Bitkub ยูนิคอร์น สายพันธุ์อันตราย?! (ตอนที่ 3)

ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ชำแหละ Bitkub ยูนิคอร์นสายพันธ์อันตราย??” ความยาวทั้งหมด 5 ตอน อัปเดตทุกวันจันทร์ ตอนที่ 3 โดย iBit

เบื้องหลังเติบโต 1,000% กว่า 3 ปีติดของบิทคับ คู่แข่งปิดกิจการแบบน่าฉงน แรงโปรโมตหนัก กวาดบัญชีมือใหม่ไม่เลือกเป้าหมาย ประวัติถูก ก.ล.ต. ลงโทษระบบ “หลังบ้าน” ไม่รัดกุม ไร้ประสิทธิภาพ รับลูกค้าเกินตัว ขณะที่ KYC มีปัญหา “บัญชีม้า-นอมินี” โผล่มาเพียบ? สร้างราคาเหรียญได้ง่าย ปล่อยคนนอกเข้าบริหาร สุ่มตรวจยังเจอ Market Maker ไม่มีที่ไปที่มาพฤติกรรมน่าสงสัย

กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ตัดสินใจที่จะซื้อหุ้น “บิทคับ ออนไลน์” เจ้าของแพลตฟอร์มศูนย์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี Exchange จำนวน 51% คิดเป็นมูลค่า 1.78 หมื่นล้านบาท จากกลุ่มบิทคับ ซึ่งกำลังมองกันว่า งานนี้ SCBX จะได้คุ้มกับที่เสียหรือไม่? ขณะที่กลุ่ม Bitkub นอกจากนอนรอรับเงินไหลเข้ากระเป๋ามูลค่ามหาศาลจาก SCBX ยังมี “อภินิหาร KUB” เหรียญสัญชาติไทยที่ทำกำไรให้เจ้ามือกว่า 1,800% ในระยะเวลาไม่กี่เดือนเป็นของแถม (ตามที่นำเสนอไปในตอนที่ 1 และ 2)

หลังจากถูกแจ็กพอตรางวัลใหญ่ด้วยดีล 1.78 หมื่นล้านจากไทยพาณิชย์ ซึ่งทำให้กลุ่มบิทคับที่เริ่มต้นด้วยทุนหลักร้อยล้าน ประกาศต่อวงการอย่างภาคภูมิใจได้ว่า ตัวเองพัฒนาจากบริษัทสตาร์ทอัปธรรมดาไปสู่ “Unicorn (ยูนิคอร์น)” หรือ ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 33,000 ล้านบาท ในเวลาไม่กี่ปี

ทว่า เบื้องหลังธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงมีประเด็นที่ต้องถาม แท้ที่จริงนั้นบิทคับเติบโตมาอย่างดีจริงหรือ?

บริษัท บิทคับ ออนไลน์ เป็นหนึ่งบริษัทในเครือบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือกลุ่มบิทคับ กลุ่มที่ทำธุรกิจบล็อกเชน และคริปโตเคอร์เรนซี ก่อตั้งเมื่อปี 2018 โดยนอกจากบิทคับ ออนไลน์ กลุ่มบิทคับยังมีบริษัทในเครืออีก 3 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทถูกวางไว้เป็นบริษัทสร้างโครงสร้าง หรืออินฟราสตรักเจอร์เชื่อมต่อกับโลกดิจิทัล และการเข้าถึงเงินดิจิทัลในโลกออนไลน์ ได้แก่

บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จํากัด จะเป็นผู้ให้บริการด้าน Blockchain Full Solution Service และเป็นที่ปรึกษาด้าน ICO (Initial Coin Offering) แก่องค์กรหรือผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับธุรกิจด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน

บริษัท บิทคับ แล็บส์ จํากัด ผู้ให้บริการด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน สินทรัพย์ดิจิทัล และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และบริษัท บิทคับ เวนเจอร์ส จํากัด เป็นบริษัทที่ลงทุนในโปรโตคอลต่างๆ ลงทุนในสตาร์ทอัปต่าง ๆ ที่เสริมส่งไปด้วยกันได้กับกลุ่มบิทคับ

