-
Visa เปิดผลสำรวจคนไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” เร็วขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจาก COVID-19 คนไทยถึง 9 ใน 10 เคยทดลองใช้จ่ายแบบไร้เงินสดในชีวิตประจำวัน
-
ธุรกิจของ Visa ช่วงหลังเกิดโรคระบาดยอมรับว่า ‘เหนื่อย’ กว่าที่ผ่านมา เพราะการล็อกดาวน์จะลดการใช้ “เงินก้อนใหญ่” เช่น ทริปท่องเที่ยว
-
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เพิ่มจุดใช้งานร่วมกับขนส่งสาธารณะมากขึ้น ล่าสุดคือรถไฟฟ้า MRT และจัดโปรโมชันร่วมกับอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นช่องทางซื้อสินค้ามาแรงของคนไทย
“สุริพงษ์ ตันติยานนท์” ผู้จัดการ วีซ่า (Visa) ประจำประเทศไทย เปิดเผยผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับการชำระเงิน ประจำปี 2564 ซึ่งสำรวจในคนไทย 1,000 คน อายุ 18-65 ปี ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา โดยมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
- เกือบ 9 ใน 10 ของคนไทยเคยลองใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบไร้เงินสด
- 6 ใน 10 ของคนไทยพกเงินสดน้อยลง เทียบกับปี 2562 อัตราอยู่ที่ 3.5 ใน 10 คนเท่านั้น
- คนไทย 79% มั่นใจว่าสามารถใช้ชีวิตได้ 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องพกเงินสด เทียบกับปี 2563 อยู่ที่ 68% เท่านั้น
- คนไทย 87% รู้จักการใช้บัตรแบบคอนแทคเลส เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มี 74%
สถิติที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าเมืองไทยกำลังเข้าใกล้สังคมไร้เงินสดมากขึ้นเรื่อยๆ และเร็วขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีการระบาดของโรค COVID-19 เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ วัดจากสถิติคนไทย 54% ให้เหตุผลที่ลดการใช้จ่ายด้วยเงินสดเพราะกังวลเรื่องการติดต่อของโรคระบาด
สำหรับความคาดหวังของผู้บริโภคต่อธุรกรรมที่มองว่าควรจะมีระบบชำระแบบไร้เงินสด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1)ร้านสะดวกซื้อ 2)ชำระบิล 3)ซูเปอร์มาร์เก็ต 4)ขนส่งสาธารณะ และ 5)ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม
สุริพงษ์กล่าวว่า ดัชนีชี้วัดความเป็นสังคมไร้เงินสดนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องตัดเงินสดออกจากระบบทั้งหมด แต่วัดจากจุดชำระเงินทุกแห่งมี “ตัวเลือก” ให้เลือกชำระด้วยระบบไร้เงินสดได้ โดยมีสังคมที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย
Visa รุกกลุ่มขนส่งสาธารณะ
ขนส่งสาธารณะเป็นภาคธุรกิจอันดับที่ 4 ที่คนไทยคาดหวังว่าจะชำระเงินแบบไร้เงินสดได้ เมื่อมองภาพระดับสากลของ Visa เองก็มีการรุกเข้าไปเป็นระบบชำระเงินให้กับขนส่งสาธารณะประเทศต่างๆ ปัจจุบันมีโครงการขนส่งที่ใช้ Visa ชำระเงินแล้วมากกว่า 500 โครงการทั่วโลก
ส่วนในประเทศไทย มีทั้งหมด 4 โครงการที่ Visa วางระบบแตะจ่ายแบบคอนแทคเลสแล้ว (สามารถใช้บัตรของค่ายอื่นที่มีคอนแทคเลสได้เช่นกัน) ได้แก่ รถประจำทาง ขสมก., ทางพิเศษ 5 สายในกรุงเทพฯ, ดอนเมืองโทลเวย์ และล่าสุด รถไฟฟ้า MRT (สายสีน้ำเงินและสีม่วง)
