ไตรมาสแรกผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ละเดือนมีแต่เรื่องร้อนไม่คาดคิดเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนทั้งปมเก่าปมใหม่ เรื่องที่พีกสุดของปีนี้ คือ จู่ๆ โลกก็เกิด ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ ต่างฝ่ายต่างดึงแนวร่วมตอบโต้ดุดันงัดมาตรคว่ำบาตรทางการเงินการค้าทำเอาทั่วโลกปั่นป่วน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งทะยาน 100-130 ดอลลาร์/บาร์เรล ผู้คนเดือดร้อนต้องมาเติมน้ำมันแพงทั้งที่เงินในกระเป๋าเหือดแห้งเพราะเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศยังเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว
แค่ต้นปีสารพัดข่าวรุมเร้า ตลาดลงทุนไร้ทิศทาง
ขณะที่การแพร่ระบาดของ Covid-19 เข้าสู่ปีที่ 3 ก็ยังไม่มีท่าทีประเทศใดจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้จบลงได้ง่ายๆ อย่างที่คาดหวังกันไว้เมื่อปีที่แล้ว เพราะเชื้อพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอด ผู้คนทั่วโลกยังติดเชื้อกันไม่จบสิ้น ภาคท่องเที่ยวยังคงตั้งหลักฟื้นตัวไม่ได้เสียที
อีกประเด็นใหญ่ที่โลกเฝ้ารอมาข้ามปี ล่าสุดเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ในวันที่ 15-16 มีนาคมที่ผ่านมา มีมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) เสียงข้างมาก 8:1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 0.25-0.50% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ และได้ปรับคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ย (Dot Plot) ล่าสุดในปี 2022 อยู่ที่ 7 ครั้ง ทำให้ปลายปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00% ส่วนในปี 2023 คาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยอยู่ที่ 3-4 ครั้ง และในปี 2024 อยู่ที่ 2 ครั้ง
ส่งสัญญาณตอกย้ำว่า FED ให้ความสำคัญต่อเป้าหมายเสถียรภาพเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ และจะประกาศรายละเอียดและเริ่มทำการลดงบดุลในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานการประชุม FED รอบนี้ที่จะถูกเปิดเผยในวันที่ 6 เม.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากราคาพลังงานและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า จะเป็นตัวกำหนดระดับการขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละรอบการประชุมของ FED ซึ่งมีประเด็นต่อมา คือ ในรอบที่เหลือของปีนี้ ก็มีโอกาสเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่สถานการณ์ ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ในกรณีหากสงครามนี้ยืดเยื้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทบเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นอีก FED อาจพิจารณาความจำเป็นที่จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีก็ได้ และแน่นอนว่า ย่อมสร้างความผันผวนให้กับตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ได้ต่อเนื่อง
เมื่อมองไปข้างหน้าจึงมีแต่ความไม่แน่นอนสูงรออยู่ เพราะไม่มีใครรู้ว่า NATO ชาติมหาอำนาจนำโดยสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ จะร่วมมือกันคว่ำบาตรหรือกีดกันทางการค้า การลงทุนรัสเซียแล้ว จะบานปลายมาถึงจีนด้วยหรือไม่ เพราะสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนก็ยังค้างคาอยู่ทุกวันนี้ ความตึงเครียดพร้อมที่จะปะทุตลอดเวลา
ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงต้นปีนี้ ปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้า สวนทางกับตลาดหุ้นจีนที่กลับมาคึกคัก หลังจากที่ซบเซาเซื่องซึมมาเกือบ 2 ปีที่แล้ว จากนโยบายที่เข้มงวดของรัฐบาลจีนที่ทำเอานักลงทุนติดดอยกันเป็นแถว แต่จู่ๆ เมื่อไม่กี่วันนี้ หรือราว 16 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนรายงานการประชุมได้พูดถึงการสนับสนุนบริษัทจีนที่จดทะเบียนในต่างประเทศ การพัฒนากฎเกณฑ์การทำธุรกิจเทคโนโลยีให้โปร่งใส การรักษาเสถียรภาพตลาดหุ้นจีน และการสร้างความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจีนเอาอยู่เรื่องหนี้อสังหาฯ