แม้กลุ่มบิทคับจะขายบิทคับออนไลน์ศูนย์ซื้อขายคริปโตฯ ให้ SCBX แบบยอมถูกเทกโอเวอร์ยกอำนาจบริหารจัดการไปให้ แต่การมีอีก 3 บริษัทในเครือยังถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่ม โดยเฉพาะบิทคับ บล็อกเชน ซึ่งถูกวางให้เป็นตัวหลักในการโกยรายได้กับองค์กรธุรกิจและบุคคลที่ต้องการเข้าถึงเงินดิจิทัล โดยขณะนี้ได้รุกทำการตลาดอย่างหนักกับคนที่มีชื่อเสียง เซเลบ นักธุรกิจ วงการต่างๆ เช่น วงการอุตสาหกรรมบันเทิง วงการโฆษณา อินฟลูเอนเซอร์ (โปรดติดตามอ่านได้ในตอนที่ 4)

bitkub

3 ปีเศษนับแต่ก่อตั้งธุรกิจศูนย์ซื้อขายคริปโตฯ บิทคับออนไลน์ เป็นตัวหลักที่ทำรายได้ให้กลุ่มบิทคับเป็นกอบเป็นกำ แต่ละปีมีอัตราการเติบโตสูงจนน่าตกใจ

ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ กล่าวหลายครั้งในหลายสื่อว่าผลประกอบการของบิทคับเติบโตกว่า 1,000% ติดต่อมา 3 ปีต่อเนื่อง ดีกว่าธุรกิจอื่นๆ ที่แค่เติบโต 10% ก็ถือว่าดีมากแล้ว

ถามว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้บิทคับมีอัตราการเติบโตสูงมากขนาดนั้น จิรายุส บอกว่า มีหลายปัจจัย แต่ “จังหวะเวลา” หรือไทมิ่งดี เป็นปัจจัยหลัก กล่าวคือ บิทคับอัปเกรดมากับกระแสขาขึ้นของ “บิตคอยน์” โดยประโคมว่า เป็นกลุ่มแรกๆ ทำสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ แต่เป็นเทรนด์ของโลก

เรียกว่า บิทคับ ได้บิตคอยน์มาเป็นตัวเรียกแขกสำหรับตลาดซื้อขายคริปโตฯ ของตนเองก็ไม่ผิดนัก แต่การเติบโตพรวดพราดราวกับขีปนาวุธพุ่งสู่ท้องฟ้าของบิทคับไม่ได้มีแค่เรื่องของกระแสที่เป็นโชคช่วย

เบื้องหลังเติบโตปีละ 1,000%

ปัจจัยแรก สิ่งที่ทำให้บิทคับเติบโตกว่า 1,000% หลังจากที่ก่อตั้งในปี 2561 ว่ากันว่า ก่อนตลาดบิทคับจะฮิตติดลมบนของนักเล่นคริปโตฯ เคยมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาบุกเบิกธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย และเป็นรายแรกๆ ที่ได้ไลเซนส์จากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชื่อว่าบริษัท บิทคอยน์ จำกัด หรือ BX

ด้วยมาตรฐานของต่างชาติที่เข้าใจในเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัล BX จึงค่อยๆ ได้รับความน่าเชื่อถือจากคนไทยที่เริ่มเข้าใจเข้ามาเปิดบัญชีเป็นลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ

การดำเนินงานของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปด้วยดี เพราะกระแสของบิตคอยน์ในตลาดการเงินดิจิทัลโลกขณะนั้นกำลังเป็นที่นิยม เป็น “ขาขึ้น” ที่ใครๆ ก็พูดถึงและระยะยาวก็คาดกันว่า BX จะเป็น Exchange ลำดับต้นๆ ของไทยได้ไม่ยาก แต่จู่ๆ หลังจากบิทคับเปิดดำเนินการได้ไม่นานนัก ผู้ถือหุ้นของบริษัทนี้กลับตัดสินใจทิ้งกิจการ เอาไลเซนส์ที่ขอมาอย่างยากเย็นคืนกลับให้ ก.ล.ต. ท่ามกลางความงุนงงของวงการคริปโตฯ ไทย พร้อมกันกับข่าวลือที่แพร่สะพัดในวงการว่ามีกลุ่มบุคคลไปกดดันนักลงทุนชาวต่างชาติรายนี้ให้เปิดทางให้กิจการของคนไทยได้แจ้งเกิดแทนที่ จนในที่สุดต้องคืนไลเซนส์ให้ ก.ล.ต.ไป

จริงเท็จเพียงใดก็เป็นเรื่องที่เล่าขานกันในวงการมาถึงทุกวันนี้ แต่การปิดตลาดทั้งที่กำลังรุ่งของศูนย์การซื้อขายคริปโตฯ โดยบริษัทต่างชาติ ใครที่ได้ประโยชน์? พิสูจน์ได้ในเวลาต่อมา

การปิดตัวของ BX ถูกบันทึกไว้ในเอกสารเผยแพร่ข่าวของ ก.ล.ต. ฉบับที่ 105/2562 ระบุว่า ตามที่บริษัท บิทคอยน์ จำกัด ประกาศ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 เวลา 6.06 น. ว่า บริษัท บิทคอยน์ จำกัด ได้ตัดสินใจยุติบทบาทการประกอบธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการให้บริการด้านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Asset Wallet) เนื่องจากบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาธุรกิจในทางอื่นๆ แทนการประกอบธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้นภายหลังจากวันที่ 30 กันยายน 2562 ลูกค้าจะไม่สามารถทำการซื้อขาย แลกเปลี่ยน (เทรดดิ้ง) ผ่านเว็บไซต์ BX.in.th ได้อีกต่อไป

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท บิทคับ แคปปิตอลกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ตอนนั้นว่า จากกรณีบริษัท บิทคอยน์ จำกัด ประกาศยุติการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มีผู้ลงทุนโอนย้ายเข้ามาใช้บริการเปิดบัญชีกับ Bitkub เฉลี่ยวันละ 25,000 บัญชี ส่งผลให้ Bitkub ก้าวขึ้นมาเป็นตลาดเทรดคริปโตฯ ในไทยอันดับ 1

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าภายในสิ้นปีเดียวกันนั้นจะมีจำนวนผู้ลงทุนมาเปิดบัญชีกับ Bitkub ไม่ต่ำกว่า 200,000 บัญชี เติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวจากปัจจุบันที่มีประมาณ 100,000 บัญชี และนับว่าเติบโตเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะไปถึง 200,000 บัญชีในช่วงสิ้นปี 2563

“แนวโน้มธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีโอกาสเติบโตได้อีกในอนาคตตามรายได้ค่าธรรมเนียมเข้ามาเพิ่มขึ้น และในกรณีที่ผู้ลงทุนหันไปใช้บริการกระดานเทรดคริปโตฯ ของต่างประเทศ มองว่าเป็นสิ่งที่อันตรายมากกว่า เพราะจะไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้ผู้ลงทุนทราบว่าจะปิดตัวอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ ซึ่งมีความแตกต่างจากของไทย” จิรายุส กล่าว

