เปิดมุมมอง “4 ผู้บริหารหญิง AIS” ความท้าทายของ Women In Tech กับภารกิจ Digital Literacy


ต้อนรับวันสตรีสากล International Women’s ตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี พาไปพูดคุยกับ 4 ผู้บริหารหญิงแกร่งแห่ง AIS ภายใต้ความท้าทายแบบ Women In Tech ที่หลายคนมองว่าผู้ชายต้องคู่กับบริษัทเทคโนโลยีมากกว่า และการที่ผู้หญิงในระดับผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยี มีมุมมองอย่างไรในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล เพื่อภารกิจ Digital Literacy ขับเคลื่อนประเทศด้วยดิจิทัล

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าพลังของผู้หญิง หรือ Women Empowerment ไม่ใช่แค่กระแสแบบผิวๆ ที่มาให้อินเทรนด์แค่ชั่วครู่ แต่ได้กลายเป็นแรงกระเพื้อมไปทั่วโลก เห็นได้จากการที่ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทผู้นำมากขึ้นทั้งในภาคธุรกิจ หัวหน้างาน หรือผู้บริหารระดับสูง รวมไปถึงระดับประเทศที่ผู้นำผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในเวทีระดับโลก

ไม่ว่าจะองค์กรข้ามชาติ หรือองค์กรไทยก็เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น เพราะหมายถึง “ความเท่าเทียม” กันด้วย ทุกเพศล้วนมีความสามารถให้การแสดงศักยภาพได้เต็มที่ เราจึงได้เห็นบทบาทของผู้หญิงในยุคปัจจุบันในระดับที่เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทาง และขับเคลื่อนองค์กรเลยทีเดียว

ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่น่าสนใจก็คือ “เทคโนโลยี” ด้วยภาพลักษณ์ที่ทำให้ใครหลายคนนึกถึงว่าเป็นงานสำหรับผู้ชาย แม้ที่ผ่านมาในอดีตสายงานนี้อาจจะมีบทบาทของผู้หญิงไม่มาก แต่ปัจจุบันผู้หญิงเก่งในองค์กรด้านเทคโนโลยีมีจำนวนที่มากขึ้นเป็นลำดับ พร้อมแสดงความสามารถได้อย่างโดดเด่นทัดเทียมกับผู้ชาย ตอกย้ำว่าข้อจำกัดจากเพศสภาพที่เคยเป็นกรอบจำกัดบทบาทการทำงานของผู้หญิงในอุตสาหกรรมนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว และทุกคน ทุกเพศสามารถแสดงความสามารถได้อย่างเท่าเทียม

AIS เป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 14,000 คน เป็นบริษัทที่รวมคนในสายงานเทคโนโลยีอย่าง Engineering, IT, Programmer, Data Scientist, ฯลฯ ตลอดจนสาย Non-tech ไว้มากมาย โดยภาพรวมวันนี้มีพนักงาน และผู้บริหารหญิงสัดส่วนเกินครึ่ง และสำหรับสายงานเทคโนโลยี ก็มีปริมาณพนักงานหญิง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดว่า AIS เป็นองค์กรเน้นที่ความสามารถเป็นหลัก โดยไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเป็นปัจจัย

เนื่องจากในวันสตรีสากล จึงขอพาไปเปิดมุมมองหญิงแกร่ง 4 ผู้บริหารในสายหลักขององค์กร ได้แก่ พี่เจี๊ยบ “กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล AIS และกลุ่มอินทัช, พี่อ๊อบ “นัฐิยา พัวพงศกร” หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน AIS, พี่เอื้อง “สายชล ทรัพย์มากอุดม” หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS และ พี่เจี้ยม “รุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์” รักษาการ กรรมการผู้จัดการ พันธมิตรธุรกิจด้านบันเทิงและคอนเทนต์ AIS


“กานติมา” ผู้ทรานส์ฟอร์มองค์กร

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หรือพี่เจี๊ยบ ดูแลสายงานด้านทรัพยากรบุคคล และการ Transform Skill ของพนักงาน เพื่อให้สามารถรับมือ Digital Disruption บุคคลสำคัญในการก่อตั้ง AIS Academy สถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรของ AIS และเป็นภารกิจคิดเผื่อสำหรับบุคคลทั่วไปในยุคดิจิทัล