เมื่อรายงานนี้เผยแพร่ออกไปหุ้นจีนคึกคักถ้วนหน้า ด้วยเนื้อหาที่ได้กำจัดความเสี่ยงต่างๆ ที่ค้างคาอยู่ในปีก่อนๆ หลุดออกไปจากหุ้นจีนแล้ว เป็นที่รับรู้กันดีว่า การขยับตัวของรัฐบาลจีนแต่ละครั้งล้วนมีผลต่อตลาดหุ้น นักลงทุน ภาคธุรกิจและประชาชนทั้งประเทศ เพราะรัฐบาลจีนเน้นให้ความสำคัญกับสังคมมีส่วนร่วมมากกว่า เพื่อไปถึงเป้าหมาย “เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”
ต้นปีนี้จึงถือว่า โลกมีข่าวใหญ่ใหม่ๆ เกิดขึ้นมา 2 เรื่องที่เป็นทั้งผลบวกและผลลบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในตลาดหุ้น ส่วนประเด็นเก่าบางเรื่องก็ชัดเจนขึ้น เช่น สัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ บางเรื่องก็ยังค้างคารอวันระเบิด ซึ่งตลาดรับรู้ทุกประเด็นแล้ว
ตลาดยิ่งผันผวน ยิ่งต้อง ‘คุมตัวเองไม่ให้ขายหุ้น’
เรื่องราวต่างๆ ที่ผมไล่เรียงมานี้เพื่อจะตอกย้ำให้เห็นภาพความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในแต่ละปีมักมีความเสี่ยงใหม่และมีระดับที่เข้มข้นขึ้น สร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินโลก เพราะเมื่อใดที่สถานการณ์อยู่ในภาวะคุกรุ่น เมื่อนั้นบรรยากาศการลงทุนจะไร้ทิศทาง
จึงไม่น่าแปลกใจหากนักลงทุนหลายคนจะสับสน วิตกกังวลจนตัดสินใจผิดพลาด บ้างก็ตื่นตระหนกเทขายหุ้นทิ้งในช่วงที่ตลาดหุ้นร่วงจนกลายเป็นขายหมูครั้งใหญ่ ทั้งๆ ที่เป็นหุ้นดี แต่ก็ขายหุ้นในมือไปอย่างน่าเสียดาย
นั่นเป็นเพราะ “สิ่งที่ยากที่สุดในยามวิกฤต คือ การควบคุมตัวเองไม่ให้ขายหุ้น”
จริงๆ คุณสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านั้นได้ไม่ยาก ผมขอแชร์มุมมองของนักลงทุนชื่อดังของโลกอีกท่านหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวหลายวิกฤต เพราะเล่นหุ้นตั้งแต่อายุ 12 ปี เขาคือ Ray Dalio ปัจจุบันอายุ 70 ปีเศษแล้ว เขาได้ร่วมก่อตั้งบริษัทจัดการกองทุน Bridgewater Associates ในปี 2518
Dalio สามารถบริหารพอร์ต สร้างกำไรได้ดีในช่วงวิกฤตดอทคอม สวนทางกับกองทุนต่างๆ ทั่วโลกที่ขาดทุน ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้จัดการกองทุนเฮดฟันด์ที่สร้างผลตอบแทนมากที่สุดในปี 2559 และครองแชมป์ที่ 1 มาหลายสมัย
3 เคล็ดลับทำกำไร กับสไตล์ลงทุนฉบับ Dalio
สไตล์การลงทุนในแบบฉบับของ Ray Dalio ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน macro investing เพราะยึดหลักการสร้างผลตอบแทนจากการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและการเมืองระดับมหภาค ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศ
Dalio ได้คิดค้นทฤษฎีบริหารพอร์ตแบบกระจายความเสี่ยง เรียกว่า ‘Holy Grail of Investing’ ด้วยการเฟ้นหาสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนดีพอประมาณ และผลตอบแทนต้องไม่เชื่อมโยงกับความเสี่ยง เพื่อให้สินทรัพย์ที่ลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้นหลายเท่าโดยที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
Dalio ยังให้สัมภาษณ์ในรายการ Squawk Box สถานีโทรทัศน์ CNBC เกี่ยวกับการรับมือการลงทุนในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาด Covid-19 และเผชิญหน้ากับสถานการณ์เงินเฟ้อสูงว่า อย่ากำเงินสด เนื่องจาก ‘เงินสด คือขยะ’ เมื่อเทียบเงินสดกับสินทรัพย์อื่นๆ ถึงแม้ว่าเงินสดจะไม่ผันผวน แต่เมื่อเจอภาวะเงินเฟ้อสูง ก็จะทำให้ผลตอบแทนของเงินสดติดลบในระยะยาวได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการถือเงินสด จึงไม่ใช่การถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ในขณะที่สินทรัพย์บางชนิด เช่น ทองและหุ้นบางตัว สามารถคงมูลค่าหรือเพิ่มมูลค่าได้ ในยามที่มีมาตรการเพิ่มเงินอัดฉีดหมุนเวียนในระบบ จึงแนะนำให้กระจายความเสี่ยงลงทุนทั่วโลก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้พอร์ตลงทุน
