‘TikTok’ ซุ่มปั้น ‘TikTok Shop’ ดึงแบรนด์เปิดร้านบนแพลตฟอร์มโกย ‘เงินโฆษณา’

ในปีที่ผ่านมา TikTok มีการเติบโตทั่วโลกมากกว่าปีก่อนถึง 85% มีวิดีโอถูกสร้างขึ้นกว่า 800 ล้านวิดีโอ และมียอดรับชมวิดีโอรวมกว่า 1 ล้านล้านครั้ง จากที่ปี 2020 TikTok เองก็ขึ้นแท่นเป็นแอปโซเชียลมีเดียที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในโลก แซงหน้า Facebook และอีกหนึ่งการขยับตัวที่น่าสนใจในปีนี้คือ TikTok กำลังย่างกรายเข้าสู่ตลาด อีคอมเมิร์ซ

ขยับสู่อีคอมเมิร์ซด้วย TikTok Shop

หากพิจารณาถึงการเติบโตของอีคอมเมิร์ซทั่วโลก คงไม่น่าแปลกใจที่แพลตฟอร์มอย่าง TikTok จะเข้ามาจับตลาดนี้ เพราะจะเห็นว่าขนาด Facebook, Instagram ก็ยังมีฟีเจอร์ Marketplace เป็นพื้นที่ให้ผู้ใช้ขายของบนแพลตฟอร์ม สำหรับ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok เองก็มีโมเดลอีคอมเมิร์ซ แต่เปิดใช้แค่ในประเทศเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฟีเจอร์ TikTok Shop ที่ให้ผู้บริโภคสามารถซื้อของใน TikTok แบบครบวงจรไม่ว่าจะผ่านการสตรีมแบบสดหรือวิดีโอสั้นก็กำลังจะเริ่มใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มจากประเทศอินโดนีเซีย, เวียดนาม และไทย

ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่ TikTok จะขยายฟีเจอร์ TikTok Shop ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจากการคาดการณ์ของ Google เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2030 เลยทีเดียว และสำหรับประเทศไทยเองอีคอมเมิร์ซก็เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยปี 2022 นี้คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 30%

สิรินิธิ์ วิรยศิริ Head of Business Marketing – Thailand, TikTok ยอมรับว่า ฟีเจอร์ TikTok Shop ได้มีการเปิดทดลองใช้แล้ว แต่ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการเนื่องจากรอให้จำนวนร้านค้าถึงเป้าหมายที่วางไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม การช้อปออนไลน์ถือเป็นเทรนด์ที่มาแรงในไทย โดยพบว่าผู้ใช้ไทยประมาณ 69% ชอบช้อปปิ้งออนไลน์ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการจับจ่ายเมื่อใดก็ได้ และ 79% ชอบช้อปออนไลน์เพราะสามารถเข้าถึงแบรนด์และสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น เมื่อเทียบกับการช้อปปิ้งในร้าน

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ใช้ TikTok มีส่วนร่วมกับโฆษณาในแพลตฟอร์มมากขึ้น 1.7 เท่า เนื่องจาก 86% มองว่าโฆษณา TikTok ให้ความบันเทิง โดยในทุก ๆ 1 นาที จะมีส่วนร่วมไม่ว่าจะ like, share หรือ comment ถึง 10 ครั้งนอกจากนี้ ผู้ใช้ 67% เห็นด้วยว่า TikTok ช่วยให้พวกเขาค้นพบและรับแนวคิดเกี่ยวกับแบรนด์ที่พวกเขาไม่เคยนึกถึงมาก่อน

“แม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่เชื่อว่าแบรนด์จะยังใช้งบกับสื่อออนไลน์ โดยคาดว่าปีนี้เม็ดเงินจากโฆษณาออนไลน์จะอยู่ที่ 27,000 ล้านบาทสิรินิธิ์ กล่าว

ชื่อผู้บริหารและตำแหน่งเรียงจากซ้าย -สิรินิธิ์ วิรยศิริ Head of Business Marketing – Thailand, TikTok -สุรยศ เอี่ยมละออ Head of Consumer Marketing – Thailand, TikTok -สิริประภา วีระไชยสิงห์ Campaign and Content Operation Lead – Thailand, TikTok

ปลดล็อก Creator ยอด Follow 1,000 คนสร้างรายได้

ในปีที่ผ่านมา TikTok เคยออกแคมเปญ TikTok Bonus เพื่อดึงผู้ใช้หน้าใหม่ ๆ เข้ามาใช้งาน โดยผู้ที่ดึงเพื่อนมาใช้ TikTok ได้ครบตามเงื่อนไข มีโอกาสทำเงินสูงสุด 2,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลสะสมแต้มสำหรับการดูวิดีโออีกด้วย มาปีนี้ TikTok ได้ปลดล็อกให้ครีเอเตอร์สามารถทำเงินได้ผ่านโปรแกรม TikTok Creator Next

โปรแกรมดังกล่าวจะช่วยให้ครีเตอร์สามารถรับ Rewards อาทิ ครีเอเตอร์ที่มียอดติดตาม 1,000 คนขึ้นไปจะสามารถรับ Virtual Gift จากการไลฟ์ บน TikTok LIVE ส่วนครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตาม 100,000 คนขึ้นไปจะสามารถรับ Virtual Gift การโพสต์วิดีโอได้ และสำหรับครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตาม 10,000 คนขึ้นไปจะสามารถเข้าร่วม TikTok Creator Marketplace ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ได้ทำงานร่วมกับแบรนด์

