การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่เเล้ว มีส่วนทำให้ประชาชนในอาเซียนเข้าสู่ภาวะ ‘ยากจนขั้นรุนแรง’ (Extreme Poverty) เพิ่มขึ้นกว่า 4.7 ล้านคน เเละสูญเสียงานถึง 9.3 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนโรคระบาด
“การระบาดใหญ่นำไปสู่การว่างงานเป็นวงกว้าง ความเหลื่อมล้ำที่เลวร้ายลง และความยากจนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิง เเรงงานที่อายุน้อยและผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” Masatsugu Asakawa ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าว
หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เนื่องจากยังคงต้องต่อสู้กับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่า ADB คาดว่าการเติบโต 5.1% ในปี 2022 จากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง แต่ก็เตือนว่าหากเกิดไวรัสกลายพันธุ์รูปแบบใหม่ ก็สามารถลดการเติบโตได้มากถึง 0.8%
ภาพรวมเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงเปราะบางเเละหลายครัวเรือน กำลังเผชิญการสูญเสียรายได้เเละต้องเเบกรับหนี้สินจำนวนมาก
โดยประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในภูมิภาคนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่ ได้แก่ เวียดนาม 6.55 ล้านคน , อินโดนีเซีย 5.91 ล้านคน และมาเลเซีย 3.87 ล้านคน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด ซึ่งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ‘แรงงานไร้ทักษะ’ ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกและเศรษฐกิจนอกระบรายย่อยตลอดจนธุรกิจที่ไม่ได้ใช้ดิจิทัล
“ผลกระทบของการระบาดใหญ่ส่งผลต่อความยากจนและการว่างงาน ทำให้การเข้าถึงโอกาสของคนยากจนยิ่งแย่ลงไปอีก” ADB ระบุ “เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำอย่างรุนเเรงจะส่งต่อไปยังรุ่นต่อรุ่น”
ภูมิภาคนี้ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรม ‘การท่องเที่ยว’ อย่างมากในการเติบโต อย่างเช่น ประเทศไทย โดยคาดว่าจะค่อยๆ เห็นการฟื้นตัวขึ้น เมื่อมีการเปิดพรมแดนเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นโอกาสของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรวมจะเพิ่มขึ้น 58% ในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2021 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2020 แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับปี 2019 ถึง 64%
“ในปัจจุบัน สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงการขนส่ง ที่พัก นันทนาการและบริการส่วนบุคคลอื่นๆ ยังคงอ่อนแอ เพราะการเดินทางยังคงถูกจำกัดและมีการบังคับเว้นระยะห่างทางสังคม”
โดย ADB เรียกร้องให้รัฐบาลในอาเซียนจัดสรรเงินลงทุนเพิ่มเติมในระบบการดูแลสุขภาพ เพื่อปรับปรุงการเฝ้าระวังโรค และตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ในอนาคต การเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน อาจเพิ่มขึ้นอีก 1.5% หากการใช้จ่ายด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้มีมูลค่าเเตะ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จากปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 3%
- กลุ่มประเทศร่ำรวย แห่ดึงตัว ‘พยาบาล’ จากประเทศยากจนในวิกฤตโควิด ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ
- COVID-19 เร่ง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ให้ร้าวลึก เศรษฐีรวยเเล้วรวยอีก คนจนยิ่งจนลง