รุกการตลาดแบบกวาดลูกค้าดะ

การหายไปของ BX เหมือนคู่แข่งสำคัญถูกตัดออกไปจากเกมการแข่งขัน เปิดโอกาสให้บิทคับรุกทำการตลาดอย่างหนัก โดยบิทคับมีเป้าหมายกวาดลูกค้าคนรุ่นใหม่และนักเสี่ยงโชคมือใหม่ให้เข้ามาเปิดบัญชีมากที่สุด เพื่อหวังวอลุ่มเทรดในตลาด และกำไรจากค่าฟีสูงสุด ดังจะเห็นได้จากการทำการตลาดแบบปูพรม ลด แลก แจก แถม เรียกว่า ขอ “กวาดดะ” ไม่เลือกกลุ่มเป้าหมาย อาศัยยุคเฟื่องฟูของบิตคอยน์ ปรับเกณฑ์เงื่อนไขการเปิดบัญชีให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่แค่มีเงินไม่มากก็ลงทุนได้ โดยแคมเปญโฆษณาที่ว่า “10 บาทก็ลงทุนได้” นั่นทำให้มีลูกค้าแห่แหนมาเปิดบัญชีที่บิทคับมากขึ้นเรื่อยๆ

bitkub

บิทคับ ลงทุนกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ โดยเฉพาะสื่อนอกบ้านอย่างป้ายบิลบอร์ดตามทางด่วน หรือทุกจุดที่คนมองเห็น ไพรม์แอเรีย ที่ใครๆ ก็มองเห็น โดยป้ายมีพรีเซ็นเตอร์เป็นหนุ่มในภาพลักษณ์ “โอปป้า” ซึ่งก็คือตัวเอง ท๊อป จิรายุส เองกับเหรียญคริปโตฯ และสโลแกน “คิดถึงบิตคอยน์ คิดถึงบิทคับ” หรือ “บิทคับ เชื่อมต่อธุรกิจสู่โลกอนาคต” เรียกว่าป้ายท็อป และบิทคับ ตามหลอกหลอนผู้คนไปทั่วบ้านทั่วเมือง

มีการประเมินกันในวงการเอเยนซี ค่าเช่าป้ายโฆษณาของบิทคับ ป้ายในบางจุดที่เป็นไพรม์แอเรีย หรือจุดสำคัญ ต้องจ่ายป้ายละ 7-8 แสนต่อเดือนต่อป้าย รวมที่เช่าไปทั่วกรุงและต่างจังหวัดหลายแห่งเข้ามาแล้วเม็ดเงินส่วนนี้ต้องไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ถือว่าต่ำกว่าช่วงปกติที่ไม่ใช่ช่วงโควิดแบบนี้ ซึ่งขณะที่รวมสื่ออื่นๆ และกิจกรรมประชาสัมพันธ์ บิทคับน่าจะใช้จ่ายเงินส่วนนี้ปีละราวๆ 1,000 ล้าน

โฆษณาที่ตั้งใจกวาดดะนี้ถือเป็นหนึ่งปัจจัยทำให้ บิทคับ ได้ลูกค้าเป็นนักเรียน นักศึกษา มนุษย์เงินเดือน นักเทรดมือใหม่ นักเสี่ยงโชคที่ไร้ประสบการณ์ต่างหลั่งไหลเข้ามาสู่ตลาดคริปโตฯ บิทคับ ทั้งๆ ที่เป็นคนกลุ่มเสี่ยงสูง มีภูมิคุ้มกันความรู้เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลไม่มาก

แรกๆ ตลาดของบิทคับมีเหรียญให้เทรดน้อย ขณะสภาพคล่องไม่ค่อยมี อุปมาเหมือนตลาดสดที่มีพ่อค้าแม่ค้าน้อยแผง คนเดินตลาดน้อย เจ้าของตลาดจึงว่าจ้าง Market maker ถึง 17 รายมาช่วยสร้างสภาพคล่องให้ดูเหมือนตลาดคึกคัก และยิ่งปล่อยเหรียญ KUB ของบิทคับเองออกมาเทรดในตลาดตัวเอง บวกกับเหรียญสัญชาติไทยที่เข้ามาสร้าง “อภินิหาร” ร่วมกันในอย่าง SIX JFIN เรื่องราคาที่พุ่งไม่หยุดขึ้นเป็น “มายาภาพ” ที่ดึงดูดแมลงเม่าบินเข้ากองไฟอีกนับล้านๆ บัญชี นี่เป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่กลุ่มบิทคับไม่ได้กล่าวถึง ระบบไม่รัดกุม-ทำธุรกิจไม่มีประสิทธิภาพ

