เปิดแผน ‘ttb’ บุกดิจิทัลแบงก์กิ้ง ปรับโฉมแอปฯ ใหม่ ตั้งบริษัทลูกจับตลาดบัตรเครดิต-สินเชื่อ

เปิดเเผนกลยุทธ์ปี 65 ‘ทีเอ็มบีธนชาต’ ปรับโครงสร้างธุรกิจ ตั้งหน่วยงาน “ttb spark” บุกดิจิทัลแบงก์กิ้งเต็มสูบ เปิดตัวบริษัทลูก “ttb consumer” เพื่อความคล่องตัว หวังดันขึ้น TOP 4 ในตลาดบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล พร้อมปล่อยแอปพลิเคชัน ‘ttb touch’ โฉมใหม่ เม.ย.นี้ 

หลังการรวมกิจการของ 2 ธนาคารใหญ่ในไทยทั้งทีเอ็มบีและธนชาตสู่การเป็น ทีเอ็มบีธนชาตหรือ ttb เสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อเดือนก..ปีที่ผ่านมา วันนี้ปิติ ตัณฑเกษมประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) มาอัปเดตถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ พร้อมกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ ปี 2565

ทีเอ็มบีธนชาตแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเพิ่มความสามารถในการช่วยเหลือลูกค้าได้รอบด้านขึ้น ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบกระแสตอบรับจากลูกค้าและสังคมที่มีต่อธนาคาร เริ่มเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่ผ่านมา ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เช่น บัญชี ttb all free ที่เพิ่มความคุ้มครองด้านการประกันชีวิตและอุบัติเหตุฟรี ช่วยให้ลูกค้ากว่า 1.9 ล้านราย มีความคุ้มครองพื้นฐานโดยไม่เสียเงิน และส่งผลให้ธนาคารมียอดเงินฝากจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เติบโตสูงถึง 15%

บัญชีเงินฝากประจำ ttb up and up ที่ถอนได้ก่อนกำหนด โดยไม่ถูกลดดอกเบี้ย ตอบโจทย์การออมของลูกค้าที่ต้องการดอกเบี้ยสูง มีลูกค้าเปิดใช้บัญชีเพิ่มขึ้นถึง 120,000 ราย ผลิตภัณฑ์การลงทุน ttb smart port สามารถทำยอด IPO สูงสุดในประวัติศาสตร์ ด้วยยอดขายในสัปดาห์แรกกว่า 1 หมื่นล้านบาท และเติบโตเป็น 2 เท่า ภายในเวลา 6 เดือน

รวมถึงบัตรเครดิต ttb reserve มีผลตอบรับการถือบัตรจากลูกค้ากลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูงของธนาคารกว่า 60% ภายในเวลาเพียง 6 เดือน ตลอดจนการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมกว่า 750,000 ราย 

นอกจากนี้ ธนาคารได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยผลักดันโครงการพักทรัพย์พักหนี้ และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อให้กลุ่มธุรกิจ เช่น โรงแรม และภาคประชน สามารถผ่านวิกฤตไปได้

ด้วยสถานการณ์โควิด เเละสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารต้องปรับตัว คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการลูกค้า สนับสนุนลูกค้าทุกด้าน โดยช่วงนี้ลูกค้ารายใหญ่กำลังเผชิญกับความผันผวนจากสงครามที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ส่วนลูกค้า SMEs ดีขึ้นกว่าปีก่อน เเต่ก็ยังมีความไม่เเน่นอนอยู่ ส่วนลูกค้าบุคคลทั่วไปยังเจอปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูง เราก็ต้องเข้าไปดูแลลูกค้ากลุ่มต่างๆ ให้ตรงจุด

ส่ง ttb consumer ลุยตลาดบัตรเครดิต-สินเชื่อ 

เมื่อปลายปี 2564 ttb ได้เข้าซื้อหุ้น 10% ในบริษัทธนชาตประกันภัยและบริษัทหลักทรัพย์ธนชาตสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านประกันและการลงทุนสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับลูกค้า

รวมไปถึงการที่ ttb broker ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารได้ขยายเครือข่ายพันธมิตรบริษัทประกันภัยรวมกว่า 20 บริษัท เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและคุ้มครองความเสี่ยงให้กับลูกค้าของธนาคารได้ครบทุกรูปแบบในราคาที่เหมาะสม

ล่าสุด ธนาคารได้วางแผนจัดตั้งบริษัทใหม่ คือ ‘ttb consumer’ เพื่อเพิ่มศักยภาพการนำเสนอบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ครบวงจรและการเข้าถึงลูกค้าได้ในวงกว้าง พร้อมนำเสนอและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

“เราวางเป้าหมายว่า ttb consumer จะสามารถก้าวขึ้นติดอันดับ 1 ใน 4 ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล” 

โดย ttb consumer จะทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวแทนจำหน่ายที่กระจายผลิตภัณฑ์ต่างๆของ ttb ออกไปให้เข้าถึงผู้คนกลุ่มที่กว้างขึ้น เช่นเดียวกันหลายธนาคารที่มักจะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นเพื่อความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ 

ส่วนแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้ ttb มองว่าความต้องการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามภาวะของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่ยังมีความท้าทายในเรื่องซัพพลายเชนการผลิตและส่งมอบรถยนต์ที่เกิดความล่าช้า

