มูลค่าตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในปี 2553 ประมาณ 8,000 ล้านบาท ปี 2554 คาดสูงถึง 10,000 ล้านบาท โดยกลุ่มไฮเอนด์มีประมาณ 20% เป็นกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มชาวญี่ปุ่นในไทย ซึ่งมีประมาณ 30,000-50,000 คน ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี และกลุ่มคนไทยที่ชอบวัฒนธรรมและรสชาติอาหารญี่ปุ่น เช่น อาจเคยเดินทาง ไปเรียนที่ญี่ปุ่นมาก่อน และกลุ่ม Mass 80% ซึ่งแน่นอนตลาดอาหารญี่ปุ่นที่กำลังเติบโตขณะนี้ขับเคลื่อนโดยกลุ่ม Mass
เมื่อตลาดเข้าถึง Mass แล้วแบรนด์ดังๆ ก็เร่งขยายสาขาขึ้นห้าง และตามไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ ที่บุกมานานคือ ฟูจิ โออิชิ ที่กินตลาดนี้รวมกันแล้วกว่า 90% ด้วยกลยุทธ์ปูพรมสาขา และการสร้างแบรนด์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเอ็มเคกับยาโยอิ กลุ่มเบทาโกรกับโอตาย่า ที่พยายามแทรกในตลาด ที่น่าจับตาจากกระแสแรงไม่หยุดในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมามีค่ายธุรกิจใหญ่ๆ เข้ามาเล่นมากขึ้น หรือรายเดิมเองก็ปรับตัวเปิดร้านเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะ “ราเมน” และบ่งบอกถึงที่มาเป็นจุดขายที่คนนิยมความดั้งเดิมแบบ Authentic จึงทำให้ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นคึกคักแม้จะมีกระแสรังสีนิวเคลียร์พัดมาประปราย แต่ดูเหมือนว่าตัวเลขจะทะลุหมื่นล้านในปีนี้ได้ไม่ยาก
ล็อกซเล่ยถึงยุคสร้างแบรนด์ “อาหาร”
รายใหญ่ที่โดดมาช่วงปลายปี 2553 คือกลุ่มล็อกซเล่ย์ ที่ได้ “ศรันย์ สมุทรโคจร” อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มาเป็นกรรมการบริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ด้วยเป้าหมายขับเคลื่อนธุรกิจอาหารโดยสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง เพื่อแตกไลน์และเสริมธุรกิจหลักให้ล็อกซเล่ย์ในการเป็นเทรดดิ้งเฟิร์ม แบรนด์ที่ทีมของ “ศรันย์” ต้องปั้นคือ “โดทงโบริ” ร้านอาหารเทปปันยากิ และโอโคโนมิยากิ และแบรนด์ “เท็ทสึเมน ราเม็ง” เน้นความเป็นต้นตำรับจากโตเกียว ที่ร่วมทุนกับบริษัทจากญี่ปุ่น ด้วยยุทธศาสตร์คือทำตลาดในกลุ่มระดับกลางให้ได้ก่อนที่จะขยายไปที่ทุกกลุ่มตั้งแมสจนถึงไฮเอนด์
“ตัน” คืนสนามด้วยเส้นราเมน
แน่นอนสนามนี้ต้องมี “ตัน ภาสกรนที” อดีตเจ้าของโออิชิ ผู้บุกเบิกร้านอาหารญี่ปุ่นให้เป็น Mass ในไทยก่อนที่จะขายให้กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ หลังจากเคลียร์ตัวเองออกจากไทบเบฟฯ แล้ว เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2553 “ตัน” ก็เปิด “ราเมน แชมเปี้ยน” ที่อารีน่า 10 กลางซอยทองหล่อ 10 ที่รวมร้านราเมน 6 ร้าน ที่มีสูตรและ 6 แหล่งมาจากญี่ปุ่น ปัจจุบันทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน แน่นอนว่าการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดนี้ “ตัน” ไม่เลือกเร่งขยายสาขา แต่ต้องการให้สาขาที่มีอยู่มีประสิทธิภาพ จึงเลือกแคมเปญในช่วงเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อที่สร้าง Passion ให้คนรุ่นใหม่ และเกิดการบอกต่อในโซเชี่ยลมีเดียผ่านโครงการ The 9 Challengers คือการเลือกผู้จัดการร้านคนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนาธุรกิจ โดยให้ผู้สมัครส่งคลิปผ่านเฟซบุ๊ก ที่ตันใช้เป็นสื่อจนมีแฟนมากกว่าแสนคนแล้ว
ซูกิชิขอหลบเอาดีด้วยเกาหลี
“ซูกิชิ” ที่แม้จะเริ่มธุรกิจอาหารเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด้วยอาหารญี่ปุ่นที่ใช้สายพานเสิร์ฟให้ลูกค้าได้เลือกเพลินๆ ในย่านทองหล่อ แต่เมื่อรายใหญ่กระเป๋าหนักอย่างโออิชิออกมาถล่มตลาดขยายสาขาและแบรนด์ลูกไม่อั้น “นพดล จิรวราพันธ์” รุ่นที่ 2 ของครอบครัวซูกิชิ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซูกิชิ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ก็ต้องเลือกวาง Positioning ซูกิชิให้ชัดว่าเป็นร้านสำหรับคนชอบเมนูเกาหลี แม้จะมีอาหารญี่ปุ่นแซมอยู่บ้าง
ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่ซูกิชิใช้งบตลาดถึง 80 ล้านบาท ทำทีวีซีเป็นครั้งแรกตอกย้ำความเป็นร้านอาหารเกาหลี ที่เน้นย้ำแม้กระทั่งผู้แสดงทีวีซีก็ต้องเป็นเกาหลี แม้ผู้ชมจะไม่ทราบก็ตาม แต่ “นพดล” บอกว่า “เป็นการพยายามบอกกับผู้บริโภคว่าเราคือเกาหลีมากกว่าญี่ปุ่น เพื่อดึงลูกค้าที่อยากทานอาหารเกาหลี และไม่ต้องชนกับแบรนด์ใหญ่อาหารญี่ปุ่นในตลาดโดยตรง”