กลุ่มประเทศร่ำรวย แห่ดึงตัว ‘พยาบาล’ จากประเทศยากจนในวิกฤตโควิด ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ

Photo : Shutterstock
กลุ่มประเทศร่ำรวย มีความพยายามจะจ้างงาน ‘พยาบาล’ จากกลุ่มประเทศยากจนมากขึ้น ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เเพร่กระจายไปทั่วโลก สะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำเเละการขาดเเคลนบุคลากรทางการเเพทย์ที่รุนเเรงมากขึ้น 

Reuters รายงานจากคำกล่าวของ Howard Catton ซีอีโอของสภาพยาบาลนานาชาติ (ICN) ที่มีเครือข่ายกว่า 27 ล้านคนว่า

ความเสี่ยง ความเหน็ดเหนื่อยเเละการเจ็บป่วยจากการทำงานที่หนักเกินปกติ ส่งผลให้เกิดการลาออกของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ท่ามกลางยอดผู้ป่วยจากสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหาการขาดเเคลนบุคลากรทางการเเพทย์อยู่ในระดับสูง

เหล่าประเทศตะวันตก อย่าง สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา และสหรัฐฯ กำลังพยายามเเก้ไขปัญหานี้ ผ่านการเพิ่มการจ้างงานพยาบาลจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เเนวโน้มของความไม่เท่าเทียมกันทางด้านสุขภาพเเละสาธารณสุขแย่ลงไปอีก

“ผมเกรงว่าวิธีแก้ปัญหาเช่นนี้ จะคล้ายกับกรณีที่กลุ่มประเทศร่ำรวยได้อาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจ เพื่อซื้อและกักตุนอุปกรณ์ป้องกันโรคอย่างชุด PPE เเละวัคซีน”

จากข้อมูลของ ICN ระบุว่า ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ก็มีปัญหาการขาดแคลนพยาบาลทั่วโลกอยู่เเล้วถึง 6 ล้านคน โดยเกือบ 90% ของการขาดแคลนมักจะอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง

การจ้างงานพยาบาลจากต่างประเทศ บางส่วนมาจากภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Saharan Africa) รวมถึงไนจีเรีย และบางส่วนของแคริบเบียน

โดยเหล่าพยาบาลจะได้รับแรงจูงใจด้วยข้อเสนอเงินเดือนที่สูงขึ้น สวัสดิการเเละเงื่อนไขที่ดีกว่าประเทศบ้านเกิด รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐาน

“หลายคนอาจจะมองว่านี่เป็นการที่ประเทศร่ำรวย หาทางลดค่าใช้จ่ายในการให้การศึกษาแก่พยาบาลใหม่และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข”

Howard Catton เรียกร้องให้มีการวางเเผนเพื่อเสริมกำลังเเรงงานอย่างจริงจังในระยะ 10 ปี เเละขอให้มีความร่วมมือกันในระดับโลก เพื่อให้มีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเเละได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูเท่านั้น

 

ที่มา : Reuters