึงจุดแข็งของการเป็น “Cross Platform” คือการที่มือถือทุกแพลตฟอร์มสามารถใช้งานร่วมกันได้จนทำให้คนนิยมใช้เนื่องจากโปรแกรมส่วนใหญ่ทุกวันนี้ยังมีข้อจำกัดทางด้านPlatformอยู่เพราะเกือบทั้งหมดทำยึดติดกับ Platform ใด Platform หนึ่งเท่านั้น จนเกิดเป็นข้อจำกัดที่ผู้ใช้ระบบปฏิบัติการที่ต่างกันไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ในขณะเดียวกันถ้าเป็น Cross Platform ปัญหาตรงนี้ก็จะหมดไปแถมยังทำให้มีจำนวนผู้ใช้มากและเป็นที่นิยมในที่สุด

นาทีนี้ไม่ใช่นาทีของการทำอะไรเพื่อแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องทำให้ครอบคลุมให้มากแพลตฟอร์มสุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้ Market Share ของแพลตฟอร์มนั้นๆ จะไม่เยอะมากแต่ทุกตลาดมีความสำคัญ

ปลาเร็วกินปลาช้า
อีกเรื่องที่ สิทธิพล มองเห็นจากปราฏการณ์นี้ คือ “ปลาเร็วกินปลาช้า” จริงๆ แล้วมีโปรแกรมที่ดีกว่า Whatsapp อยู่มากมายเพียงแต่โปรแกรมเหล่านั้นทำออกมาได้ช้ากว่าและแพลตฟอร์มน้อยกว่า สุดท้ายคนก็ยังจะใช้ Whatsapp อยู่ ทั้งนี้เพราะทุกคนเริ่มใช้และมีแอคเคาต์อยู่ในนั้นแล้วจึงไม่อยากเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นอีกเหมือนที่ทุกวันนี้มีคนติด MSNและไม่คิดจะเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นกัน ทั้งนี้นี่คือข้อดีของการทำ “Service” แบบ “Social” เมื่อมี User ระดับหนึ่งแล้วคนจะไม่หนีออกไปไหน

Business Model
จริงๆ แล้ว Whatsapp เดินมาถูกทางในด้านการทำ Servic แต่ที่ยังไม่ชัดเจนนักคือ Business Model จนทำให้ทุกวันนี้ไม่ทราบแน่ชัดว่ารายได้ของ Whatsapp มาจากที่ใดกันแน่หรือบางทีอาจจะไม่มีรายได้เพียงพอต่อรายจ่ายด้วยซ้ำ (หากไม่นับรวมเงินที่ได้จาก Venture Capital) อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูต่อไปว่าทาง Whatsapp จะหารายได้จาก Service ที่ได้รับความนิยมมากนี้อย่างไร

คิดต่างแล้วต้องเสถียร
สำหรับ เอกชัย เจริญพัฒนมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ-แอ๊ป ครีเอชั่น ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ติดอันดับ 1 ใน 100 ยอดดาวน์โหลดสูงที่สุดในโลก เขาให้ข้อคิดว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่คิดถึงเรื่องความเสถียร ถ้าดูจากกรณีของ WhatsApp ก่อนหน้านี้ มีแอพฯ สำหรับแชตในลักษณะเดียวกับ Whatsapp ออกมามากมาย เช่น พาริงโก และปิง โดยมีฟีเจอร์การใช้งานมามากกว่า WhatsApp แต่ด้วยความไม่เสถียรของระบบ การส่งข้อความไม่ได้รับ หรือ ล่าช้า ทำให้แอพเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยม ส่วน Whatapp แม้ฟีเจอร์น้อยกว่า แต่ถ้วยความสเถียรของระบบที่มีมากกว่า ปัญหา Bug มีน้อยกว่า ก็สร้างความนิยมให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการพัฒนาต้องคิดเสมอว่า ต้องสมบูรณ์ที่สุด ไม่ใช่ว่าให้บริการแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง

ต้องง่ายเข้าไว้
ความง่ายในการใช้งาน ถือว่าเป็นอีกกุญแจแห่งความสำเร็จของ WhatsApp ที่ออกแบบมาใหผู้บริโภคใช้งานง่ายที่สุด ไม่ซับซ้อนโดยตัวระบบจะไปจัดการดึงรายชื่อเพื่อนๆ ที่อยู่ใน PhoneBook มาใส่ให้อัตโนมัติ ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียเวลาไปเพิ่มรายชื่อหรือต้องลงทะเบียน ซึ่งเหมาะกับผู้บริโภคยุคนี้ ที่มีเวลาน้อย การใช้ชีวิตก็ยุ่งยากไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทใดก็ตาม จะเป็นเทคโนโลยี หรือ คอนซูเมอร์โปรดักส์ หากออกแบบมาใช้งานง่ายๆ โอกาสประสบความสำเร็จก็มีสูง