bitkub

การเติบโตอย่างน่าตกใจของบิทคับนำมาซึ่งปัญหาภายในของบริษัทที่ไม่พร้อม เนื่องเพราะธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะศูนย์ซื้อขาย หรือตลาดคริปโตฯ ไม่ต่างกับตลาดหุ้นที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมตลาดเงินตลาดทุนและนักลงทุนให้ได้รับความยุติธรรมและตรวจสอบได้ ความสำคัญจึงอยู่ที่ระบบ “หลังบ้าน” และ “การปฏิบัติการ” ที่มีมาตรฐาน ได้รับความน่าเชื่อ

แต่การเปิดรับลูกค้าโดยมองเป้าหมายการเติบโต และรายได้ของตลาดเป็นหลัก ทำให้ บิทคับ กระทำการผิดพลาดในต่างกรรมต่างวาระ

ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2565 พบว่า บิทคับ มีประวัติการถูกลงโทษจาก ก.ล.ต. หลายครั้ง ดังนี้

  • ในช่วงเดือนมกราคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (“บิทคับ”) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รายงานเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสารสนเทศที่มีความสำคัญ ประเภทระบบหยุดชะงัก (system disruption) ต่อสำนักงานล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด เป็นจำนวน 6 ครั้ง
  • ระหว่างวันที่ 8 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (“บิทคับ”) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มีระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (compliance) “ไม่รัดกุมเพียงพอ” ที่จะทำให้บริษัท บิทคับ สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ไม่กำกับดูแลให้ฝ่ายผลิตภัณฑ์ติดตามคุณสมบัติของเหรียญดิจิทัลสกุล CTXC จึงไม่ได้ update version ของเหรียญ ทำให้เหรียญดังกล่าวที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบิทคับไม่สามารถซื้อขายได้ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น และมีการปรับตัวของราคาผิดปกติอย่างมาก
  • ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (“บิทคับ”) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มีระบบงานที่เกี่ยวกับการรับและจัดการข้อร้องเรียน และการจัดให้มีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า รวมทั้งจำนวนและความรู้ความสามารถของบุคลากรไม่เหมาะสมและเพียงพอให้บิทคับประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (“บิทคับ”) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rules) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยหยุดซื้อขายเหรียญดิจิทัลสกุล JFIN Coin (JFIN) และ Infinitus (INF) ชั่วคราว

bitkub

  • ระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (“บิทคับ”) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มีระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ระบบรับฝากและถอนทรัพย์สิน และระบบการแสดงยอดทรัพย์สินของลูกค้าไม่เหมาะสมและเพียงพอให้บิทคับประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
  • ระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (“บิทคับ”) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มีระบบงานที่รองรับการรวบรวมและประเมินข้อมูลลูกค้าไม่เหมาะสมและเพียงพอให้บริษัท บิทคับ ประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องที่ผิดพลาดหนัก และถูกปรับเป็นเงินจำนวนกว่า 1.2 ล้าน เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 8 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ซึ่ง ก.ล.ต. ระบุ ว่า “บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (“บิทคับ”) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มีระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (surveillance) ไม่รัดกุมเพียงพอที่จะทำให้บิทคับทราบธุรกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็น “การผลักดันราคา” จากการแจ้งเตือนของระบบในทันที”
  • ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (“บิทคับ”) ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าในระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (cold wallet) น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้ เป็นเวลา 33 วัน
  • ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 24 มกราคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงาน นี่คือบันทึกประวัติการถูกลงโทษบิทคับที่ทำผิดพลาดของ ก.ล.ต. สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของบิทคับนั้นไม่ได้มาพร้อมกับการทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มองได้ว่า การสร้างราคาเหรียญ หรืออภิหารของ 3 เหรียญสัญชาติไทยอาศัยรูโหว่ของระบบของบิทคับ หรือไม่ ซึ่งหากถามว่า บิทคับ รู้เห็นเป็นใจปล่อยเพราะได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นที่สงสัยกัน มิหนำซ้ำ การปล่อยให้ “คนนอก” เข้ามามีส่วนบริหารจัดการถือเป็นเรื่องที่คนวงการการเงินที่มีธรรมาภิบาลมองว่า เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

