“จีน” Bubble & Seal สร้างหอพัก “โรงงานกินนอน” ในตัว แก้ปัญหา “ล็อกดาวน์”

(Photo: Shutterstock)
มาตรการ Bubble & Seal ที่เราเคยเผชิญในประเทศไทยเกิดขึ้นแล้วใน “จีน” เมื่อแดนมังกรต้องเผชิญกับการระบาดรอบใหญ่ที่สุด ทำให้มีคำสั่ง “ล็อกดาวน์” กระทบ “โรงงาน” ต่างๆ ต้องหาทางแก้วิกฤตการผลิต สร้างหอพักชั่วคราวให้คนงานกิน นอน ทำงานเบ็ดเสร็จภายในบริเวณ

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ เล่นงานแดนมังกรสาหัสที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้จีนมีคำสั่ง “ล็อกดาวน์” หลายเมืองเพื่อสกัดการระบาดตามนโยบาย Zero-Covid ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยเมืองใหญ่ที่กระทบหนักที่สุดคือ “เสิ่นเจิ้น” และเมืองทางใต้หลายแห่ง เพราะเป็นพื้นที่ที่ล็อกดาวน์เข้มงวด งดการเดินรถสาธารณะ ทำให้ “โรงงาน” หลายแห่งต้องปิดสายการผลิตชั่วคราว ขณะที่การขนส่งสินค้าก็ทำได้ลำบาก เพราะคนขับรถจะต้องแสดงผลตรวจ COVID-19 เป็นลบที่ตรวจมาไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความโกลาหลให้กับภาคการผลิตของจีนอีกครั้ง

เสิ่นเจิ้นและสารพัดเมืองทางใต้เป็นแหล่งโรงงานผลิตสำคัญๆ ทำให้การหยุดผลิตจะทำให้ซัพพลายเชนสินค้าทั่วโลกชะงักไปด้วย ดังนั้น บางโรงงานจึงหาทางฝ่าวิกฤตด้วยระบบ Bubble & Seal

ยกตัวอย่างเช่น Bosch Unipoint บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ และมีโรงงานตั้งอยู่ในเสิ่นเจิ้น สามารถดำเนินการผลิตต่อได้ เพราะมีการสร้างหอพักให้พนักงานกว่า 200 คนอาศัยและทำงานตลอด 1 สัปดาห์ของการล็อกดาวน์ โดยพนักงานจะไม่สามารถออกจากไซต์ได้เลย ตามคำสั่งของรัฐ

“ความร่วมมือของพวกเขา (คนงาน) ที่จะช่วยให้ธุรกิจเราเอาตัวรอดได้ในสัปดาห์นี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก” มาร์โก้ โมเรีย ผู้จัดการทั่วไป Bosch Unipoint ประเทศจีน กล่าว

การจะสร้างที่พักที่เหมาะสมให้พนักงานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องมีการเตรียมตัวรับมือมาก่อนจึงจะทำได้ โดย Bosch Unipoint สังเกตการณ์การระบาดของโรค และเริ่มสั่งซัพพลายของใช้จำเป็นมาให้พนักงานตั้งแต่ก่อนล็อกดาวน์แล้ว

บริษัทยังเตรียมสต็อกของใช้จำเป็นแบบเดียวกันนี้ไว้ให้พนักงานกว่า 500 คน สำหรับโรงงานผลิตแป้นเบรกของบริษัทที่เมืองหนานจิงด้วย โมเรียกล่าวว่า สต็อกดังกล่าวจะทำให้คนในโรงงานอยู่ได้สูงสุดถึง 4 สัปดาห์ หากที่หนานจิงมีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดเกิดขึ้น

“เราเตรียมสั่งวัตถุดิบสำหรับการผลิต และเตรียมที่นอนไว้ให้พนักงานแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม” โมเรียกล่าว

ไม่ใช่แค่โรงงานบริษัทนี้เท่านั้น บริษัทอื่นๆ ที่ทันสถานการณ์ก็มีการเตรียมการและใช้ระบบเดียวกัน เพราะถ้าหากโรงงานมีที่พักพร้อม สต็อกของกินของใช้ และสั่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตมาตุนไว้แล้ว การเดินหน้าผลิตต่อเนื่องก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

การเตรียมตัวเหล่านี้ของบริษัทหลายแห่ง สะท้อนภาพการประเมินของภาคการผลิตว่า การระบาดของ COVID-19 ในจีนจะไม่จบลงง่ายๆ จนถึงอย่างน้อยๆ ก็ปีหน้า

“(โอมิครอน) เป็นไวรัสที่ยากจะควบคุมและระบาดง่าย” ฟาเบียน เบลก กรรมการผู้จัดการ บริษัท AMS Products Assembly ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองฝัวชาน มณฑลกวางตุ้งกล่าว “เป็นไปได้มากที่ทุกเมืองในภาคใต้ของจีนจะเผชิญการล็อกดาวน์กันหมด”

 

ไม่ใช่ทุกแห่งที่ทำได้ตามมาตรฐาน

คนงานหลายคนจากหลายเมืองของจีนถ่ายรูปหรือวิดีโอประสบการณ์ของพวกเขาจากด้านในโรงงานกินนอนระหว่างการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ชาวเน็ตจีนได้เห็นว่า การใช้ชีวิตของคนงานในบางโรงงานก็อยู่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรเป็น

ยกตัวอย่างเช่น เซี่ยงไฮ้ ซึ่งการล็อกดาวน์ไม่ได้เข้มงวดเท่าเสิ่นเจิ้น แต่เจ้าของโรงงานอาจหวั่นเกรงว่าจะเกิดการยกระดับความเข้มงวด ทำให้โรงงานแห่งหนึ่งมีการบีบให้พนักงานกินนอน โดยให้นอนบนพื้นโรงงาน

อีกเคสหนึ่งเกิดขึ้นที่ Dongguan Fuqiang Electronic เป็นบริษัทไต้หวันที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Apple ต้องรีบปลดเตนท์ที่เตรียมไว้ให้คนงานรอบๆ โรงงานออก หลังจากมีกระแสไม่พอใจบนอินเทอร์เน็ตถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ให้พนักงานนอนเตนท์

ร้ายไปกว่านั้นคือพนักงานคนหนึ่งของ Dongguan Fuqiang Electronic ให้ข่าวว่า เธอต้องนอนบนพื้นโรงงานถึง 6 วัน และมีแค่กระดาษลังใช้แทนฟูกนอน ระหว่างรอโรงงานเตรียมเตนท์ให้ที่ด้านนอก

ไม่มีใครรู้ได้ว่าจีนจะล็อกดาวน์ยาวถึงเมื่อไหร่ แต่การล็อกดาวน์ครั้งนี้เริ่มส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจจีนอีกครั้ง เพราะทำให้การผลิต การขยายธุรกิจ การก่อสร้าง การขนส่ง ชะงักงันในหลายเมือง ยอดขายบ้านและรถยนต์ตกลงในเดือนมีนาคม กลายเป็นคำถามว่าจีนจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย Zero-Covid บ้างหรือไม่

Source