ปีที่ผ่านมา TikTok อาจจะเน้นดึงผู้ใช้หน้าใหม่ แต่ปีนี้ดูเหมือนจะเน้นไปที่ ผู้ใช้เก่า ให้เร่งสร้างผู้ติดตามเพื่อสร้างโอกาสทำรายได้ โดยทาง สิริประภา วีระไชยสิงห์ Campaign and Content Operation Lead – Thailand, TikTok กล่าวว่า ต้องการทำให้ TikTok เป็นพื้นที่ในการ สร้างอาชีพ ให้กับครีเอเตอร์ และครีเอเตอร์ที่มีจำนวนมากขึ้นจะช่วยให้เกิดคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทาง TikTok ไม่ได้เปิดเผยว่ามีครีเตอร์มากน้อยแค่ไหนที่สามารถทำรายได้แล้วบนแพลตฟอร์ม

สรุป 5 เทรนด์แรงปี 2022

สุรยศ เอี่ยมละออ Head of Consumer Marketing – Thailand, TikTok ได้เปิดเผยว่า Entertainment ยังคงเป็นส่วนสำคัญใน TokTok และสำหรับ 5 เทรนด์ที่ต้องจับตามองในปี 2022 นี้ ได้แก่

1.Edutainment หรือการแจ้งเกิดของครีเอเตอร์รุ่นใหม่บน TikTok ที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน มีวิธีที่จะสร้างคอนเทนต์และปรับย่อยคอนเทนต์ให้เข้าใจง่าย ทั้งยังสนุกและมีคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น และผู้คนจะให้ความสนใจกับการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น

2.Creative Entertainment การเปลี่ยนบทบาทจาก Passive user ที่เป็นเพียงผู้เสพคอนเทนต์เพียงอย่างเดียว กลายเป็น Active Creator ที่สร้างคอนเทนต์คุณภาพให้ผู้อื่นชมมากขึ้น ผู้คนสามารถสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ ร่วมกันได้แม้กระทั่งกับคนที่ไม่รู้จักผ่านการ Duet และ Stitch

3.Authentic & Positive Entertainment หรือแนวคิดการสร้างพื้นที่ความบันเทิงที่ปลอดภัยเพื่อให้คนสามารถโชว์ตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ทำให้ทุกคนรู้สึกมั่นใจ เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่

4.Live Entertainment Live-streaming มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างครีเอเตอร์และผู้รับชมได้เป็นอย่างดี ด้วยฟีเจอร์ชั้นนำต่าง ๆ เช่น Multi-Guest, Live Match และอื่น ๆ ใน TikTok LIVE

5.Cultural Entertainment การสร้างคอนเทนต์ด้านความบันเทิงที่ผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรม ให้ทุกคนสามารถดื่มด่ำกับความแตกต่างได้อย่างลงตัว รวมถึงร่วมกันเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้ร่วมสมัยยิ่งขึ้น

85% ของผู้ใช้มือถือใช้เพื่อเอนเตอร์เทนเมนต์ และคอนเทนต์ที่เป็นที่นิยมสูงสุดในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เน้นไปที่ความบันเทิง ดังนั้น จะทำคอนเทนต์ด้านไหนให้ผสมความเอนเตอร์เทนเมนต์เข้าไป ที่สำคัญพยายามทำคอนเทนต์ให้มีอินเตอร์แอคทีฟ ให้คนมีส่วนร่วมได้ง่าย สุดท้าย อย่างประดิษฐ์เพื่อแสดงความจริงใจ และเน้นในเชิงบวก” สุรยศ กล่าว

มั่นใจเป็นต้นตำรับวิดีโอสั้น

แม้จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นในตลาดวิดีโอสั้นมากมาย แถมมาจากแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook-Instagram ที่มี Reels หรือ YouTube ก็มี Shorts แต่หลายคนน่าจะสังเกตว่าวิดีโอส่วนใหญ่ที่ลงในฟีเจอร์นั้น ๆ ก็มาจาก TikTok ซึ่งทาง TikTok ยังมั่นใจว่าเป็น Original

อีกสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้ TikTok ก็คือ เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์แพลตฟอร์มเต็มตัว โดยนำเสนอคอนเทนต์ทั้งภาพและเสียง ไม่ใช่แค่ไถฟีดดูข่าว มีความ Creativity ที่เป็นหัวใจหลักของแพลตฟอร์ม และผู้ใช้ส่วนใหญ่มีความ Positivity คือมีแต่คอนเทนต์ในเชิงบวก คนส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อคลายเครียด

หลังจากที่ไปที่ผ่านมา TikTok พยายามดึงผู้ใช้ใหม่ แต่ทิศทางปีนี้ดูเหมือนจะพยายามทำให้ครีเอเตอร์เร่งปั้นผู้ติดตาม รวมถึงโดดเข้าไปสู่ตลาด อีคอมเมิร์ซ ซึ่งแปลว่าช่องทางการ หารายได้ ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะจากโฆษณา เชื่อว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเดิม ๆ ตอนนี้คงต้องปาดเหงื่อ เพราะอาจโดน TikTok แย่งเม็ดเงินโฆษณาไปเรื่อย ๆ แล้วก็ได้