บัญชีม้า-นอมินี -มาร์เก็ตเมกเกอร์ต้องสงสัยโผล่

นอกจากประวัติการถูกลงโทษ ที่อธิบายนัยของการทำธุรกิจของบิทคับ การเข้าตรวจสอบการดำเนินงานตามปกติ (routine inspection) และการสุ่มตรวจของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ของ ก.ล.ต. ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ

ยกตัวอย่าง บิทคับ เคยมีปัญหาปรากฏเหตุระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทขัดข้องในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมกราคม 2564 อันส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายต่อลูกค้าของบริษัทเป็นวงกว้าง

คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2564 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 (“พ.ร.ก.สินทรัพย์ ดิจิทัลฯ”) สั่งการให้บริษัทระงับการเปิดรับลูกค้าใหม่ รวมถึงลูกค้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินการยืนยันหรือเพื่อพิสูจน์ตัวตนเพื่อเปิดบัญชี จนกว่าจะแสดงให้มั่นใจได้ว่า บริษัทได้ปรับปรุงและมีระบบงานต่างๆ และบุคลากรที่มีความเหมาะสมและเพียงพอตามลักษณะ ขนาด และปริมาณธุรกิจเพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการตรวจสอบครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-26 มีนาคม 2564 โดยมีขอบเขตข้อมูลที่ใช้ในการสุ่มตรวจระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รวมทั้งติดตามและตรวจสอบการปรับปรุง แก้ไขระบบงานต่างๆ ได้แก่ (1) ระบบการซื้อขาย (2) ระบบที่ให้ลูกค้าสามารถถอนทรัพย์สินได้ทันที หากเกิดเหตุระบบซื้อขายขัดข้อง (3) BCP (4) ระบบการรับลูกค้า การยืนยันและพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า (5) ระบบรับเรื่องร้องเรียน และ (6) ระบบที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (Market Surveillance) และบุคลากรของบริษัทตามการสั่งการของคณะกรรมการ ก.ล.ต.

จากการตรวจสอบพบปัญหาว่า การเปิดบัญชีของบิทคับทำได้ล่าช้า โดยบริษัทระบุสาเหตุว่า เกิดจากมีผู้สนใจเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากเดิมเฉลี่ยวันละ 1,000 บัญชีเป็นวันละ 15,000 บัญชี ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการที่ตรวจสอบข้อมูลลูกค้าก่อนการอนุมัติเพียง 30 คน จึงไม่เพียงพอต่อปริมาณคำขอเปิดบัญชี รวมทั้งเกิดความล่าช้า ซึ่งจากเดิมที่บริษัทกำหนดเวลาดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง เป็น 3-5 วัน ส่งผลให้ลูกค้ารอนานกว่า 2 สัปดาห์โดย ณ วันที่ 16 มกราคม 2564 บริษัทมียอดคำขอเปิดบัญชีคงค้าง 11,000 ราย ทั้งนี้ บริษัทได้จัดจ้างพนักงาน Outsource 130 อัตรา เพื่อตรวจสอบข้อมูลคำขอเปิดบัญชี

bitkub

ทว่า การจ้าง Outsource จำนวนมากกลับทำให้บิทคับมีปัญหามากกว่าเดิม คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุม ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 มีข้อสังเกต คือ บริษัทเร่งจัดการแก้ไขปัญหาโดยการรับพนักงาน Outsource เป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทอาจมีความเสี่ยงในการเร่งคุณภาพการทำ KYC หรือการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าที่อาจไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริง และผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