สุริพงษ์กล่าวว่า การขยายไปใช้ระบบคอนแทคเลสกับขนส่งสาธารณะมีส่วนสำคัญมากในการส่งเสริมสังคมไร้เงินสด และบริษัทต้องการสนับสนุนให้มีการใช้ได้ทั้งระบบขนส่งของกรุงเทพฯ และขยายไปยังต่างจังหวัดในอนาคต ขณะนี้มีการเจรจากับทุกบริษัทผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทุกสายในไทย นอกเหนือจาก MRT ที่มีการใช้งานแล้ว
“การใช้คอนแทคเลสแตะจ่ายค่าเดินทางทำให้ผู้โดยสารสะดวกมาก และส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวด้วย เพราะนักท่องเที่ยวต่างรู้จักและถือบัตร Visa โดยปัจจุบันเรามีผู้ถือบัตร 3,600 ล้านใบทั่วโลก การเดินทางจะลดขั้นตอนการซื้อตั๋ว สามารถแตะเข้าระบบได้เลย ทำให้นักท่องเที่ยวสะดวกมากขึ้น” สุริพงษ์กล่าว
2 ปีโรคระบาด ‘เหนื่อย’ แต่เชื่อว่าปีนี้ปรับตัวดีขึ้น
ด้านการดำเนินงานของ Visa ประเทศไทยในช่วง COVID-19 สุริพงษ์ยอมรับว่าค่อนข้างเหนื่อย เพราะมูลค่าการใช้จ่ายลดลง เนื่องจากคนไทยไม่ได้ใช้จ่าย “เงินก้อนใหญ่” อย่างเคย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อไปทริปท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงการปิดประเทศทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้จ่ายน้อยมาก แต่เชื่อว่าปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากไทยเปิดระบบ Test & Go ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา และคนไทยน่าจะเริ่มกลับไปเที่ยวต่างประเทศกันเร็วๆ นี้
ส่วนการเติบโตของอีคอมเมิร์ซนั้น Visa ได้อานิสงส์ในส่วนนี้เช่นกัน เพราะเป็นช่องทางชำระเงินผ่านมาร์เก็ตเพลสต่างๆ และปีนี้จะยิ่งรุกหนักในตลาดอีคอมเมิร์ซ จะมีการจัดโปรโมชันมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้งาน
นอกจากนี้ บริษัทยังเข้าไปผลักดัน SMEs ที่ต้องการขยายตลาดต่างประเทศ เนื่องจากการรับโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารจะทำให้ตลาดจำกัดอยู่ในไทย แต่ถ้าหากรับชำระด้วย Visa จะสามารถขายออนไลน์สู่ต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
คนไทยสนใจ “คริปโต” แต่รัฐยังไม่สนับสนุน
ด้านประเด็นเงินคริปโต จากการสำรวจข้างต้นมี คนไทย 69% ที่ตอบว่าสนใจมากหรือค่อนข้างสนใจการลงทุนในสกุลเงินคริปโต โดยส่วนใหญ่ที่ตอบว่าสนใจจะเป็นคนเจนวาย รองมาเป็นเจนซี และตามด้วยเจนเอ็กซ์ จะเห็นได้ว่าคนวัยไม่เกิน 40 ปีจะเป็นกลุ่มที่สนใจมากที่สุด
ไม่เพียงแต่ลงทุนเท่านั้น คนไทย 85% ตอบว่าสนใจมากหรือค่อนข้างสนใจที่จะใช้คริปโตชำระเงิน
อย่างไรก็ตาม สุริพงษ์ระบุว่าเนื่องจากรัฐบาลไทยยังไม่สนับสนุนให้ใช้คริปโตชำระเงิน Visa ประเทศไทยจึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ขณะที่ในต่างประเทศบางประเทศที่ส่งเสริมคริปโต บริษัทจะมีการเชื่อมเน็ตเวิร์กแปลงเงินคริปโตเป็นเงินเฟียต (คำเรียกรวมของสกุลเงินดั้งเดิมประจำประเทศต่างๆ) ลูกค้าสามารถใช้บัตรชำระเงินให้ร้านค้า และร้านค้าจะได้รับชำระเป็นเงินเฟียตตามปกติ ยังไม่มีระบบจ่ายเป็นคริปโตโดยตรง ต้องแปลงสกุลเงินเป็นเงินเฟียตก่อนเท่านั้น