พี่เจี๊ยบเป็นหัวหอกสำคัญในการดูแลพนักงานกว่า 14,000 คน หน้าที่หลักคือ การทรานส์ฟอร์มองค์กร ทั้งวัฒนธรรม องค์ความรู้ และศักยภาพของพนักงาน ที่ AIS จะยอมรับความแตกต่างทั้งประวัติการศึกษา โลกดิจิทัลที่เข้ามาทำให้การแบ่งผู้ชายผู้หญิงเริ่มหายไป แต่ทุกคนต้องมีกรอบความคิด ไม่นั่งรอโอกาส ต้องวาดโอกาสของตัวเอง ภายใต้ศักยภาพที่เหมาะสม

 “ที่ AIS เรายึดในความเท่าเทียมของการทำงาน และวัดคนที่ความสามารถเป็นหลัก โดยเฉพาะ Tech Company อย่าง AIS วันนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด ไม่ได้เป็นตัวจำกัดความสามารถและโอกาสที่คุณจะได้รับ เรามีจำนวนผู้บริหารหญิงซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อันเป็นหัวใจสำคัญและก้าวขึ้นมามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือแม้แต่การดำเนินภารกิจตามเป้าหมายหลักขององค์กร ที่ต้องการสร้างความแข็งแรงด้านดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างสังคมแห่งการแข่งขันที่เป็นธรรม ผ่านนวัตกรรมและดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ๆ จนได้รับการยอมรับจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร แต่หัวใจสำคัญที่สุดไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด เมื่อได้รับโอกาส คุณมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง และแสดงศักยภาพอย่างไม่มีขีดจำกัด นั่นจึงเรียกว่าความเท่าเทียมภายในองค์กร”

พี่เจี๊ยบย้ำเสมอว่า ผู้หญิงเองก็ต้องหลุดจากกรอบความคิดเดิมๆ ผู้หญิงต้องไม่อ่อนแอจนคนอื่นต้องเข้ามาช่วย หรือกรอบความคิดที่ว่างานยกของหนักให้ผู้ชายทำอย่างเดียว แต่ต้องพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าตัวเองมีศักยภาพอะไร ความสามารถเท่านั้นจะทำให้เกิดความเท่าเทียม

“ผู้หญิงสำหรับพี่ประกอบด้วย 3 คำ ธรรมชาติ เหมาะสม และพอดี ทำให้เราเคลื่อนตัว และอยู่ในโลกอย่างน่ารัก อย่าหยุดกรอบความคิดตัวเอง ต้องแสดงให้เห็นว่าเรามีความสามารถเพียงใด ผู้หญิงต้องเริ่มจากมองตัวเองว่ามีอะไรที่ขาด โอกาสอะไรที่จำกัดตัวเอง วันนั้นทำให้ตัวเองเข้มแข็งเพราะเรามีความสามารถ”


“นัฐิยา” ผลักดันด้านความยั่งยืน

นัฐิยา พัวพงศกร หรือพี่อ๊อบ ดูแลงานด้านกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงการสื่อสารกับนักลงทุนในด้านทิศทางธุรกิจ และภาพรวมการดำเนินงานขององค์กร

พี่อ๊อบเล่าว่า ในฐานะที่ทำงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ รวมถึงนโยบายภาพรวมด้านความยั่งยืน ต้องทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ทำให้ต้องบริหารความเข้าใจของทุกฝ่าย เพื่อสร้างสมดุลระหว่างคนทำงาน และทิศทางของบริษัท

ในยุคนี้เป้าหมายที่สำคัญก็คือ ด้านความยั่งยืน ทั้งในด้านการพัฒนานวัตกรรม และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมไปถึงการสนับสนุนให้สังคมเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม และการยืดหยัดเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ AIS ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยนั้น ได้สนับสนุนความแตกต่างที่หลากหลาย โดยไม่จำกัดเพศ แต่ต้องมีวิธีคิดที่ต่างจากเดิม มีระบบสรรหาคน และโปรโมทคนที่ชัดเจน ดูที่ความสามารถเป็นหลัก

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน ไม่ได้ดูเรื่องผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการความมั่นใจว่าลงทุนกับบริษัทที่มีแนวคิดที่สร้างความยั่งยืนด้วย ไม่ได้คิดแค่การเติบโตแค่บริษัท แต่ต้องเติบโตทั้งบริบทสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริหารได้เปิดโอกาสให้ทำด้านนี้ ไม่จำกัดเรื่องเพศ การสร้างความยั่งยืนจะช่วยสร้างผลบวกให้สิ่งแวดล้อมได้ ทำให้เกิดนวัตกรรมในเชิงดิจิทัล พนักงานต้องเรียนรู้เรื่องดิจิทัลให้ดีขึ้น และทำอย่างไรให้ลูกค้ารับรู้เชิงดิจิทัลดีขึ้น และทุกคนต้องเข้าถึงดิจิทัลอย่างเท่าเทียม”