เพราะฉะนั้นเอง ก.ล.ต.จึงเข้าไปตรวจสอบการปฏิบัติงานเพิ่มเติม พบว่า บริษัทจัดทำ KYC ได้เฉลี่ยวันละ 15,000 บัญชี จึงมีข้อสังเกตว่า บริษัทได้ดำเนินการตามระบบการอนุมัติการเปิดบัญชีที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือไม่ โดยเฉพาะการอนุมัติการเปิดบัญชี กรณีลูกค้าที่จัดอยู่ในกลุ่มประเภทที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณารับลูกค้าของบริษัทก่อน

ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ และหากที่ก่อนนี้ ผู้ก่อตั้งบิทคับ ระบุว่า บริษัทมีลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าจำนวนมากหลัง BX ปิดตัวไปหลายแสนบัญชีที่เข้ามาในช่วงระหว่างนั้น ผ่านระบบ KYC เข้ามาได้อย่างไร? และใครเลยจะรู้ได้ว่า บัญชีกว่า 3 ล้านบัญชีที่บิทคับกวาดมาจะมีบัญชีตัวแทน หรือ “นอมินี” หรือบัญชีม้า อยู่มากน้อยแค่ไหนหลุดลอดมา

ก.ล.ต.ยังระบุว่า การที่บริษัทมีลูกค้าเปิดบัญชีคงค้างเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเปิดบัญชีให้ลูกค้าได้ทันภายใน 24 ชั่วโมงตามที่ได้เปิดเผยแก่ผู้ลงทุน ซึ่งแม้บริษัทจะประกาศในเว็บไซต์ว่าจะชดเชยให้ลูกค้าโดยการเครดิตเงินเข้าบัญชีให้ 500 บาท แต่ในหลักการบริษัทควรรับลูกค้าเฉพาะเท่าที่สามารถให้บริการได้ตามที่เปิดเผยไว้ ไม่ใช่รับลูกค้าเกินกำลังและชดใช้ความเสียหายในภายหลัง

แม้ว่าบริษัทจะรายงานว่าได้ปรับปรุงไปตามที่ ก.ล.ต.สั่งการ แต่ภายหลังการสุ่มตรวจของ ก.ล.ต. ระบุว่า ระบบเปิดบัญชี และการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า และผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้าบิทคับ (“enhanced KYC/CDD”) ของกลุ่มลูกค้าที่เป็น “market maker” จำนวน 17 ราย พบว่า มีจำนวน 4 รายที่ไม่รัดกุม โดยบริษัทยังไม่ได้ enhanced KYC/CDD ซึ่งลูกค้า 4 รายดังกล่าวมียอดทรัพย์สินเป็นเงินสดและเหรียญเป็นจำนวนมากไม่สอดคล้องกับเอกสารหลักฐานที่แสดงศักยภาพทางการเงินของลูกค้าที่นำมา

ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจาก การพิสูจน์ตัวตนไม่ได้ว่าลูกค้าเป็นใคร หรือมีบัญชีม้า หรือนอมินีจำนวนมากในตลาด ย่อมทำให้เปิดช่องในการฟอกเงิน เลี่ยงภาษี ทำราคาซื้อขาย หรือปั่นเหรียญ ทำรายการที่ไม่เหมาะสม หรือธุรกรรมที่กระทำการผิดกฎหมาย

ซื้อขายไม่เป็นธรรม ปั่นราคา อินไซต์ ทำได้ง่าย?

แน่นอนว่า การเติบโตของวอลุ่มเทรด และค่าฟี เป็นรายได้หลักของตลาดหุ้น แต่ตลาดก็ต้องลงทุนระบบหลังบ้าน และเข้มงวดต่อการบริหารจัดการ จึงจะถือว่ามีมาตรการให้การซื้อขายมีความเป็นธรรม ปั่นราคาไม่ได้ หรือ ไม่มีการนำข้อมูลภายใน หรืออินไซต์มาใช้เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ในตลาดคริปโตฯ ก็ไม่แตกต่างกัน จึงมีคำถามว่าจะมีประโยชน์อะไรต่อวงการการเงินหากไส้ในของระบบ “หลังบ้าน” ในการตรวจสอบบัญชีที่ว่ามีมากถึง 3 ล้านของบิทคับ ไม่เป็นไปตามที่เปิดเผยต่อผู้ลงทุน หรือในไวท์เปเปอร์

