Positioning มีโอกาสตามติด “ไลฟ์สไตล์ติดดินของคนมีตังค์” ที่ล่าสุดร่วมออกทริปเยือนอัมพวากับไบค์ฟรายเดย์คลับของ TCA ผู้นำเข้าจักรยานรายใหญ่ นำทริปโดย คเณศ มีแก้ว กรรมการผู้จัดการ TCA Group ผู้นำเข้าเฉพาะจักรยานเชิงไลฟ์สไตล์ไฮเอนด์จากต่างประเทศ
พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร พนักงานบริษัทรายได้สูง เช่น หัวหน้าแผนกแห่งการไฟฟ้านครหลวง ดีลเลอร์ผู้นำเข้ามอเตอร์ไซค์ BMW ฯลฯ โดยแต่ละคนมีจักรยานในครอบครองไม่ต่ำกว่า 3 คัน เพราะนิยมขายแล้วซื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ เช่น พิรุนันท์ สังวรราชทรัพย์ หรือ คุณฝน ฝ่ายกฎหมายสถานีดาวเทียมไทยคม เธอและสามี มีจักรยานรวมกันทั้งสิ้นถึง 15-16 คัน บางคนถึงขนาดสร้างโรงสำหรับจอดรถจักรยานโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังเป็นทริปเปิดหูเปิดตาให้รู้จักกับแอสเซสซอรี่ส์ต่างๆ ของจักรยาน เช่น เครื่อง GPS ชนิดสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ไมล์ดิจิตอลไฮโซ นาฬิกาติดแฮนด์โดยเฉพาะ ฯลฯ
“ไบค์ฟรายเดย์เป็นจักรยานที่นิช (Niche) มากๆ ผมใช้เวลาที่ต้องการขี่แบบสบายๆ เน้นเพื่อสุขภาพและสันทนาการ อีกอย่างเวลาเราจะขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศ ปกติจักรยานทัวร์ริงทั่วๆ ไปต้องใส่กล่อง ซึ่งจะมีค่าระวางติดตามมา แต่ไบค์ฟรายเดย์สามารถแยกส่วนใส่กระเป๋าเดินทาง โหลดขึ้นเครื่องได้ตามปกติ” สมศักดิ์ กุลแสงเจริญ ฉายาหมูภูเขา เจ้าของโรงงานพิมพ์ผ้า
“ผมเพิ่งมาขี่ไม่ถึงปี เพราะอยากเที่ยว คือเราเที่ยวแบบอื่นมาหมดแล้ว แต่ขี่จักรยานมันได้ออกกำลังกายด้วย ถามว่าประหยัดมั้ย ไม่นะ เพราะพอขี่แล้วก็ซื้อนู่นซื้อนี่ ที่มาขี่ไบค์ฟรายเดย์เพราะกระแสมันมาแรง เลยลองดู ผมสะสมจักรยานด้วย สองคนกับภรรยาตอนนี้มีรวมกัน 11 คัน รุ่น Limited ก็มีอย่างเช่น แคนาเดล เดโรซา ที่เมืองไทยนำเข้ามาแค่ 3 คัน แต่ผมว่าไบค์ฟรายเดย์นี่ยิ่งกว่าลิมิเตดอีกเพราะมีคันเดียว ของใครของมัน” ศรัณย์ รัตนาภินันท์ชัย เจ้าของธุรกิจก่อสร้าง มาพร้อมกับภรรยาและไบค์ฟรายเดย์สองตอนสำหรับปั่นคู่ ราคาแสนกว่าบาท
“ปกติผมจะใช้เสือหมอบคันใหญ่ บรรทุกของ ปั่นทัวร์ริงค์ไกลๆ ปีละครั้ง เช่น แม่ฮ่องสอน – กรุงเทพฯ เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ-สมุย ทีนี้มาหาข้อมูล เห็นฝรั่งเขาใช้ไบค์ฟรายเดย์เพราะแพ็กลงกระเป๋าเอาขึ้นเครื่องได้ ผมก็เลยลองซื้อมาดู ตอนนี้ก็ใช้มาได้ซัก 9 เดือนแล้วครับ กลายเป็นว่าเน้นทริปปั่นชิลด์ๆ กินเที่ยวมากกว่า ” เสี่ยป้อม พนักงานบริษัทผลิตเม็ดพลาสติก
