"นกยั๊วะ" เปิดดีลลิขสิทธิ์ร้อยล้าน

“คนไทยเปิดกว้าง รับเทคโนโลยี และเป็นคนที่รับเทรนด์เร็ว” จึงทำให้คาแร็กเตอร์ของเกม Angry Birds พร้อมจะกลายเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าในไทย นี่คือโอกาสทางธุรกิจที่ทำให้บริษัทแปซิฟิค ไลเซ่นส์ซิ่ง สตูดิโอ จำกัด จากสิงคโปร์ เห็นและเร่งลุยเพื่อดึง Angry Birds กระโดดออกจากจอ กลายเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า ตุ๊กตา และโปรโมชั่นสร้างแบรนด์ที่ทำเงินในไทย

หลังจากเซ็นสัญญาเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์แบรนด์ Angry Birdsในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เมื่อเดือนปลายเมษายน 2554 กับ Rovio ผู้ผลิตเกมนกยั๊วะ “นีล รัจ” เจ้าของแปซิฟิคฯ บอกว่าเขากำลังเริ่มแคมเปญสื่อสารให้ผู้บริโภคและคนทั่วไปรู้ว่าแปซิฟิคฯ เป็นตัวจริงในการบริหารลิขสิทธิ์ Angry Birds ขณะเดียวกันได้เริ่มคุยกับพันธมิตรธุรกิจแล้วหลายรายและได้ผลตอบรับที่ดี เพราะ Angry Birds เป็นแบรนด์ดัง แล้วในไทย

สิ่งที่จะเห็นจากการบริหารลิขสิทธิ์ของแปซิฟิคฯ คือสินค้าประเภทเสื้อผ้าของเด็กจนถึงผู้ใหญ่ เครื่องเขียน กระเป๋านักเรียน และตุ๊กตา ของเล่น รวมไปถึงโปรดักต์ไลเซ่นส์ และโปรโมชั่น ไลเซ่นส์ เช่น การนำคาแร็กเตอร์ไปไว้ในแพ็กเกจสินค้า หรือใช้เป็นของพรีเมียมแจกลูกค้า เป็นต้น เหมือนอย่างทรัพย์สินอื่นๆ ที่แปซิฟิคฯ มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการ์ตูนจากค่ายวอร์เนอร์ บรอสฯ และตัวการ์ตูนหน้ายิ้มอย่าง Smiley

ที่ผ่านมาแม้สินค้าหลายแบรนด์สนใจ Angry Birds แต่ยังมีข้อสงสัยว่าอายุความดังของ Angry Birds จะยาวนานเพียงใด “นีล” บอกว่าที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า Angry Birds เต็มไปด้วยกลยุทธ์ จนถูกใจผู้เล่นเกมทั่วโลก เขาจึงมั่นใจว่าทรัพย์สินตัวล่าสุดของแปซิฟิคฯ นี้จะมีอายุต่อเนื่องจนสร้างมูลค่าให้ธุรกิจเขาไม่ต่ำจากทรัพย์สินตัวอื่นๆ ที่สามารถทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีขนาดตลาดพอๆ กับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

“นีล” บอกว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันต่างจากเดิมที่รู้จักคาแร็กเตอร์การ์ตูนจากทีวี ต้องใช้เวลาดูและชื่นชอบ แต่คนรุ่นใหม่เติบโตในยุคของการใช้แอพพลิเคชั่น เล่นอินเทอร์เน็ต ซึ่ง Angry Birds กลายเป็นแบรนด์ที่กลุ่มนี้คุ้นเคยอย่างรวดเร็ว จนสามารถนำมาต่อยอดเรื่องการบริหารลิขสิทธิ์ได้เร็วทั้งที่ Angry Birds ยังมีอายุไม่ถึง 2 ปี

แปซิฟิคฯ จึงเจาะกลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็กวัย 7-12 ปี และกลุ่มรอง13-21 ปี ส่วนผู้ใหญ่คือกลุ่มที่ตามมา โดยประเมินว่าเสื้อผ้าจะทำรายได้ให้ประมาณ 40% รายได้จากโปรดักต์ไลเซ่นส์ และโปรโมชั่น ไลเซ่นส์ประมาณ 10-25% ส่วนที่เหลือมาจากกระเป๋า เครื่องเขียน และของเล่น ตุ๊กตา

แม้อุปสรรคสำคัญของธุรกิจนี้คือการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ “นีล” ยังมั่นใจในอนาคต เพราะเขาเห็นแนวโน้มผู้บริโภคเมื่อใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ก็อยากได้ของจริงและมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ Rovio เองก็ได้แต่งตั้งผู้ตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย

นี่คือสัญญาณที่ทำให้เห็นว่านับจากนี้ Angry Birds ไม่ใช่แค่นกยั๊วะมาให้เล่นสนุกๆ เท่านั้น แต่กำลังมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเป็นเกมธุรกิจที่ทำให้ลุ้นได้สนุกว่าจะบินไปได้ไกลเพียงใด

ประมาณการสัดส่วนรายได้จากลิขสิทธิ์ Angry Birds
เสื้อผ้า 40%
กระเป๋าเครื่องเขียน 25%
ของเล่น 5-10%
โปรดักต์ ไลเซ่นส์ และโปรโมชั่น ไลเซ่นส์ 10-25%