“สายชล” สร้างภาพลักษณ์ และทักษะดิจิทัลให้คนไทย

สายชล ทรัพย์มากอุดม หรือพี่เอื้อง PR สาวผู้ดูแลงานประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร พร้อมกับบทบาทในการสร้างโอกาส ความเข้าใจ และทักษะด้านดิจิทัลให้กับคนไทย

พี่เอื้อง มองว่า ทัศนคติสำคัญมากกว่าเพศสภาพ แต่ละคนจะมีเพศใดๆ ที่สำคัญต้องมีทัศนคติที่ส่งต่อสิ่งที่จะทำ ทุกคนสามารถสร้างผลงานได้ ที่ AIS จะมีความหลากหลาย แต่เปิดโอกาสใหทุกคนแสดงออก เวลาในการทำงานจริงจะเริ่มตั้งแต่สิ่งที่เราคิด หารือกัน เปิดใจกัน หาทางออกร่วมกัน เพศไม่มีอุปสรรค ที่สำคัญคือทัศนคติ เพศไม่ได้เป็นกำแพงในการเติบโต

พี่เอื้องจะดูแลภาพลักษณ์องค์กร ภารกิจสำคัญก็คือ สร้างภาพลักษณ์องค์กรผ่านหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านประชาสังคม ธุรกิจ พันธมิตร ลูกค้า และพนักงาน การสร้างภาพลักษณ์นี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่ว่า การให้คนไทยเข้าถึงเทคโนดิจิทัล และเป็นการเข้าถึงอย่างรู้เท่าทัน ฉลาดในการใช้เทคโนโลยี

“บทบาทของผู้หญิงวันนี้ไม่ได้แตกต่างจากผู้ชายเพราะทุกคนสามารถสร้างสรรค์ผลงานในแบบฉบับของตัวเองได้ แต่ความท้าทายของการทำงานวันนี้คือเมื่อเรื่องเพศไม่มีผล เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงดิจิทัล และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้คนไทยมีทักษะด้านดิจิทัลที่ต้องรู้เท่าทันภัยไซเบอร์รูปแบบต่างๆ  ซึ่งถือเป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อเชื่อมต่อภาคสังคม ชุมชน และประชาชน กับนโยบายของภาครัฐ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพนักงานทุกเพศ ทุกวัย พร้อมผู้บริหาร ทุกท่าน ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้การสร้างทักษะด้าน Digital ให้แก่คนไทย สามารถขยายผลในวงกว้าง และสร้างทักษะ พร้อมภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน” 


“รุ่งทิพย์” ผู้อยู่เบื้องหลังดิจิทัล คอนเทนต์

ปิดท้ายที่ รุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ หรือพี่เจี้ยม ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานด้าน Digital content และ Digital Service รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ส่งเสริมการเติบโตของ Digital Ecosystem เพื่อให้พร้อมตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบัน ใครจะนึกว่าผู้หญิงจะทำด้านอีสปอร์ต แต่พี่เจี้ยมไปพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผู้หญิงก็ทำได้

พี่เจี้ยมเป็นลูกหม้อของ AIS อยู่มา 23 ปี หลังจากจบการศึกษาก็เริ่มทำงานที่แรก! จากแผนกที่ดูเรื่องบัตรเติมเงินวัน ทู คอล ก็มาดูเรื่องสิทธิประโยชน์ของลูกค้า AIS จากนั้นก็เริ่มทำเรื่องธุรกิจใหม่ๆ จนบุกเบิกด้านอีสปอร์ต พี่เจี้ยมการันตีเลยว่า AIS ให้โอกาสกับพนักงานทุกเพศทุกวัย เปิดให้แสดงศักยภาพเต็มที่ ไม่ได้มองอายุงานเป็นหลัก แต่ดูที่ความสามารถ ที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ทำอะไรใหม่ๆ นำพามาซึ่งการเติบโตเสมอ

“AIS เป็นองค์กรที่ให้โอกาสพนักงานทุกเพศ ทุกวัย ในการเรียนรู้ ทดลองทำเรื่องใหม่ๆ อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกแบบ Digital Service เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของ Ecosystem ในทุกอุตสาหกรรม อาทิ วงการกีฬา, เกม, และอีสปอร์ต ที่เป็นเทรนด์ซึ่งกำลังเติบโตและเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่  ซึ่งการผลักดันงานด้านนี้ ไม่เคยมีเรื่องเพศเข้ามาเป็นเงื่อนไข ตรงกันข้าม กลับได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่ง จนทำให้เชื่อมั่นว่าการส่งต่อ Digital Service ที่จะสร้างประโยชน์ ต่อยอดการเติบโตของทุกอุตสาหกรรม จะเป็นผลสำเร็จและเสริมความแข็งแกร่งของ Digital Economy ประเทศได้อย่างแน่นอน”