ปั้นทีม ttb spark พัฒนาดิจิทัลโดยเฉพาะ

ttb มีการปรับโครงสร้างภายใน เพื่อพัฒนาด้านดิจิทัล ภายใต้แนวคิด ‘Humanized Digital Banking’ โดยได้จัดตั้ง ‘ttb spark’ ทีมงานที่มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ไอเดียและพัฒนาดิจิทัลโซลูชันโดยเฉพาะขึ้นมา แยกโครงสร้างการทำงานออกมาอย่างชัดเจนเพื่อเพิ่มความคล่องตัว 

รัชกร ชยาภิรัต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีบี สปาร์ค เล่าว่า หน่วยงานใหม่นี้จะที่ทำงานรูปแบบ Agile คิดนอกกรอบและทดลองวิธีการใหม่ๆ พัฒนา Ecosystem ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มปันบุญ หรือ www.punboon.org ที่ช่วยให้มูลนิธิปรับ Business Model เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริจาคใหม่ๆ ได้

รวมไปถึงโซลูชัน ttb business one ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้กับลูกค้าธุรกิจ “มีจำนวนการทำรายการผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่า 160% ตั้งแต่เปิดตัว

เปิดตัว ‘ttb touch’ โฉมใหม่ 

จากกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้แนวคิด ‘The Bank of Financial Well-being’ ปีนี้ธนาคารเตรียมที่จะพลิกโฉมแอปพลิเคชัน ‘ttb touch’ ให้กลายเป็นผู้ช่วยส่วนตัวและ ที่ปรึกษาที่รู้ใจ ช่วยให้ชีวิตทางการเงินของลูกค้าดีขึ้นได้อย่างรอบด้าน สำหรับ 4 ฟีเจอร์เด่นของ ttb touch ได้เเก่

  •  ผู้ช่วยส่วนตัว

ให้ข้อมูลและแจ้งเตือนเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับลูกค้าโดยเฉพาะ ด้วยการใช้ Data Analytics วิเคราะห์พฤติกรรม นำเสนอ และ ช่วยแจ้งเตือนในธุรกรรมสำคัญต่าง ๆ

  • ให้คำแนะนำและทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

เช่น บริการด้านประกันที่จะช่วยรวบรวมข้อมูล และแสดงผลภาพรวมความคุ้มครองทั้ง 3 ด้าน คือ ดูแลสุขภาพ ออมเพื่อเกษียณ และ ดูแลคนข้างหลัง โดยแสดงให้เห็นว่าประกันที่มีครอบคลุมและเพียงพอกับ Lifestyle และ Life Stage ของลูกค้าหรือไม่ ทำให้เรื่องประกันที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย

  • รวบรวมและจัดระเบียบเอกสารทางการเงินไว้บน ttb touch

สะดวกในการค้นหา เรียกดูง่าย และ ขอเอกสารได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปสาขาอีกต่อไป เช่น เอกสารรับรองสถานะทางการเงิน และเอกสารข้อมูลเครดิตบูโร

  • รวบรวมสิทธิประโยชน์ไว้ในที่เดียว

พร้อมเลือกสรรแคมเปญโปรโมชันที่เหมาะสำหรับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าไม่พลาดทุกความคุ้มค่าที่ธนาคารมอบให้

ในอนาคต ‘ttb touch’ จะเป็นมากกว่าผู้ช่วยและที่ปรึกษาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการธนาคารโดยจะเข้ามาช่วยจัดการด้านอื่นๆ เช่นการบริหารจัดการเรื่องการจ่ายค่างวดสินเชื่อรถต่อประกัน รวมไปถึงการขายรถและการหาซื้อรถคันใหม่มาทดแทน

ธนาคารหวังจะผลักดันให้  ttb touch เป็น Mobile Banking ที่มีฐานผู้ใช้งานระดับ Top 3 ของอุตสาหกรรม จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าใช้งาน ttb touch อยู่ราว 4 ล้านราย โดยคาดว่าแอปพลิเคชันโฉมใหม่ จะเปิดตัวได้ภายในเดือนเม.. นี้นริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีบีสปาร์ค กล่าว

เมื่อถามถึงกระแสที่ตอนนี้หลายธนาคารในไทยเริ่มจับมือกับแพลตฟอร์มคริปโตเคอร์เรนซี ทาง ttb มีแผนจะรุกกลุ่มนี้หรือไม่ และมีความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนด้านนี้อย่างไรนั้น ซีอีโอ ttb ตอบว่า

สูตรของ ttb ง่ายมาก เวลาจะทำอะไร เราจะถามคำถามเดียวว่า ลูกค้าจะได้อะไร เพราะแบงก์มีอยู่ก็เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ถ้าการจับมือนั้นจะนำไปสู่โซลูชันหรือโปรดักต์ที่ทำให้ชีวิตทางการเงินของลูกค้าดีขึ้น ไม่ว่าจะลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้า SMEs หรือรายย่อย เราก็มีความสนใจ 

แต่ถ้าการจับมือไม่ได้นำไปสู่จุดนั้น เราก็คงไม่ได้ทำไปตามกระแสที่ว่าเมื่อทุกคนทำเราต้องทำบ้าง เพราะถ้าเกิดว่า สิ่งนั้นทำแล้วไม่ได้ตอบรับกับกลยุทธ์ของเราที่จะได้เครื่องมือใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ แนวคิดใหม่ หรือพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ที่จะมาช่วยเราพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับชีวิตทางการเงินของลูกค้า เราก็คงจะไม่สนใจ เพราะว่าแค่โปรดักต์ไลน์อัพที่เราจะต้องพัฒนากันอยู่ตอนนี้ ก็ทำกันแทบไม่ทันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราคงไม่ไปทำอะไรที่ทำให้สูญเสียโฟกัสตรงนี้ออกไป”