Dalio บอกอีกว่าเขายึดมั่นปฏิบัติตาม ‘หลักการ’ ลงทุนของตนเอง มากกว่า การด้นสดตามสถานการณ์ เพราะการตัดสินใจตามสถานการณ์ จะอยู่นอกเหนือหลักการลงทุนที่ทำมาตลอด ทำให้ผลลัพธ์อาจออกมาได้หลายทางมากจนดูไม่คุ้มเสี่ยง แต่ถ้าปฏิบัติตามหลักการตามระบบโปรแกรมที่ได้ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิภาพการลงทุนมาก่อนหน้านี้แล้ว ที่สำคัญระบบโปรแกรมได้ออกแบบมารองรับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงแบบนี้อยู่แล้ว นี่คือเหตุผลที่เขาเลือกรักษาหลักการลงทุนแบบเดิมต่อไป พร้อมกับยังมีเคล็ดลับในการทำกำไรในช่วงที่เจอวิกฤต ดังต่อไปนี้
เคล็ดลับแรกที่ทำให้ Bridgewater ทำกำไรได้โดดเด่นหลังวิกฤต Subprime คือ การควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่ตั้งไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรก และรักษาความเสี่ยงให้อยู่ภายในเกณฑ์ แม้ตอนนี้กองทุนที่ Bridgewater บริหารอยู่จะขาดทุนเนื่องจากวิกฤต Covid-19 แต่ผลประกอบการนี้ไม่ต่างจากช่วงแย่ๆ ของกองทุนในอดีตที่ผ่านมา สะท้อนว่า ระบบควบคุมความเสี่ยงยังทำงานได้ดี แม้จะเผชิญวิกฤตโรคระบาดที่ไม่มีใครรู้ว่าต้องรับมืออย่างไร
เคล็ดลับที่ 2 การเตรียมสภาพคล่องของพอร์ตให้พร้อมรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าพอร์ตจะขาดทุน แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงที่จำกัดไว้ ฟื้นกลับมาอีกครั้งได้ไม่ยาก
เคล็ดลับที่ 3 คือ คาดการณ์ไว้เลยว่าวิกฤตหรือเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นให้รีบศึกษา ค้นคว้า พัฒนาเครื่องมือที่จำเป็น และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นี้ไปผสานกับระบบที่มีอยู่แล้วเพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ก็จะพลิกสถานการณ์ได้รวดเร็วกว่า แม่นยำกว่า และใช้อารมณ์น้อยที่สุด
แนะ ‘ทนสถานการณ์’ เมื่อเผชิญวิกฤตต่างๆ
เมื่อรู้เคล็ดลับนี้แล้ว จะทำให้คุณสามารถลดความเสี่ยงโดยไม่ต้องลดขนาดผลตอบแทนของตนเองได้ และมีโอกาสประสบความสำเร็จ ดั่งเช่น Dalio ที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุน เพราะยึด ‘หลักการ’ และวิธีการที่สร้างขึ้นมา และปฏิบัติตามอย่างมีวินัยไปเรื่อยๆ ผมขอย้ำว่า สิ่งที่แม่นกว่าคาดการณ์ คือ หลักการครับ
เพราะถ้าหลักการลงทุนถูกต้อง เมื่อเกิดวิกฤตใดขึ้นมา ก็ควรฝึกตัวเองให้ ‘ทนสถานการณ์’ มากกว่าการเทคแอคชั่น ‘ทันสถานการณ์’ เพราะถ้าคุณด้นสดตามสถานการณ์ทุกครั้ง คุณจะยิ่งมีโอกาสผิดพลาดได้ทุกเมื่อ เพราะโดยธรรมชาติของวิกฤตหรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถึงเวลาระยะหนึ่งก็จะเคลื่อนผ่านไป ขณะที่พอร์ตลงทุนของคุณเป็นระยะยาว ก็พร้อมรับผลตอบแทนที่ดีเติบโตได้เร็วเมื่อตลาดลงทุนกลับมาสู่ภาวะปกติ
สำหรับการบริหารพอร์ตลงทุนของ Jitta ไม่เน้น ‘ทันสถานการณ์’ ที่มาจับจังหวะตลาดที่เหวี่ยงขึ้นๆ ลงๆ ทุกวัน เพราะเป็นวิธีสร้างผลตอบแทนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แถมมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดทำให้นักลงทุนเสียเงินเสียทองสูงเกินไปครับ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ Jitta เน้นทุ่มเทสรรพกำลัง เพื่อพัฒนาอัลกอริทึมที่สามารถวิเคราะห์หาสินทรัพย์ดีๆ ในตลาดมาจัดพอร์ตให้ลูกค้า และคอยดูแลการปรับพอร์ตอย่างเป็นระบบ ให้พอร์ตของคุณเป็นที่รวมหุ้นดาวเด่นในแต่ละช่วงเวลา
ที่สำคัญ คุณไม่ต้องเครียดว่าขายหมู หรือถูกแกงจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นแต่ละวันเวลา ผมขอแค่คุณ ‘ทนสถานการณ์’ อย่างเข้าใจต่อไปตามหลักการที่วางไว้
เพราะสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนและได้รับการพิสูจน์มาแล้วนักต่อนักคือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่พื้นฐานดี กำไรเติบโตทุกปี ขยายธุรกิจได้ต่อเนื่อง จะช่วยให้พอร์ตของคุณงอกงามไปด้วยผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สุขภาพทางการเงินแข็งแรง