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ขอให้บริษัทปฏิบัติตามแนวทางที่บริษัทนำเสนอมาให้ ก.ล.ต. และขอให้เสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ระบบงานและการกำกับระบบซื้อขายการตรวจสอบการสร้างราคา การกระทำที่ไม่เป็นธรรมในการซื้อขายเหรียญเป็นไปตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การใช้ข้อมูลภายในเป็นต้น

ต่อมา บิทคับได้กำหนดกระบวนการเพื่อให้เป็นไปตามที่ ก.ล.ต.สั่ง แต่การตรวจสอบ สภาพการซื้อขายที่ผิดปกติไม่ได้กำหนดขั้นตอนและกรอบระยะเวลาในการดำเนิน

อีกทั้งในกรณีที่เกิดสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติแล้ว บริษัทไม่ได้กำหนดขั้นตอน กรอบระยะเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการ รวมถึงการกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการเก็บรวบรวมหลักฐาน การตรวจสอบ และการรายงานต่อสำนักงาน ก.ล.ต.

บริษัทอ้างว่า ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วโดยอยู่ระหว่างพิจารณานำระบบการตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน (ระบบของ Nasdaq) มาใช้งานด้าน Market Surveillance โดยอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้ในไตรมาส 1 ปี 2565

นั่นหมายความ ว่า การสร้างราคา ปั่นและทุบเหรียญ 3 เหรียญสัญชาติไทย Kubcoin ของบิทคับเอง JFin และ SIX ที่ร่ำลือกันนั้น ก็แทบไม่ต้องหาคำตอบกันละว่า ทำไมจึงเกิดอภินิหารกับปรากฏการณ์ราคาทะลุแก๊สได้ถึง 1,800% และถูกเจ้ามือเทขายทำกำไรอู้ฟู่ ปล่อยให้นักเทรดมือใหม่ไร้ประสบการณ์สิ้นเนื้อประดาตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แบบที่ระบบปล่อยผ่าน ใช่หรือไม่?

ทั้งหมดนี้เป็นการเติบโตของบิทคับที่ผู้ก่อตั้งอย่าง ท๊อป จิรายุส ภาคภูมิใจ?

…และ บิทคับ ควรเป็นยูนิคอร์นที่จะวิ่งตะบึงเชื่อมธุรกิจสู่โลกอนาคต หรือเป็นยูนิคอร์นสายพันธุ์อันตราย?? วิญญูชนย่อมสามารถวิเคราะห์หาคำตอบกันเองได้ วิทาลิก บูเทริน ผู้ก่อตั้ง Ethereum กล่าวในบทวิเคราะห์ของนิตยสารไทม์ล่าสุดว่า เขากังวลกับอันตรายต่อนักลงทุนที่กระตือรือร้นอยากรวยถ่ายเดียว ขณะที่นักลงทุนเจ้าของธุรกิจพยายามโน้มน้าวให้เห็นแต่ด้านความมั่งคั่งแบบที่ไร้ยางอาย เอาแต่ครอบงำการรับรู้ของสาธารณชน หรืออาศัยความไม่รู้คริปโตฯ ของคนมาปั่นความร่ำรวยสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง ซึ่งนั่น ทำให้ตลาดคริปโตฯ กลายเป็นบ่อนพนันดีๆ นี่เอง

แน่นอนว่า คริปโตฯ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลย่อมมีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างโทษมหันต์หากนำไปใช้ในทางที่ผิดก็จะกลายเป็นเพียงเครื่องมือในการเก็งกำไรทางการเงิน การเลี่ยงภาษี การฟอกเงิน และการหลอกลวงที่เหลือเชื่อ ซึ่งพฤติกรรมนี้น่ากลัว และอันตราย บ่อนทำลายวงการสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างยิ่ง

อ่านต่อ

Source