สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) ร่วมกับ คันทาร์ (ประเทศไทย) สำรวจมูลค่าเม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลเป็นประจำทุกปี ซึ่งในรายงานการวิจัยชิ้นล่าสุดได้เก็บข้อมูลเม็ดเงินโฆษณาตามความเป็นจริงบนสื่อดิจิทัลประจำปี 2564 จาก 42 เอเยนซี่พันธมิตร โดยแบ่งเป็น 59 ประเภทอุตสาหกรรม และ 16 ประเภทสื่อดิจิทัล อีกทั้งทำการคาดการณ์การใช้เม็ดเงินสำหรับปี 2565
โฆษณาดิจิทัลปี 65 โต 9%
ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโฆษณาของประเทศไทยมีเม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลโดยรวมเพิ่มขึ้นสะสมในอัตราเติบโต 27.5% ในทุก ๆ ปี สำหรับปี 2564 ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 แต่เม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลก็สามารถเติบโตถึง 18% มีมูลค่ากว่า 24,766 ล้านบาท โดยเติบโตขึ้นกว่า เท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2563 และในปี 2565 นี้ สมาคมฯ คาดการณ์ว่าเม็ดเงินจะเติบโตประมาณ 9% มีมูลค่าประมาณ 27,040 ล้านบาท
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตคือ พฤติกรรมการใช้ Social Media, e-commerce และ Online Entertainment อื่น ๆ เช่น การเล่นเกม และ e-sport ขณะที่แบรนด์เองมีการโยกเม็ดเงินโฆษณาจากสื่อดั้งเดิมไปสู่สื่อดิจิทัล โดยจะเริ่มเห็นว่าแบรนด์ต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิทัลที่หลากหลายขึ้นสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างมี engage ได้ดีขึ้น แบรนด์เห็นประโยชน์จากสื่อดิจิทัลทั้งการสร้าง awareness และ conversion อีกทั้งยังสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
“แม้ว่าการใช้งานดิจิทัลของคนไทยแพร่หลาย มีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เข้ามา แต่ก็ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ สถานการณ์โควิด ภาวะสงครามในช่วงต้นปี ที่อาจทำให้แบรนด์ชะลอตัวช่วงต้นปีทำให้การเติบโตไม่ถึง 2 หลัก” ภารุจ ดาวราย อุปนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าว
Facebook ครองแชมป์ แต่ TikTok แรงไม่แผ่ว
Facebook ยังคงเป็นแพลตฟอร์ม อันดับหนึ่ง ที่แบรนด์ต่าง ๆ เลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของเม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลทั้งหมด คิดเป็น 32% ตามมาด้วย YouTube คิดเป็นสัดส่วน 17% และ โซเชียล (Social) คิดเป็นสัดส่วน 9% ของเม็ดเงินลงทุนบนสื่อดิจิทัล
ที่น่าสนใจคือ Online Video (เช่น แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่าง ๆ) ที่มีอัตราการเติบโตอย่างมาก จากที่เคยอยู่ใน อันดับ 8 แต่ในปีที่ผ่านมาสามารถขึ้นมาอยู่ อันดับ 5 โดยคาดว่าปี 65 จะเติบโตอีกกว่า 45% ขึ้นเป็น อันดับ 3 แซงหน้าโซเชียล ในขณะที่ TikTok ก็การเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่กว่า 654% และมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพิ่มอีก 26% ในปี 65
อีกส่วนที่มาแรงคือ e-commerce และ การตลาดแบบช่วยขาย (Affiliated Marketing) แม้จะมีสัดส่วนที่น้อยอยู่เมื่อเทียบกับเม็ดเงินทั้งหมดที่ลงทุนอยู่ในสื่อดิจิทัล แต่ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าปี 65 การเติบโตของ 2 กลุ่มนี้จะสูงมาก คือเพิ่มขึ้น 58% และ 41% ตามลำดับ
“ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การเติบของ Online Video สูงถึง 150% ซึ่งตอนนี้เข้าไปอยู่ในทุกทัชพอยต์ ทั้งแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือแม้แต่ซูเปอร์แอปต่าง ๆ และที่น่าสนใจคือ แบรนด์เริ่มใช้เงินกับ e-commerce มากขึ้น เพื่อมุ่งเน้นไปที่การปิดการขาย”
นอกจากนี้ การเติบโตของโฆษณาดิจิทัลคือ Influencers หรือ KOL เพราะไม่ใช่แค่รีช แต่ยังได้เอ็นเกจเมนต์หรืออาจจะสามารถปิดการขายได้ โดยปีนี้คาดว่าการเติบโตในปี 65 จะอยู่ที่ประมาณ 19% และส่วนใหญ่จะมาจาก Micro และ Nano Influencers ที่น่าจับตาคือ Virtual Influencer ที่อาจนำไปต่อยอดสู่ Metaverse ได้อีกด้วย
Top 5 อุตสาหกรรมใช้งบสูงสุดยังเหมือนปี 2020
กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินลงทุน มากที่สุดอันดับหนึ่ง (2,897 ล้านบาท) ตามมาด้วย กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ ที่เติบโตถึง 34% (2,680 ล้านบาท) สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม 3 กลุ่มที่เหลือได้แก่ กลุ่มการสื่อสาร (2,581 ล้านบาท), กลุ่มสกินแคร์ (2,162 ล้านบาท) และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (1,657 ล้านบาท)
ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุด คือ กลุ่มวิตามินและอาหารเสริม คือกลุ่มที่เติบโตมากขึ้นอย่างชัดเจน จากเดิมที่อยู่ อันดับที่ 19 ในปี 2563 ขึ้นมาอยู่เป็น อันดับที่ 8 ในปี 2564 นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจออนไลน์ หรือ E-Commerce ก็เติบโตจากปี 2563 มากกว่า 100%
“ยานยนต์ครองแชมป์ตั้งแต่ปี 2017 มีแค่ปี 2020 ที่ลดลง -3% แต่มาปี 2021 เริ่มมีค่ายรถจากจีนเข้ามา รวมถึงเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ยังให้เม็ดเงินอุตสาหกรรมยานยนต์กลับมาเติบโตอีกครั้ง และแน่นอนว่าที่กลุ่มวิตามินโตก็เพราะโควิด ที่ทำให้คนดูแลสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ตลาดก็ใหญ่ทำให้แบรนด์แข่งขันสูงเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด”
แม้จะมีการคาดการณ์ว่าเม็ดเงินจะเติบโตได้ 9% นั้น มีโอกาสที่จะเติบโตได้ 2 หลักหากปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะเป็นสงคราม การระบาดของโควิดเริ่มดีขึ้น ดังนั้น อาจต้องทำการประเมินอีกทีในช่วงกลางปี แต่จากการเติบโตของเม็ดเงินตลอด 10 ปีนี้ มีโอกาสที่เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลอาจจะแซง ‘ทีวี’ ในอนาคตอีกไม่ไกล