พลังหญิง กับภารกิจ Digital Literacy

ถึงแม้ว่าผู้บริหารหญิงทั้ง 4 ท่าน จะอยู่คนละแผนก คนละสายงาน แต่ภายใต้ AIS นั้น มีภารกิจเดียวกันก็คือ ส่งเสริมให้คนไทยเข้าใจ และมีทักษะในการนำดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือที่เรียกกันว่า Digital Literacy เรียกว่าเป็นภารกิจทั้งภายใน และภายนอกองค์กรเลยทีเดียว

Digital Literacy ของ “พี่เจี๊ยบ” ที่ดูแลด้านบุคลากร ได้เริ่มจากสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กรก่อน ต้องมั่นใจได้ว่าพนักงานกว่า 14,000 คน ต้องมีองค์ความรู้ด้านดิจิทัล ได้จัดตั้ง AIS Academy สถาบันบ่มเพาะ และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ตอนแรกได้เริ่มจากพนักงานภายในองค์กร และขยายโครงการสู่คนไทย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของ Digital Disruption รวมถึงสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ด้วย เรียกว่าเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี

สำหรับ “พี่เจี้ยม” ที่อยู่ในสายงานด้าน New Digital Business ต้องคลุกคลีกับดิจิทัล คอนเทนต์มหาศาล Digital Literacy แบบฉบับของพี่เจี้ยมจึงเป็นการพัฒนาคอนเทนต์ และบริการต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด มีการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลาย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ การสร้าง Digital Content ทั้ง VDO, Game&Esports และอื่นๆ เข้าด้วยกัน

ผลงานล่าสุด คือ เปิดตัวความร่วมมือกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และบริษัท ไทยลีก จำกัด ในการเป็นผู้ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกผ่าน AIS PLAY ทำให้คนไทยได้เข้าถึงกีฬา ผ่านแพลตฟอร์มของ AIS ได้ง่ายๆ

ซึ่ง Digital Service จะเข้าไปสนับสนุน และสร้างโอกาสให้แก่ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรม ท้ายที่สุดจะส่งผลมาถึงเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศด้วยเช่นกัน

ภารกิจ Digital Literacy ของ “พี่อ๊อบ” นั้น ค่อนข้างไปในเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ Business Sustainability โดยมีบทบาทสำคัญในการวางกลยุทธ์ด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และการทำงานร่วมกับทุกส่วนงานใน AIS เพื่อร่วมผลักดันแนวคิด Business Sustainability เข้าสู่กระบวนการทำงานทั้งหมด พร้อมทำให้ AIS ในฐานะ Digital Life Service Provider สามารถนำ Digital Literacy ไปสู่การสร้างประโยชน์ให้แก่ stakeholder ทุกกลุ่มอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ปิดท้ายที่ “พี่เอื้อง” หลายคนจะคิดว่างาน PR จะอยู่แค่สร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรอย่างเดียวเท่านั้น แต่ภารกิจของพี่เอื้องนั้นบียอนด์ขึ้นไปอีก นอกจากสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้คนไทยเข้าใจ และมีทักษะในการนำดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิต รวมไปถึงเสริมภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ที่จะช่วยให้รู้เท่าทันและใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลได้อย่างไม่ตกเป็นเหยื่อ พร้อมกับการสื่อสารเป้าหมายของ AIS ในการก้าวสู่องค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Telco เพื่อประโยชน์สูงสุดของ Stakeholder ทุกกลุ่ม

ต้องบอกว่ามุมมองของผู้บริหารทั้ง 4 ท่านนี้ ได้ส่งต่อแรงบันดาลใจต่อสตรีหลายท่านเลยทีเดียว ในฐานะ Women In Tech ซึ่งมีบทบาทต่อการขับเคลื่อน Digital Literacy ภายใต้เป้าหมายหลักขององค์กรที่ต้องการนำ Digital มายกระดับประเทศ

เชื่อว่าผู้หญิงมีศักยภาพไม่แพ้เพศใด ขอเพียงแต่แสดงความสามารถของตัวเอง และก้าวข้ามขีดจำกัดต่างๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกแก่ตนเองและส่วนรวมต่อไป