“เริ่มจากเสือภูเขาเพราะเห็นแฟนปั่นค่ะ แล้วส่วนตัวเราก็ชอบกิจกรรมเอาท์ดอร์อยู่แล้ว โดยเฉพาะจักรยานเป็นกิจกรรมที่ถ้าใจเราไป เราก็ปั่นถึง ส่วนไบค์ฟรายเดย์ชอบตั้งแต่ยืมพี่คเณศไปออกทริปสวิตเซอร์แลนด์(ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่คนละหนึ่งแสนบาทต่อทริป) แล้วค่ะ เพราะมันเป็นทริปที่ถึงมีเงินก็เที่ยวแบบนี้ไม่ได้ กลับมาก็ซื้อเลย บางทีก็ใช้จักรยานในงานประจำค่ะ อย่างเวลาต้องไปแบงก์สาขาที่ไม่มีที่จอดรถ เราก็ปั่นจักรยานไป อนาคตก็คิดจะจัดกิจกรรมระหว่างกลุ่มจักรยานกับกิจการโรงแรมของครอบครัวเหมือนกันค่ะ” ศันสนีย์ ตั้งกอบลาภ หรือ นก สาวธนาคารผู้บอบบาง และเจ้าของโรงแรมห้าดาว Le Palais Juliana ณ กรุงพนมเปญและหลวงพระบาง
“เพิ่งย้ายมาจากออสเตรเลียค่ะ ที่นั่นปั่นจักรยานกันเป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนั้นเรายังไม่ได้ปั่นนะคะ พอกลับมาอยู่เมืองไทย มีเวลาว่าง เห็นคนไทยปั่นกัน ก็เลยปั่นบ้าง เริ่มจากปั่นเสือภูเขา คือจริงๆ ผู้หญิงที่ปั่นเสือภูเขา เพราะเขาชอบธรรมชาติ มันไม่ร้อนดี ปั่นในป่า มีอุโมงค์ต้นไม้ แต่ผู้ชายเขาจะปั่นเป็นแนวสมบุกสมบัน เอามัน นี่เป็นทริปแรกที่มาปั่นไบค์ฟรายเดย์ เป็นการปั่นไปตามสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งน่าสนใจและคล่องตัวกว่าการขับรถเข้าไป ถามกลัวดำมั้ย ก็กลัวนะ แต่ชอบความสนุกของกิจกรรมเอาท์ดอร์มากกว่าค่ะ” ปานใจ สะกีบา หรือ น้อง นักลงทุนที่เพิ่งกลับมาอยู่เมืองไทยหลังจากเติบโตในต่างแดนมา 28 ปี
ในสวีเดนซึ่งผู้คนใช้จักรยานมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มี “Bianchi Café and Cycles” เป็นที่รวมพลคนรัก Bianchi ซึ่งอยู่ในลิสต์จักรยานหรู ส่วนเมืองไทย แม้เดิมจะมีที่แฮงเอาท์ของคนขี่จักรยานอย่างร้าน Happy Monday เอกมัย และ Bike Café ที่ศรีนครินทร์ แต่ก็เพิ่งมีคาเฟ่ “Pedalicious” ที่เป็นทั้งร้านอาหารและร้านขายจักรยานอย่างจริงจัง ที่นี่รับฝากจักรยาน มีบริการฟรีอินเทอร์เน็ต ฟรี Welcome Drink สำหรับคนขี่จักรยาน นอกจากนี้ แต่ละโต๊ะจะมีกระดิ่งจักรยานเป็นกิมมิกเล็กๆ สำหรับเรียกพนักงานในร้าน เร็วๆ นี้ Pedalicious กำลังจะเปิดพื้นที่สำหรับจัดเวิร์คช็อป โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม “First-Jobber”